Ekonomi/Bisnis

Ahad, 31 Oktober 2010

ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด : นักประวัติศาสตร์การเมืองปาตานีนามอุโฆษ

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด

ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุดในงานสัมมนาแห่งหนึ่ง

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2010 ที่ผ่านมา ผู้ที่อยู่ในวงการหรือสนใจประวัติศาสตร์ปาตานี ก็ได้สูญเสียบุคคลที่เรียกได้ว่าสนใจศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เชิงการเมืองของปาตานี หรือสามจงหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างยาวนาน บุคคลผู้นี้เป็นที่รู้จักของนักค้นคว้าประวัติปาตานี ทั้งที่เป็นนักประวัติศาสตร์จากส่วนกลาง หรือนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชื่อของศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด สามารถเรียกได้ว่าเป็นนักประวัติศาสตร์เชิงการเมืองปาตานีนามอุโฆษ

ผู้เขียนเองรู้จักชื่อของศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด มาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ครั้งกำลังศึกษาปริญญาตรีด้วยซ้ำไป แต่มารู้จักตัวตนจริง เมื่อครั้งกำลังเริ่มทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุดได้นำคณะนักศึกษาจากมาเลเซียมาลงภาคสนามที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ได้เจอกันที่มัสยิดตะโละมาเนาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ผู้เขียนจึงคิดว่าศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุดคงต้องเป็น Reader ของวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของผู้เขียนแน่ๆ เพราะทำเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ทำความรู้จักเป็นการส่วนตัว หลังจากนั้นเกือบสองปีปรากฎว่า ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุดเป็น Reader วิทยานิพนธ์ปริญญาโทจริงๆ หลังจากที่ทราบว่าเป็น Reader วิทยานิพนธ์แล้ว 7 เดือนก็ได้เจอกันอีกครั้งที่งานสัมมนาที่เมืองกัวลาตรังกานู ถามศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุดว่าอ่านวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนเสร็จแล้วยัง ก็ได้รับคำตอบว่า ยัง แต่จะพยายามอ่านให้เร็วที่สุด

หลังจากนั้นก็ได้รับแจ้งจากมหาวิทยาลัยมาลายาว่าผลการอ่านวิทยานิพนธ์ของศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุดเสร็จแล้ว ซึ่งข้อความที่เขียนในบทสรุปของการตรวจวิทยานิพนธ์ครั้งนั้น มีทั้งขม และหวาน คำวิพากษ์ที่ค่อนข้างรุนแรงเรื่องการใช้ภาษามาเลเซีย และการกล่าวอ้างถึงบุคคลในวิทยานิพนธ์ ถึงอย่างไรก็ตาม คำชมที่จำได้ เช่น แม้จะเป็นวิทยานิพนธ์ที่มีปัญหาเรื่องภาษามาเลเซีย แต่เป็นวิทยานิพนธ์ที่มีการค้นพบสิ่งใหม่ เป็นวิทยานิพนธ์ที่มีการนำเสนอข้อมูลที่ยังไม่มีการนำเสนอในวิทยานิพนธ์อื่นๆ ผู้เขียนรู้สึกทึ่งในความสนใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด บางครั้งเรียกได้ว่าเขารู้ก่อนผู้เขียนที่เป็นคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยซ้ำไป

ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด อายุ 61 ปี เป็นอาจารย์และ Fellow ประจำสถาบันโลกมลายูและอารยธรรม หรือ Institut Alam dan Tamadun Melayu ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Institute of Malay World and Civilisation ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia) ผู้มีชื่อเสียงด้านประวัติศาสตร์มาเลเซีย รวมทั้งเชี่ยวชาญด้านปัญหาความขัดแย้งบริเวณชายแดนและการแบ่งแยกดินแดน

เขาจากไปในขณะที่รัฐบาลมาเลเซียกำลังจะให้วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาบังคับสำหรับนักเรียนที่จะสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย เขาเป็นนักประวัติศาสตร์ที่เขียนหนังสือโดยใช้มุมมองของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในการเขียน ในวิชาประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างจะกว้างนั้น ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด ได้เน้นศึกษาและให้ความสำคัญในเรื่องของปัญหาความขัดแย้งบริเวณชายแดนและการแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความสนใจของเขาที่มีต่อปัญหาความขัดแย้งบริเวณชายแดนนี้เริ่มตั้งแต่เขาเป็นนักศึกษาปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมาลายา (University of Malaya) โดยสารนิพนธ์ปริญญาตรีของเขามีชื่อว่า "Sejarah Jeram dan Kebangkitan Tok Janggut" หรือ “ประวัติศาสตร์เยอรัมและการลุกขึ้นต่อสู้ของโต๊ะยังฆุต” ต่อมาเข้ารับราชการที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งชาติ เมื่อปี 1976 หลังจากนั้นจึงได้ศึกษาระดับปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ School of Oriental and African Studies ของมหาวิทยาลัยลอนดอน(University of London) และปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ที่ มหาวิทยาลัยฮุลล์ (University Of Hull) ประเทศอังกฤษ

ในปี 1998 ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด ได้เขียนหนังสือชื่อ Tunku Abdul Rahman and his role in the Baling talks: a documentary history พิมพ์โดยจดหมายเหตุแห่งมาเลซีย งานเขียนของเขาเป็นงานเขียนที่ใช้ทัศนะของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไม่ได้ใช้ทัศนะหรือมุมมองของเจ้าอาณานิคม

ต่อมาในปี 1999 ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ นิมะห์มุด ได้เปิดเผยถึงการร่วมมือระหว่างฝ่ายราชวังรัฐกลันตันกับเจ้าอาณานิคมอังกฤษในการปราบกบฎโต๊ะยังฆุต ในหนังสือ Tok Janggut: Pejuang atau Penderhaka? (โต๊ะยังฆุต : นักต่อสู้หรือผู้ก่อกบฏ ?) พิมพ์โดยภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย ในหนังสือดังกล่าวงานเขียนของอังกฤษจะเรียกว่าโต๊ะยังฆุตว่า “ศัตรู” แต่ในหนังสือดังกล่าวของนิอันวาร์ได้เรียกชื่ออย่างเป็นเกียรติว่า “ฮัจญี” ในรุ่นก่อนนั้นคนมีเป็นฮัจญีถือว่าเป็นผู้ที่มีเกียรติด้วยมีทรัพย์สินสามารถไปประกอบพิธี ฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอารเบียได้ และมีความรู้ด้านศาสนา

