Ekonomi/Bisnis

Ahad, 31 Oktober 2010

ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด : นักประวัติศาสตร์การเมืองปาตานีนามอุโฆษ

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด

ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุดในงานสัมมนาแห่งหนึ่ง

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2010 ที่ผ่านมา ผู้ที่อยู่ในวงการหรือสนใจประวัติศาสตร์ปาตานี ก็ได้สูญเสียบุคคลที่เรียกได้ว่าสนใจศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เชิงการเมืองของปาตานี หรือสามจงหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างยาวนาน บุคคลผู้นี้เป็นที่รู้จักของนักค้นคว้าประวัติปาตานี ทั้งที่เป็นนักประวัติศาสตร์จากส่วนกลาง หรือนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชื่อของศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด สามารถเรียกได้ว่าเป็นนักประวัติศาสตร์เชิงการเมืองปาตานีนามอุโฆษ

ผู้เขียนเองรู้จักชื่อของศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด มาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ครั้งกำลังศึกษาปริญญาตรีด้วยซ้ำไป แต่มารู้จักตัวตนจริง เมื่อครั้งกำลังเริ่มทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุดได้นำคณะนักศึกษาจากมาเลเซียมาลงภาคสนามที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ได้เจอกันที่มัสยิดตะโละมาเนาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ผู้เขียนจึงคิดว่าศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุดคงต้องเป็น Reader ของวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของผู้เขียนแน่ๆ เพราะทำเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ทำความรู้จักเป็นการส่วนตัว หลังจากนั้นเกือบสองปีปรากฎว่า ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุดเป็น Reader วิทยานิพนธ์ปริญญาโทจริงๆ หลังจากที่ทราบว่าเป็น Reader วิทยานิพนธ์แล้ว 7 เดือนก็ได้เจอกันอีกครั้งที่งานสัมมนาที่เมืองกัวลาตรังกานู ถามศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุดว่าอ่านวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนเสร็จแล้วยัง ก็ได้รับคำตอบว่า ยัง แต่จะพยายามอ่านให้เร็วที่สุด

หลังจากนั้นก็ได้รับแจ้งจากมหาวิทยาลัยมาลายาว่าผลการอ่านวิทยานิพนธ์ของศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุดเสร็จแล้ว ซึ่งข้อความที่เขียนในบทสรุปของการตรวจวิทยานิพนธ์ครั้งนั้น มีทั้งขม และหวาน คำวิพากษ์ที่ค่อนข้างรุนแรงเรื่องการใช้ภาษามาเลเซีย และการกล่าวอ้างถึงบุคคลในวิทยานิพนธ์ ถึงอย่างไรก็ตาม คำชมที่จำได้ เช่น แม้จะเป็นวิทยานิพนธ์ที่มีปัญหาเรื่องภาษามาเลเซีย แต่เป็นวิทยานิพนธ์ที่มีการค้นพบสิ่งใหม่ เป็นวิทยานิพนธ์ที่มีการนำเสนอข้อมูลที่ยังไม่มีการนำเสนอในวิทยานิพนธ์อื่นๆ ผู้เขียนรู้สึกทึ่งในความสนใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด บางครั้งเรียกได้ว่าเขารู้ก่อนผู้เขียนที่เป็นคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยซ้ำไป

ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด อายุ 61 ปี เป็นอาจารย์และ Fellow ประจำสถาบันโลกมลายูและอารยธรรม หรือ Institut Alam dan Tamadun Melayu ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Institute of Malay World and Civilisation ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia) ผู้มีชื่อเสียงด้านประวัติศาสตร์มาเลเซีย รวมทั้งเชี่ยวชาญด้านปัญหาความขัดแย้งบริเวณชายแดนและการแบ่งแยกดินแดน

เขาจากไปในขณะที่รัฐบาลมาเลเซียกำลังจะให้วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาบังคับสำหรับนักเรียนที่จะสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย เขาเป็นนักประวัติศาสตร์ที่เขียนหนังสือโดยใช้มุมมองของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในการเขียน ในวิชาประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างจะกว้างนั้น ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด ได้เน้นศึกษาและให้ความสำคัญในเรื่องของปัญหาความขัดแย้งบริเวณชายแดนและการแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความสนใจของเขาที่มีต่อปัญหาความขัดแย้งบริเวณชายแดนนี้เริ่มตั้งแต่เขาเป็นนักศึกษาปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมาลายา (University of Malaya) โดยสารนิพนธ์ปริญญาตรีของเขามีชื่อว่า "Sejarah Jeram dan Kebangkitan Tok Janggut" หรือ “ประวัติศาสตร์เยอรัมและการลุกขึ้นต่อสู้ของโต๊ะยังฆุต” ต่อมาเข้ารับราชการที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งชาติ เมื่อปี 1976 หลังจากนั้นจึงได้ศึกษาระดับปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ School of Oriental and African Studies ของมหาวิทยาลัยลอนดอน(University of London) และปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ที่ มหาวิทยาลัยฮุลล์ (University Of Hull) ประเทศอังกฤษ