แหล่งข้อมูลหนึ่งของเขาในเหตุการณ์โต๊ะยังฆุต ผู้มีศักดิ์เป็นน้องชายปู่ของเขา

เขาเขียนหนังสือหลายเล่มด้วยกันเช่น Susur Galur Kesultanan Melayu Terengganu 1708-2008 (ความเป็นมาของราชวงศ์มลายูตรังกานู ระหว่างปี 1708-2008) พิมพ์ปี 2008 โดยมูลนิธิตวนกูมีซาน รัฐตรังกานู
สำหรับงานเขียนเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ในปี 1999 เขาเขียนเรื่อง Sejarah Perjuangan Melayu Patani 1785-1984 (ประวัติการต่อสู้ของประชาชนชาวปาตานี) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย และต่อมาในปี 2008 ได้เขียนเรื่อง The Malays of Patani: The Search for Security and Independence จัดพิมพ์โดย MPH

ปกหนังสือประวัติการต่อสู้ของประชาชนปาตานี

นอกจากปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เขายังเขียนหนังสืออีกหลายเล่มเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งเช่น ปัญหาความขัดแย้งในมาเลเซียกับอินโดเนเซีย หนังสือที่เขียนชื่อ Konfrontasi Malaysia Indonesia (การเผชิญหน้าระหว่างมาเลเซียกับอินโดเนเซีย) พิมพ์เมื่อปี 2000 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย ในหนังสือดังกล่าวเขาค้นคว้าจนสามารถสันนิษฐานว่ามีความเป็นไปได้ที่ CIA จะมีส่วนในความขัดแย้งดังกล่าว โดยได้ข้อมูลจากประวัติศาสตร์รวมทั้งข้อมูลจากเอกสารราชการลับ

ปกหนังสือการเผชิญหน้าระหว่างมาเลเซียกับอินโดเนเซีย

เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียกับอินโดเนเซียในเรื่องความขัดแย้งในเกาะ ซีปาดัน(Pulau Sipadan) และเกาะลีฆีตัน(Pulau Ligitan) หนังสือที่เขียนในปี 2003 มีชื่อว่า Pulau Sipadan dan Pulau Ligitan: Isu sempadan dan kedaulatan (เกาะซีปาดันและเกาะลีฆีตัน : ปัญหาชายแดนและอธิปไตยของประเทศ) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย ใช้ข้อมูลการบันทึกประวัติศาสตร์ทำให้เห็นว่าเกาะทั้งสองเป็นของประเทศมาเลเซีย

สำหรับปัญหาความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียกับบรูไนในเรื่องอำเภอลิมบังรัฐซาราวัค ที่อังกฤษนำดินแดนของบรูไนไปให้รัฐซาราวัค รวมทั้งการเรียกร้องรัฐซาบะห์ของประเทสฟิลิปปินส์นั้น เขาได้เขียนหนังสือในปี 2001 โดยใช้ชื่อหนังสือว่า Tuntutan Filipina ke atas Borneo Utara (การเรียกร้องของฟิลิปปินส์ต่อบอร์เนียวเหนือ) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย

ส่วนความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญหาเกาะบาตูปูเตะห์หรือ เกาะ Pedra Blanca ซึ่งปัจจุบันศาลโลกได้ตัดสินให้เป็นของสิงคโปร์ หรือปัญหาอื่นๆระหว่างทั้งสองประเทศนั้น เขาได้เขียนหนังสือในปี 2001 ชื่อว่า Duri dalam Daging: Singapura dalam Malaysia พิมพ์โดยสมาคมประวัติศาสตร์แห่งประเทศมาเลเซีย

นับตั้งแต่ที่เขาได้เขียนหนังสือเรื่องการต่อสู้ของประชาชนปาตานีแล้ว เขาไม่เข้ามายังประเทศไทยอีกเลย เขารู้สึกว่าเขาได้กลายเป็นบุคคลที่ในภาษาการทูตเรียกว่า persona non grata แม้ว่าประเทศไทยไม่เคยประกาศว่าเขาเป็นบุคคลประเภทดังกล่าว

ขณะที่ป่วยอยู่เขากำลังอยู่ระหว่างการเรียบเรียงหนังสือเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่หนังสือดังกล่าวยังไม่เสร็จสมบูรณ์

แม้ว่าเขาจะจากไปแล้ว แต่งานเขียนของเขายังคงอยู่ โดยเฉพาะการเขียนเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นนักวิชาการทั้งจากส่วนกลาง หรือนักวิชาการในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องนำงานเขียนของเขามาเป็นส่วนหนึ่งของการอ้างอิง หรือการค้นคว้าวิจัยต่อไป

เขาได้รับเครื่องราชอิสริยภรณ์และรางวัลต่างๆ เช่น

งานหนึ่งที่เขารับรางวัล

รางวัล:
รางวลการปฏิบัติงานครบ 20 ปี ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia)
รางวัลการปฏิบัติงานดีเด่น ปี 1999 ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia)
รางวลการปฏิบัติงานครบ 30 ปี 2004 ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia)
รางวัลด้านการตีพิมพ์หนังสือ ปี 2004 ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia)
รางวัลการปฏิบัติงานยอดเยี่ยม ปี 2005 ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan
รางวัลเกียรติยศพิเศษ ปี 2006 ของหอจดหมายเหตุมาเลเซีย (Arkib Negara Malaysia)

เครื่องราชอิสริยภรณ์
เครื่องอิสริยภรณ์ ชั้น Dato' Paduka Setia Mahkota Kelantan Yang Amat Terbilang (DPSK) ปี 2009 จากรัฐกลันตัน ได้รับคำนำหน้าชื่อว่า “ดาโต๊ะ”

ชีวิตครอบครัว
แต่งงานกับดาตินราฮีละห์ บินตีฮารุน (Datin Rahilah Harun) มีบุตร 5 คน คือ 1. นินูร์อัดนิน (Nik Nur Adnin) 2. นินูรฮุสนา (Nik Nurhusna) 3. นิมูฮัมหมัดอัดฮาม (Nik Muhd Adham) 4. นิมูฮัมหมัดซาฟีร์(Nik Muhd Zafir ) 5. นิอานิส ชาฮีระห์ (Nik Anis Syahirah)

อ้างอิง
1.Dr. Roosfa Hashim บทความชื่อ Perginya tokoh sejarawan (การจากไปของนักประวัติศาสตร์คนหนึ่ง)ในหนังสือพิมพ์ Mingguan Malaysia ฉบับวันอาทิตย์ 31 ตุลาคม 2010
2.Mohd Safar Hasim บทความชื่อ Prof Dato’ Nik Anuar: Kembalinya Pensyarah Sejarah UKM dan tokoh sejarah tanah air (ศาสตราจารย์ ดร. นิอันวาร์ : การจากไปของนักวิชาการประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซียและนักประวัติศาสตร์ของประเทศ) ใน UKM News Portal (http://pkukmweb.ukm.my) เมื่อวันศุกร์ 29 ตุลาคม 2010

Jumaat, 29 Oktober 2010

ภูเขาไฟเมอราปี(Gunung Merapi) ประเทศอินโดเนเซีย กับความเชื่อของชาวชวา (Kejawen)

โดยนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2010 ได้เกิดการระเบิดของภูเขาไฟเมอราปี (Gunung Merapi) จนเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงภูเขาไฟดังกล่าว สำหรับเหตุการณ์ระเบิดของภูเขาไฟนี้ ได้มีการกระจายข่าวไปทั่วโลกถึงการเสียชีวิตของผู้ดูแลภูเขาไฟดังกล่าว ซึ่งผู้ดูแลภูเขาไฟเมอราปีนี้เรียกเป็นภาษาอินโดเนเซียว่า Juru Kunci Merapi หรือ เรียกเป็นภาษาชวาว่า Kuncen Merapi สำหรับผู้ดูแลภูเขาไฟเมอราปีนั้นมีชื่อว่า Mbah Marijan หรือ คุณปู่มารียัน ความจริงในเหตุการณ์การระเบิดของภูเขาไฟเมอราปีนี้ ยังมีสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากความเข้าใจของเราอยู่มาก ใครคือผู้ดูแลภูเขาไฟเมอราปี และชนชาวชวามีความเชื่อเกี่ยวกับภูเขาไฟเมอราปีอย่างไร ซึ่งคิดว่าเราสมควรที่จะทำความเข้าใจถึงความเชื่อเกี่ยวกับภูเขาไฟเมอราปีของชนชาวชวา

ภูเขาไฟเมอราปี(Gunung Merapi) ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดเขตการปกครองพิเศษยอกยาการ์ตาและจังหวัดชวากลาง จากบริเวณยอดของภูเขาไฟเมอราปีนั้นตั้งอยู่ห่างจากเมืองยอกยาการ์ตาประมาณ 30 กิโลเมตร มีหมู่บ้านรอบๆ ภูเขาไฟเมอราปี ถึง 32 หมู่บ้าน ภูเขาไฟเมอราปีมีผลต่อกระทบต่อประชาชน 2 อย่างคือ หมอกที่ร้อนแรงที่เรียกในภาษาชวาว่า Wedus Gembel และ การพ่นของลาวา

ภาพของ Mbah Marijan

ภาพของ Mbah Marijan

ภาพของ Mbah Marijan

สภาพการเสียชีวิตของ Mbah Marijan

ภูเขาไฟเมอราปีได้เกิดระเบิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว กล่าวกันว่าภูเขาไฟเมอราปีระเบิดขึ้นครั้งแรกในปี 1006 ซึ่ง R. W. Van Bamelen ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า ทำให้อาณาจักรมาตารัม (ยุคฮินดู- พุทธ)ต้องย้ายศูนย์อำนาจจากชวากลางไปยังชวาตะวันออก มีการซ่อมแซมเจดีย์โบโรบูดูร์(Borobudur) ในปี 1815 หลังจากที่ภูเขาไฟได้ระเบิดขึ้นในปี 1768 และระหว่างวันที่ 18-19 ธันวาคม 1930 ภูเขาไฟเมอราปีก็เกิดประทุขึ้นมา ทำลายหมู่บ้านต่างๆหลายสิบหมู่บ้าน มีผลทำให้ประชาชนเสียชีวิต 1,369 คน ต่อมาในปี 1954 ภูเขาไฟได้ระเบิดอีกครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิต 64 คน และในปี 1961 เกิดการระเบิดทำให้มีหนึ่งหมู่บ้านเสียหาย ส่วนในวันที่ 14 มกราคมปี 1997 เกิดการระเบิดทำให้ต้องอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่อันตรายถึง 8,000 คน ก่อนเกิดการระเบิดครั้งล่าสุด ได้เคยเกิดการระเบิดมาแล้วเมื่อวันทื่ 15 พฤษภาคม และ 8 มิถุนายน 2006 ทำให้ประชาชนต้องอพยพหนีภัยจากการระเบิดของภูเขาไฟดังกล่าว และล่าสุดก็ได้เกิดการระเบิดอีกครั้ง

การหนีภัยจากภูเขาไฟของชาวชวา

ร่องรอยจากการระเบิดของภูเขาไฟเมอราปี

สภาพในเมืองยอกยาการ์ตา

การค้นหาผู้เคราะห์ร้าย

จากการติดตามการสัมภาษณ์ย้อนหลังของ Mbah Marijan หรือ คุณปู่มารียัน ซึ่งได้มีถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์อินโดเนเซียที่ชื่อว่าสถานีโทรทัศน์ Trans 7 ภายหลังการเสียชีวิตของเขานั้น ปรากฎว่า Mbah Marijan หรือ คุณปู่มารียันบอกว่าเขาจะอยู่บนภูเขาไฟเมอราปีจนวาระสุดท้าย เขาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของกษัตริย์ยอกยาการ์ตาที่ชื่อว่า สุลต่านฮาเม็งกูโบโวโน ที่ 10 (Sultan Hamengku Bowono X) สุลต่านองค์นี้ยังควบตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตาอีกด้วย


ภูเขาไฟเมอราปีกำลังระเบิด


ภูเขาไฟเมอราปีกำลังระเบิด


ภูเขาไฟเมอราปีกำลังระเบิด


ภูเขาไฟเมอราปีกำลังระเบิด

ภูเขาไฟเมอราปีกำลังระเบิด

ภูเขาไฟเมอราปีกำลังระเบิด

ภูเขาไฟเมอราปีกำลังระเบิด

เรามาทำความรู้จักกับความเชื่อของชาวชวากันดีกว่า ชาวชวาในที่นี้หมายถึงชนเผ่าชวา ซึ่งเป็นชนเผ่าส่วนใหญ่ของประเทศอินโดเนเซีย ไม่ได้หมายถึงชนชาวอินโดเนเซียทั้งประเทศ เมื่อเราทำความเข้าใจถึงความเชื่อของชาวชวาแล้ว เราก็จะสามารถเข้าใจถึงสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภูเขาไฟเมอราปีได้

ชนชาวชวานั้นมักไม่แยกเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานกับพวกเขา ชนชาวชวา๗฿.มีการแบ่งสถานะทางสังคมดังนี้
Wong Cilik (คนเล็ก) หมายถึงชาวนาชาวไร่ที่มีรายได้ต่ำ
Kawan Priyayi หมายถึงกลุ่มข้าราชการและปัญญาชน
Kaum Ningrat หมายถึงกลุ่มชนชั้นสูงของสังคม
นอกจากนั้นคนชวา ยังแบ่งได้ตามความเชื่อได้เป็น 2 พวก คือ ความเชื่อของชนชาวชวาหรือเกอยาเวน (Kejawen)ซึ่งบางครั้งมีการเรียกว่า อิสลามอาบังงัน (Islam Abangan)เป็นพวกที่ดำรงอยู่ด้วยวิถีชีวิตโดยยึดถือความเชื่อดั้งเดิมก่อนอิสลาม สังคมชวาในกลุ่มพวก Kaum Priyayi ที่เป็นชนกลุ่มที่มีอิทธิพลส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่ถือความเชื่อของชนชาวชวาหรือเกอยาเวน (Kejawen) แม้ว่าพวกเขาโดยทางการแล้วจะยอมรับว่าตัวเองเป็นชาวมุสลิม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคืออิสลามสันตรี หรือ Islam Santri เป็นกลุ่มที่มีจิตสำนึกในความเป็นมุสลิมและดำรงชีวิตอยู่ตามวิถีทางของอิสลาม

ความเชื่อของชนชาวชวาที่เรียกว่า Kejawen หรือเกอยาเวน เป็นความเชื่อประเภทหนึ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นศาสนาหนึ่งของชนชาวชวาในเกาะชวา ประเทศอินโดเนเซีย คำว่า Kejawen หรือ เกอยาเวนมาจากภาษาชวาที่มีความหมายว่าทุกสิ่งที่มีความสัมพันธ์กับขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อของชาวชวา เหตุที่มีการเรียกว่า Kejawen หรือ เกอยาเวน เพราะโดยทั่วไปแล้วภาษาที่ใช้ในพิธีกรรมจะใช้ภาษาชวา ซึ่งเป็นคนละภาษากับภาษาอินโดเนเซีย โดยหลักการทั่วไปแล้ว ความเชื่อKejawen หรือ เกอยาเวนเป็นหนึ่งในศาสนาท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า Agama Asli ของประเทศอินโดเนเซีย นักมานุษยวิทยาชาวสหรัฐที่ชื่อว่า Clifford Geerz เขียนในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า The Religion of Java เรียกความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวน ไว้ว่าเป็นศาสนายาวี หรือ Agami Jawi

หลักการความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวน จะครอบคลุมถึงศิลปะ วัฒนธรรม จารีต พิธีกรรม กฎระเบียบ รวมทั้งหลักปรัชญาของชนชาวชวา หรือในอีกความหมายหนึ่ง Kejawen หรือ เกอยาเวน คือหลักการประกอบพิธีกรรมทางจิตวิญญาณของชนชาวชวา โดยปกติแล้วคนที่ยึดถือความเชื่อKejawen หรือ เกอยาเวนของชาวชวานี้จะไม่เรียกความเชื่อของตนเองว่าเป็นศาสนา ในความหมายของศาสนาเช่นศาสนาอิสลาม หรือ คริสเตียน แต่ถือว่าเป็นความเชื่อที่จำเป็นต้องมีหลักการในการปฏิบัติโดยทั่วไปแล้วหลักความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวนของชาวชวานี้จะมีหลักการปฏิบัติที่ยืดหยุ่น และเน้นต่อหลักการของความสมดุล ในอีกมุมมองหนึ่งเห็นว่าหลักความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวนของชาวชวา มีลักษณะคล้ายหลักการความเชื่อของลัทธิขงจื้อ หรือลัทธิเต๋า แม้ว่าหลักคำสอนของความเชื่อKejawen หรือ เกอยาเวนของชาวชวาจะแตกต่างจากหลักคำสอนของลัทธิขงจื้อ หรือลัทธิเต๋าก็ตาม

สัญลักษณ์ที่ใช้ของหลักความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวนของชาวชวาจะนำสิ่งของที่เป็นของชนชาวชวา เช่น กริช หนังตะลุง การอ่านมนตรา การใช้ดอกไม้บางชนิดเป็นสัญลักษณ์ ดังนั้นผู้ปฏิบัติหลักการความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวนของชาวชวาจะมีการกลมกลืนกับพิธีกรรมของหมอพื้นบ้าน
หลักความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวน ของชนชาวชวาจะมีการรับหลักการของศาสนาอื่นๆมารวมด้วยเช่น หลักการศาสนาฮินดู , พุทธ, อิสลามหรือแม้แต่ศาสนาคริสต์ สิ่งเหล่านี้ถือว่าไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกของชนชาวชวา แต่ถือว่าเป็นการปรับตัวตามยุคสมัย


หลักความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวนของชนชาวชวานั้น มีจำนวนความเชื่อที่หลากหลายนับร้อยความเชื่อ แต่ที่ชนชาวชวานับถือเป็นหลัก มีอยู่หลายความเชื่อหลัก เช่น
1. Padepokan Cakrakembang
2. Sumarah
3. Budi Dharma
4. Maneges

Sedya Santosa ได้ทำการศึกษาเรื่อง Agami Jawi : Religiusitas Islam Sinkretis หรือ ศาสนายาวี : หลักศาสนาอิสลามที่มีการผสมผสานหรือความสมดุล ได้ให้คำอธิบายถึงความเชื่อ Kejawen หรือ เกอยาเวนของชนชาวชวา หรือที่เขาเรียกว่า ศาสนายาวีไว้ ดังนี้

นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับชวาได้กล่าวว่าสังคมชวาสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มอิสลามสันตรี (Islam Santri) และกลุ่มอิสลามอาบังงัน (Islam Abangan) การแบ่งกลุ่มนี้โดยใช้หลักการปฏิบัติและระบบความเชื่อเป็นฐาน

สำหรับหลักความเชื่อที่เรียกว่า อิสลามสันตรี (Islam Santri) เป็นกลุ่มที่ยึดถือในหลักการศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด มีการปฏิบัติตามหลักการศาสนาอิสลาม หลีกเลี่ยงการปฏิบัติที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม ส่วนหลักความเชื่อที่เรียกว่า อิสลามอาบังงัน (Islam Abangan) เป็นกลุ่มชาวมุสลิมที่ยังคงยอมรับหลักความเชื่อของชนชาวชวาก่อนเข้ามาของศาสนาอิสลาม มีการผสมผสานหลักการศาสนาอิสลาม, พุทธ, ฮินดู และหลักความเชื่อการนับถือภูต ผี วิญญาณ การปฏิบัติของกลุ่มอิสลามสันตรี (Islam Santri) จะปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอิสลาม เช่น การละหมาด การถือศีลอด การประกอบพิธีฮัจญ์ การอ่านคัมภีร์อัล-กุรอ่าน ส่วนกลุ่มอิสลามอาบังงัน (Islam Abangan) จะปฏิบัติที่หลักการอิสลามไม่ได้สอน เช่น Slametan (การจัดงานเฉลิมฉลอง) , Ngruwat (พิธีกรรม), Tirakat(การทำสมาธิ), Sesajen (การมอบสิ่งของ) และอื่นๆ