ในปี 1998 ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด ได้เขียนหนังสือชื่อ Tunku Abdul Rahman and his role in the Baling talks: a documentary history พิมพ์โดยจดหมายเหตุแห่งมาเลซีย งานเขียนของเขาเป็นงานเขียนที่ใช้ทัศนะของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไม่ได้ใช้ทัศนะหรือมุมมองของเจ้าอาณานิคม

ต่อมาในปี 1999 ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด ได้เปิดเผยถึงการร่วมมือระหว่างฝ่ายราชวังรัฐกลันตันกับเจ้าอาณานิคมอังกฤษในการปราบกบฎโต๊ะยังฆุต ในหนังสือ Tok Janggut: Pejuang atau Penderhaka? (โต๊ะยังฆุต : นักต่อสู้หรือผู้ก่อกบฏ ?) พิมพ์โดยภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย ในหนังสือดังกล่าวงานเขียนของอังกฤษจะเรียกว่าโต๊ะยังฆุตว่า “ศัตรู” แต่ในหนังสือดังกล่าวของนิอันวาร์ได้เรียกชื่ออย่างเป็นเกียรติว่า “ฮัจญี” ในรุ่นก่อนนั้นคนมีเป็นฮัจญีถือว่าเป็นผู้ที่มีเกียรติด้วยมีทรัพย์สินสามารถไปประกอบพิธี ฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอารเบียได้ และมีความรู้ด้านศาสนา

แหล่งข้อมูลหนึ่งของเขาในเหตุการณ์โต๊ะยังฆุต ผู้มีศักดิ์เป็นน้องชายปู่ของเขา

เขาเขียนหนังสือหลายเล่มด้วยกันเช่น Susur Galur Kesultanan Melayu Terengganu 1708-2008 (ความเป็นมาของราชวงศ์มลายูตรังกานู ระหว่างปี 1708-2008) พิมพ์ปี 2008 โดยมูลนิธิตวนกูมีซาน รัฐตรังกานู
สำหรับงานเขียนเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ในปี 1999 เขาเขียนเรื่อง Sejarah Perjuangan Melayu Patani 1785-1984 (ประวัติการต่อสู้ของประชาชนชาวปาตานี) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย และต่อมาในปี 2008 ได้เขียนเรื่อง The Malays of Patani: The Search for Security and Independence จัดพิมพ์โดย MPH

ปกหนังสือประวัติการต่อสู้ของประชาชนปาตานี

นอกจากปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เขายังเขียนหนังสืออีกหลายเล่มเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งเช่น ปัญหาความขัดแย้งในมาเลเซียกับอินโดเนเซีย หนังสือที่เขียนชื่อ Konfrontasi Malaysia Indonesia (การเผชิญหน้าระหว่างมาเลเซียกับอินโดเนเซีย) พิมพ์เมื่อปี 2000 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย ในหนังสือดังกล่าวเขาค้นคว้าจนสามารถสันนิษฐานว่ามีความเป็นไปได้ที่ CIA จะมีส่วนในความขัดแย้งดังกล่าว โดยได้ข้อมูลจากประวัติศาสตร์รวมทั้งข้อมูลจากเอกสารราชการลับ

ปกหนังสือการเผชิญหน้าระหว่างมาเลเซียกับอินโดเนเซีย

เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียกับอินโดเนเซียในเรื่องความขัดแย้งในเกาะ ซีปาดัน(Pulau Sipadan) และเกาะลีฆีตัน(Pulau Ligitan) หนังสือที่เขียนในปี 2003 มีชื่อว่า Pulau Sipadan dan Pulau Ligitan: Isu sempadan dan kedaulatan (เกาะซีปาดันและเกาะลีฆีตัน : ปัญหาชายแดนและอธิปไตยของประเทศ) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย ใช้ข้อมูลการบันทึกประวัติศาสตร์ทำให้เห็นว่าเกาะทั้งสองเป็นของประเทศมาเลเซีย

สำหรับปัญหาความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียกับบรูไนในเรื่องอำเภอลิมบังรัฐซาราวัค ที่อังกฤษนำดินแดนของบรูไนไปให้รัฐซาราวัค รวมทั้งการเรียกร้องรัฐซาบะห์ของประเทสฟิลิปปินส์นั้น เขาได้เขียนหนังสือในปี 2001 โดยใช้ชื่อหนังสือว่า Tuntutan Filipina ke atas Borneo Utara (การเรียกร้องของฟิลิปปินส์ต่อบอร์เนียวเหนือ) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย

ส่วนความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญหาเกาะบาตูปูเตะห์หรือ เกาะ Pedra Blanca ซึ่งปัจจุบันศาลโลกได้ตัดสินให้เป็นของสิงคโปร์ หรือปัญหาอื่นๆระหว่างทั้งสองประเทศนั้น เขาได้เขียนหนังสือในปี 2001 ชื่อว่า Duri dalam Daging: Singapura dalam Malaysia พิมพ์โดยสมาคมประวัติศาสตร์แห่งประเทศมาเลเซีย

นับตั้งแต่ที่เขาได้เขียนหนังสือเรื่องการต่อสู้ของประชาชนปาตานีแล้ว เขาไม่เข้ามายังประเทศไทยอีกเลย เขารู้สึกว่าเขาได้กลายเป็นบุคคลที่ในภาษาการทูตเรียกว่า persona non grata แม้ว่าประเทศไทยไม่เคยประกาศว่าเขาเป็นบุคคลประเภทดังกล่าว

ขณะที่ป่วยอยู่เขากำลังอยู่ระหว่างการเรียบเรียงหนังสือเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่หนังสือดังกล่าวยังไม่เสร็จสมบูรณ์

แม้ว่าเขาจะจากไปแล้ว แต่งานเขียนของเขายังคงอยู่ โดยเฉพาะการเขียนเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นนักวิชาการทั้งจากส่วนกลาง หรือนักวิชาการในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องนำงานเขียนของเขามาเป็นส่วนหนึ่งของการอ้างอิง หรือการค้นคว้าวิจัยต่อไป

เขาได้รับเครื่องราชอิสริยภรณ์และรางวัลต่างๆ เช่น

งานหนึ่งที่เขารับรางวัล

รางวัล:
รางวลการปฏิบัติงานครบ 20 ปี ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia)
รางวัลการปฏิบัติงานดีเด่น ปี 1999 ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia)
รางวลการปฏิบัติงานครบ 30 ปี 2004 ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia)
รางวัลด้านการตีพิมพ์หนังสือ ปี 2004 ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia)
รางวัลการปฏิบัติงานยอดเยี่ยม ปี 2005 ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan
รางวัลเกียรติยศพิเศษ ปี 2006 ของหอจดหมายเหตุมาเลเซีย (Arkib Negara Malaysia)

เครื่องราชอิสริยภรณ์
เครื่องอิสริยภรณ์ ชั้น Dato' Paduka Setia Mahkota Kelantan Yang Amat Terbilang (DPSK) ปี 2009 จากรัฐกลันตัน ได้รับคำนำหน้าชื่อว่า “ดาโต๊ะ”

ชีวิตครอบครัว
แต่งงานกับดาตินราฮีละห์ บินตีฮารุน (Datin Rahilah Harun) มีบุตร 5 คน คือ 1. นินูร์อัดนิน (Nik Nur Adnin) 2. นินูรฮุสนา (Nik Nurhusna) 3. นิมูฮัมหมัดอัดฮาม (Nik Muhd Adham) 4. นิมูฮัมหมัดซาฟีร์(Nik Muhd Zafir ) 5. นิอานิส ชาฮีระห์ (Nik Anis Syahirah)

อ้างอิง
1.Dr. Roosfa Hashim บทความชื่อ Perginya tokoh sejarawan (การจากไปของนักประวัติศาสตร์คนหนึ่ง)ในหนังสือพิมพ์ Mingguan Malaysia ฉบับวันอาทิตย์ 31 ตุลาคม 2010
2.Mohd Safar Hasim บทความชื่อ Prof Dato’ Nik Anuar: Kembalinya Pensyarah Sejarah UKM dan tokoh sejarah tanah air (ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ : การจากไปของนักวิชาการประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซียและนักประวัติศาสตร์ของประเทศ) ใน UKM News Portal (http://pkukmweb.ukm.my) เมื่อวันศุกร์ 29 ตุลาคม 2010

Tiada ulasan:

Catat Ulasan