การผสมผสานความเชื่อตามยุคสมัยต่างๆเข้าด้วยกัน
นักวิชาการเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้กลุ่มชาวชวาที่เรียกว่ากลุ่มอิสลามอาบังงัน มีการผสมผสานความเชื่อต่างๆเข้าด้วยกัน ด้วยสังคมชวาเป็นสังคมที่มีการวิวัฒนาการ โดยนักวิชาการได้แบ่งสังคมชวาออกเป็นยุคสมัยได้ 3 ยุค คือ
1. ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงศตวรรษที่ 8 เป็นยุคที่สังคมชวาเป็นสังคมที่อยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน กระจัดกระจายไปทั่ว เป็นสังคมที่ยึดถือความเชื่อที่เรียกว่า Animism คือเชื่อและนับถือเรื่องภูตผีวิญญาณ เชื่อว่าบรรพบุรุษสถิตอยู่ในสถานที่ต่างๆ
ความเชื่อของชาวชวายุคนับถือภูตผีวิญญาณ

สังคมชวาแบ่งวิญญาณออกเป็น 3 ประเภท
1. Roh leluhur หรือวิญญาณบรรพบุรุษ เมื่อคนเสียชีวิตวิญญาณจะล่องไปมาบริเวณบ้านเป็นเวลา 40 วัน หลังจากนั้นจะไปสิงสถิตยังสถานที่คนชวาเชื่อ
2. dhanyang ถือเป็นวิญญาณที่อยู่ในชั้นสูงสุดจะสถิตที่ภูเขา แม่น้ำ แหล่งน้ำ หมู่บ้าน ลม เป็นวิญญาณดีที่ช่วยเหลือมนุษย์
3. Lelembut ถือเป็นวิญญาณชั้นต่ำ มีหน้าที่รบกวนทำร้าย ทำให้เจ็บ กระทำให้มนุษย์เสียชีวิต วิญญาณชนิดนี้มีหลายชื่อเช่น

2.ยุคที่สองเป็นยุคฮินดู- พุทธ เริ่มด้วยอาณาจักรมาตารัมตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ถึงศตวรรษที่ 10 ตั้งอยู่ที่ชวากลาง ต่อมาอาณาจักรมาราปาฮิต (Majapahit) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ถึง ศตวรรษที่ 16 ตั้งอยู่ที่ ชวาตะวันออก ในยุคนี้อาณาจักรทั้งสองนับถือศาสนาฮินดู และพุทธ
ความเชื่อของชาวชวาจึงมีการผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิม ศาสนาฮินดู โดยเฉพาะพระศิวะ รวมทั้งศาสนาพุทธ ประชาชนของรัฐมาตารัมเชื่อว่ากษัติย์ของเขาจุติมาจากพระศิวะ

3.ยุคอิสลาม เริ่มตั้งแต่การล่มสลายของอาณาจักรมาชาปาฮิตในศตวรรษที่ 16 อาณาจักรอิสลามที่ตั้งขึ้นมาในยุคแรกเริ่มยังมีร่องรอยและอิทธิพลของอาณาจักรที่นับถือศาสนาฮินดู- พุทธ
จากยุคสมัยต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เห็นว่าสังคมชวาประกอบด้วย 3 ส่วน คือการถือความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณ, ศาสนาฮินดู- พุทธ และศาสนาอิสลาม ดังนั้นกลุ่มอิสลามอาบังงัน(Islam Abangan) หรือ เกอยาเวน (Kejawen) จึงมีการผสมผสานความเชื่อต่างๆข้างต้น

การผสมผสานความเชื่อต่างๆเข้าด้วยกัน
การผสมผสานความเชื่อต่างๆเข้าด้วยกันของชาวชวานั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
1.การผสมผสานด้านหลักความเชื่อหรือความศรัทธาซึ่งมีอยู่ 3 ส่วนคือ
1.การผสมผสานด้านอุดมการณ์
ในหนังสือหรือคัมภีร์นาวารูจี (Nawaruci) มีทัศนะต่อพระเจ้าว่าเป็นสิ่งที่เล็กที่สุดและเป็นสิ่งที่ใหญ่ที่สุด ด้วยเป็นสิ่งที่เล็กทำให้เห็นสรรพสิ่งในโลก และด้วยเป็นสิ่งที่ใหญ่ที่สุดจึงเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่งในโลก
ในสังคมชวา เช่นการเล่นหนังตะลุง ในเรื่อง เดวารูจี (Dewaruci) แม้ว่าจะนำรูปแบบของเรื่องที่มาจากศาสนาฮินดู – พุทธ แต่หลักคำสอนจะเป็นหลักการของศาสนาอิสลาม ชาวชวาจึงมองว่ารูปแบบหรือสิ่งภายนอกนั้นมีลักษณะเป็นเพียงเสื้อผ้าเท่านั้น แต่เนื้อหานั้นเป็นเรื่องของศาสนาอิสลาม

2.การผสมผสานด้านหลักจักรวาลวิทยา
มีการผสมผสานในเรื่องของการสร้างมนุษย์ มีการผสมผสานระหว่างศาสนาฮินดู กับอิสลาม เช่น ที่มีการพบในหนังสือตำนาน Babad หรือตำนานประวัติศาสตร์ เช่นตำนาน Babad Tanah Jawa (ประวัติศาสตร์แผ่นดินชวา) ได้มีการผสมผสานเรื่องราวในศาสนาฮินดู เช่น พระพรหม พระวิษณุ กับเรื่องราวในศาสนาอิสลาม เช่น ท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.บ.) และเรื่องราวในประวัติศาสตร์ชวา เช่นเรื่องราวของกษัตริย์ที่ชื่อว่า กษัตริย์ Jayabaya

3.การผสมผสานในเรื่องวิญญาณ
คนชวาเชื่อว่าเมื่อคนเสียชีวิตแล้ว วิญญาณจะออกจากร่างเรียกว่า Lelembut ล่องไปมา บริเวณที่อยู่อาศัยของเขา ต่อมาวิญญาณจะไปสิงสถิตอยู่ในที่ๆหนึ่ง อย่างไรก็ตามวิญญาณนั้นสามารถจะสื่อกับมนุษย์ได้ เมื่อเราต้องการจะสื่อกับวิญญาณ
แม้ว่าวิญญาณจะอยู่ในอีกโลกหนึ่ง แต่ญาติพี่น้องสามารถจะเรียกวิญญาณนั้นให้อยู่บริเวณบ้านและเป็นวิญญาณบรรพบุรุษที่สามารถมาดูแลความปลอดภัยของบุตรหลานได้

หลักการปฏิบัติของกลุ่มอิสลามอาบังงัน(Islam Abangan) หรือ เกอยาเวน (Kejawen)
หลักการปฏิบัติของผู้ยึดถือเกอยาเวน (Kejawen) มีอยู่ 3 ส่วน คือ
1. Slametan (การจัดงานเฉลิมฉลอง)
ในยุคนับถือภูต วิญญาณนั้น มีการติดต่อสื่อสารกับวิญญาณ ในส่วนของเกอยาเวน (Kejawen) หรือศาสนายาวี (Agami Jawi) นั้น การปฏิบัติที่เรียกว่า Slametan หรือ Welujengan ถือเป็นพิธีกรรมที่สูงส่ง พิธีกรรม Slametan (การจัดงานเฉลิมฉลอง) มีหลากหลายชนิด เช่น รำลึกถึงคนที่เสียชีวิต, เริ่มฤดูเพาะปลูก หรือ การจัดงานในวันสำคัญของศาสนาอิสลาม
พิธีกรรมเหล่านี้ไม่มีในหลักอิสลาม พิธีกรรมเหล่านี้จะมีผู้นำทำพิธีกรรม Slametan ที่เรียกว่า Modim หรือ Kaum สำหรับพิธีกรรม Slametan สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. พิธีกรรม Slametan ที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา เป็นพิธีกรรมหรือการการจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อสร้างความเอกภาพ ความปรองดองภายในสังคม
2. พิธีกรรม Slametan ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น พิธีกรรมหรือการการจัดงานเฉลิมฉลองที่เกี่ยวข้องกับคนตายจะจัดงาน Slametan 7 วัน, 40 วัน, 100 วัน หรือ 1,000 วัน

2. Nyadram (พิธีกรรมรำลึกถึงวิญญาณของผู้เสียชีวิตหรือบรรพบุรุษ)
พิธีกรรมยกย่อง รำลึกถึงวิญญาณของบรรพบุรุษ จะทำหลังจากวันที่ 15 เดือนซะบันของชาวมุสลิมจนถึงเข้าเดือนรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอด พิธีกรรม Nyadram นี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ชั้น Slametan และชั้น Ziarah สำหรับชั้น Slametan นั้นปกติจะเผากำยาน และทำ Sesajen (สิ่งของ)มอบแก่ดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิต หลังจากนั้นจึงชั้น Ziarah หรือการเยี่ยมเยียนสุสาน ในช่วงของพิธีกรรม Ziarah สุสานต่างๆจะถูกทำความสะอาดและโปรยดอกไม้ พร้อมมีการอ่านดุอา(พร) และจุดธูปบริเวณสุสาน

3. Tirakat (การปฏิบัติตัว)
พิธีกรรมที่มีความสำคัญของสังคมชาวชวาที่ยึดถือความเชื่อเกอยาเวน(Kejawen) คือ Tirakatเป็นการถือศีลอดในวันที่กำหนดไว้ โดยบางส่วนคล้ายการถือศีลอดของชาวมุสลิม คนชวาถือว่าการปฏิบัติตัวด้วย Tirakat เพื่อสร้างคนให้เข้มแข็ง Tirakat มีหลายชนิด บางส่วนคล้ายการปฏิบัติโยคะของศาสนาฮินดู

การปฏิบัติของคนชวาที่ยึดถือความเชื่อเกอยาเวน(Kejawen) คือการถือศีลอด คนชวาที่ยึดถือความเชื่อเกอยาเวน(Kejawen) จะถือศีลอดในวันจันทร์,พฤหัส หรือถือศีลอดในวันเกิด คนชวาที่ยึดถือความเชื่อเกอยาเวน(Kejawen) ถือว่าการทำสมาธิ หรือ bertapa เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ในความหมายของ การทำสมาธิ หรือ Bertapa นั้น มีลักษณะคล้ายกับการถือศีลอด (Berpuasa) การถือศีลอดของสังคมชวานั้นมีหลากหลายชนิดบางครั้งตรงกับหลักการของศาสนาอิสลาม แต่ก็มีอีกมากที่เป็นการถือศีลอดโดยยึดถือหลักการสอนของความเชื่อเกอยาเวน(Kejawen)

การทำสมาธิ (Bertapa)/ การถือศิลอด (Berpuasa)ของสังคมชวาที่ยึดถือความเชื่อเกอยาเวน(Kejawen) มีหลายชนิด เช่น
Tapa Mutih (1) - กินเพียงข้าว 7 วัน ติดต่อกัน
Tapa Mutih (2) - ห้ามกินเกลือเป็นเวลา 3 วัน หรือ 7 วัน
Tapa ngrawat - กินเพียงผักเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน
Tapa pati geni - ห้ามกินอาหารที่ทำให้สุกด้วยไฟเป็นเวลา 1 วัน 1 คืน
Tapa ngebleng - ไม่กินและไม่นอนเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน
Tapa ngrame - พร้อมที่เสียสละและเข้าช่วยเหลือใครในเวลาทันทีทันใด
Tapa ngoli - การลอยตัวในน้ำ
Tapa mendem - การซ่อนตัวต่อสาธารณะ
Tapa Kungkum - การดำน้ำ
Tapa nggntung - การแขวนตัวบนต้นไม้

ความเชื่อของชาวชวาต่อภูเขาไฟเมอราปี
สังคมชวาดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติที่เต็มไปด้วยภูเขาไฟ สังคมชวามักประสบภัยการระเบิดของภูเขาไฟ แผ่นดินไหว น้ำท่วม คลื่นยักษ์ โลกทัศน์ของชาวชวา สิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้นมาจากการกระทำของมนุษย์ สังคมชวาจะไม่แยกระหว่างโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณถือว่าเป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับโลกวิญญาณ ภูเขาไฟ โลกทัศน์ของสังคมชวามีความสำคัญมาก สังคมชวาถือว่าภูเขาไฟเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ การระเบิดของภูเขาไฟสร้างความสมบูรณ์แก่พื้นดิน สร้างรายได้แก่ประชาชน แต่ในทางกลับกันภูเขาไฟก็สร้างความสูญเสียแก่หมู่บ้าน ชุมชน และสูญเสียชีวิตของประชาชนตามความเชื่อของสังคมชวา ภูเขาเป็นที่สิงสถิตและบ้านของดวงวิญญาณ ในสังคมชวาสัญลักษณ์ของภูเขาสามารถพบได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในหนังตะลุง
ความเชื่อของชาวชวาเกี่ยวกับตำนาน Kyai Sapujagad เริ่มตั้งแต่สมัยกษัตริย์ Panembahan Senopati ผู้ก่อตั้งอาณาจักรมาตารัมว่ามีความสัมพันธ์กับโลกเร้นลับ โลกทัศน์ของผู้คนที่อยู่รอบภูเขาเมอราปี มีความเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวมีอยู่ 5 ส่วนคือ ราชสำนักมาตารัม (Kraton Mataram) หรือ ยอกยาการ์ตา (Kraton Yogyakarta) ตั้งอยู่ท่ามกลางสังคมมนุษย์ ส่วนราชสำนักเร้นลับของวิญญาณที่เรียกว่าราชสำนักภูเขาเมอราปี(Kraton Merapi)อยู่ทางด้านเหนือ ราชสำนักทะเลใต้(Kraton Laut Selatan)อยู่ด้านใต้ ส่วนราชสำนักภูเขาลาวู(Kraton Lawu)อยู่ทางด้านทิศตะวันออกและราชสำนักดเลฟี(Kraton Dlephi) อยู่ทางด้านตะวันตก ตามตำนาน Kyai Sapujagad มีสัญญากับราชสำนักมาตารัม-ยอกยาการ์ตาว่าต้องส่งสิ่งของหรือ Sesajen ต่อราชสำนักวิญญาณที่สถิตอยู่ทั้ง 4 แห่ง ในทางกลับกันประชาชนของราชสำนักมาตารัมจะได้รับการคุ้มครองจากบรรดาวิญญาณเหล่านั้น สิ่งของหรือ Sesajen นั้นต้องส่งโดยการประกอบพิธีกรรมส่งของที่เรียกว่า Labuhan Merapi มีปีละครั้ง ปัจจุบันจะทำพิธีกรรม Labuhan Merapi ในวาระครบรอบการขึ้นครองราชย์ของสุลต่านฮาเม็งกูโบโวโน ที่ 10 (Sultan Hamengku Bowono X)

Mbah Marijan หรือ คุณปู่มารียัน ซึ่งมีชื่อเต็มตามราชสำนักยอกยาการ์ตาว่า Mas Penewu Sosakso Hargo ได้เล่าถึงความเชื่อของชาวชวาที่มีต่อโลกวิญญาณว่า
“มีตำนานบอกเล่าว่าในอดีตที่ผ่านมาสมัยที่กษัตริย์ Panembahan Senopati ปกครองอาณาจักรมาตารัม ได้เกิดสงครามกับอินเดีย ต่อมาอาณาจักรมาตารัม ได้พ่ายแพ้สงครามและตกทะเล ในทะเลนั้นกษัตริย์ Panembahan Senopati ได้พบกับเจ้าหญิง Kanjeng Ratu Kidul ต่อมากษัตริย์ Panembahan Senopati ต้องการจะแต่งงานกับ เจ้าหญิง Kanjeng Ratu Kidul ในสัญญาที่ให้ไว้ กษัตริย์ Panembahan Senopati และกษัตริย์อาณาจักรมาตารัมองค์ต่อๆมา ต้องแต่งงานกับ เจ้าหญิง Kanjeng Ratu Kidul โดยเจ้าหญิง Kanjeng Ratu Kidul จะปกป้องอาณาจักรมาตารัมจากภัยทางทะเล

ภาพวาดของ Kanjeng Ratu Kidul

ต่อมาได้มีการให้ไข่แก่กษัตริย์ Panembahan Senopati โดยมีวัตถุประสงค์ให้กษัตริย์นั้นสวยไข่ดังกล่าว เพื่อแสดงถึงความเป็นมิตรภาพระหว่างกัน เมื่อกษัตริย์รับไข่แล้ว ก็เดินทางพาไข่กลับ แต่ไม่ได้สวยไข่ดังกล่าว ต่อมากษัตริย์ได้มอบไข่ดังกล่าวให้แก่ข้าราชบริพารที่ชื่อว่า Ki Juru Taman และสั่งให้กิน เมื่อข้าราชบริพารกินไข่แล้ว ก็กลายร่างเป็นร่างที่ใหญ่โต และแปลงร่างเป็นภูต ดังนั้นกษัตริย์ Panembahan Senopati จึงสั่งให้ Ki Juru Taman อยู่ที่ภูเขาไฟเมอราปี เพื่อดูแลราชสำนักไม่ให้ถูกรบกวนจากภูเขาไฟ โดยกษัตริย์ Panembahan Senopati จะส่งสิ่งของไปให้ทุกปีในรูปของเสื้อผ้าหรืออาหาร ซึ่งต่อมาการส่งสิ่งของเหล่านี้ได้กลายเป็นพิธีกรรมที่เรียกว่าพิธีกรรม Labuhan Merapi”

ความเชื่อของราชสำนักยอกยาการ์ตา
ราชสำนักของวิญญาณบริเวณภูเขาเมอราปีมีผู้นำชื่อ Empu Rama และ Parmedi แต่บางส่วนเชื่อว่าผู้นำคือ Kyai Merlapa ความเชื่อเรื่องโลกวิญญาณไม่เพียงอยู่ภายในราชสำนักเท่านั้น แต่กระจายไปยังชุมชนต่างๆรอบภูเขาเมอราปี เชื่อว่าคนเมื่อเสียชีวิตแล้วถ้าทำความดีวิญญาณจะสิงสถิตอยู่ในราชสำนักวิญญาณแห่งภูเขาไฟเมอราปี หรือราชสำนักวิญญาณแห่งทะเลใต้ แต่ถ้าทำความชั่วไว้มากวิญญาณจะสิงสถิตอยู่ตามหิน ต้นไม้ หรือบริเวณที่วังเวง

สัญญลักษณ์ของพระราชวงศ์ยอกยาการ์ตา

ท้องพระโรงของพระราชวังยอกยาการ์ตา


สุลต่านฮาเม็งกูโบโวโน ที่ 10 แห่งยอกยาการ์ตา

สุลต่านฮาเม็งกูโบโวโน ที่ 10 แห่งยอกยาการ์ตา

พิธีกรรม Labuhan Merapi
พิธีกรรม Labuhan Merapi จะเป็นพิธีกรรมประจำปีของราชสำนักยอกยาการ์ตา โดยราชสำนักยอกยาการ์ตาจะนำสิ่งของเป็นเสื้อผ้าผู้ชาย และอาหารไปมอบให้ Kyai Sapujagad ผู้ที่ทางราชสำนักยอกยาการ์ตาถือว่าเป็นผู้นำของโลกวิญญาณแห่งภูเขาไฟเมอราปี โดยผู้นำในการทำพิธีกรรม Labuhan Merapi คือ คุณปู่มารียัน หรือ Mbah Marijan ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักยอกยาการ์ตาให้เป็นผู้ดูแลภูเขาไฟเมอราปี หรือ Juru Kunci Merapi
เขาได้รับการเป็นข้าราชบริพารของราชสำนักยอกยาการ์ตาในปี 1970 ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลภูเขาไฟเมอราปีในปี 1982 ในการทำพิธี Labuhan Merapi นี้จะมีขั้นตอนตั้งแต่การนำสิ่งของจากราชสำนักจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการมอบสิ่งของแก่ Kyai Sapujagad มีการจัดทำพิธี Labuhan Merapi ครั้งล่าสุดเมื่อ 12-13 กรกฎาคม 2010 ที่บ้านของ คุณปู่มารียัน หรือ Mbah Marijan ที่หมู่บ้าน ตำบลสเลมัน(Sleman) จังหวัดยอกยาการ์ตา

สิ่งของที่ใช้ในพิธีกรรม Labuhan Merapi

พิธีกรรม Labuhan Merapi

พิธีกรรม Labuhan Merapi

หนึ่งในพิธีกรรม Labuhan Merapi

กำลังเตรียมสิ่งของเพื่อพิธีกรรม Labuhan Merapi

ภาพ Mbah Marijan ในชุดพิธีกรรม Labuhan Merapi

พิธีกรรม Labuhan Merapi

ข้าราชบริพารของราชสำนักยอกยาการ์ตาในพิธีกรรม Labuhan Merapi

ภาพ Mbah Marijan กับพิธีกรรม Labuhan Merapi

พิธีกรรม Labuhan Merapi

พิธีกรรม Labuhan Merapi
เป็นพิธีกรรมของราชสำนักยอกยาการ์ตา ที่จัดทำทุกปีในวันขึ้นครองราชย์ของสุลต่านฮาเม็งกูโบโวโนที่ 10 พิธีกรรม วันแรกของพิธีกรรม Labuhan Merapi จะเป็นการมอบสิ่งของที่เรียกว่า ubarampe จากราชสำนักยอกยาการ์ตา ผ่านกำนันของตำบล จังกริงงัน (Cangkringan) ต่อมาสิ่งของเหล่านั้นจะส่งมอบต่อไปยังคุณปู่มารียัน หรือ Mbah Marijan ในช่วงเวลากลางคืนจะมีการจัดงานเลี้ยงที่เรียกว่า Wilujengan ที่บ้านของคุณปู่มารียัน หรือ Mbah Marijan ต่อมาในวันที่สองในช่วงเช้าตรู่จะทำพิธีกรรม Labuhan Merapi อย่างเป็นทางการโดยกองทหารเกียรติยศจากราชสำนักยอกยาการ์ตาจะนำสิ่งของติดตามด้วยครอบครัวของผู้ดูแลภูเขาไฟเมอราปี คือ คุณปู่มารียัน หรือ Mbah Marijan ข้าราชบริวารและตัวแทนจากสำนักราชวังยอกยาการ์ตา ไปยังสถานที่ที่เรียกว่า Kendit 2 ที่สถานที่ดังกล่าวจะมีการประกอบพิธีกรรมอ่านคำขอพร สิ่งของที่นำไปยังภูเขาไฟเมอราปีจะเป็นเสื้อผ้าผู้ชาย และอหาร ด้วยคนชวาถือว่าภูเขาไฟเมอราปีเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาย และความกล้าหาญ
การระเบิดของภูเขาไฟครั้งนี้ มีผลทำให้มีผู้เสียชีวิตล่าสุด 143 คน รวมทั้งคุณปู่มารียัน หรือ Mbah Marijan ถึงอย่างไรก็ตามทางราชสำนักยอกยาการ์ตากำลังทาบทาม คุณโปนีมีน (Ponimin) เป็นเป็นผู้ดูแลภูเขาไฟเมอราปี หรือ Juru Kunci Merapi คนต่อไป เพราะพิธีกรรม Labuhan Merapi เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมแห่งราชสำนักยอกยาการ์ตา และเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่ผู้ยึดถือหลักความเชื่อของชาวชวา (Kejawen) หรือ ศาสนายาวีปฏิบัติมาเป็นเวลานานมาแล้ว

อ้างอิง
1. Geerz, Clifford .1960.The Religion of Java.Chicago : University of Chicago Press
2. Santosa, Sedya .Agami Jawi : Religiusitas Islam Sinkretis.Universitas Islam Negeri Sunan Kalijaga.Yogyakarta.
3. Walsh, Dylan .Kepercayaan Masyarakat Jawa Terhadap Gunung. ACCIS, Murdosh University.Australia.
4. Bakker, J.W.M..1976.Agama Asli Indonesia.Yogyakarta : Puskat.
5. Koentjaraningrat.1984.Kebudayaan Jawa.Jakarta : Balai Pustaka.
6. Muchtarom, Zaini.1988.Santri dan Abangan di Jawa.Jilid II Jakarta:INIS.
7. Partokusuma, Karkono Kamajaya.1995.Kebudayaan Jawa dan Perpaduannya dengan Islam.Yogyakarta : IKAPI Cabang Yogyakarta.

Sabtu, 2 Oktober 2010

นางกวาก๊อกชู (Kwa Geok Choo) ภรรยานายลีกวนยิว รัฐมนตรีอาวุโสแห่งประเทศสิงคโปร์เสียชีวิต

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

ทางราชการของประเทศสิงคโปร์ได้ประกาศถึงการสิ้นชีวิตของนางกวาก๊อกชู โดยนางกวาก๊อกชู มีอายุได้ 89 ปี ได้สิ้นชีวิตเมื่อเวลา 17.40 น. ของวันนี้ 2 ตุลาคม 2010

ทางสำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้ประกาศถึงพิธีเคารพศพนางกวาก๊อกชู ครั้งสุดท้ายจะทำที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีศรีเตอมาซิก ในวันจันทร์และวันอังคารที่จะถึงนี้ โดยผู้ที่จะทำความเคารพศพสามารถกระทำได้ในระหว่างเวลา 10.00 น. ถึง 17.00 น. ของทั้งสองวันข้างต้น และพิธีฝังศพจะทำที่ Mandai Crematorium ในวันที่ 6 ตุลาคม 2010

ภาพนางกวาก๊อก

นางกวาก๊อกชูถ่ายภาพกับนายลีกวนยิว

นางกวาก๊อกชูเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2003 ขณะที่ได้เยือนกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ต่อมาสามารถฟื้นจากโรคดังกล่าว จนสามารถร่วมงานต่างๆกับนายลีกวนยิวได้ รวมทั้งการเดินทางไปเยี่ยมต่างประเทศ จนต่อมานางกวาก๊อกชูก็ได้เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อีก 2 ครั้ง คือในเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน 2008 การเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ครั้งหลังทำให้นางกวาก๊อกชูต้องนอนอยู่บนเตียง และไม่สามารถพูดได้ แม้ว่าจะเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด

นายลีกวนยิว ได้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ New York Times เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยนายลีกวนยิว กล่าวว่า
“ จะให้ทำอะไร ? จะให้ผมทำอย่างไร ? ”
และเขากล่าวเพิ่มเติมว่า
“ผมจะไม่หมดกำลังใจ การดำรงชีวิตจะต้องดำเนินต่อไป”
นายลีกวนยิว กล่าวถึงภรรยาของเขาว่า สิ่งที่เขามีสิ่งสำคัญในชีวิตคือ การมีภรรยาที่สามารถหารายได้เลี้ยงชีวิตตนเอง และเลี้ยงลูกๆจนเติบโตได้

นางกวาก๊อกชูถ่ายภาพกับนายลีกวนยิว

นางกวาก๊อกชูถ่ายภาพกับนายลีกวนยิว

นางกวาก๊อกชูถ่ายภาพกับนายลีกวนยิว

นางกวาก๊อกชูถ่ายภาพกับนายลีกวนยิว

ประวัติของนางกวาก๊อกชู (Kwa Geok Choo)
เกิดเมื่อ ปี 1921 และเสียชีวิตเสีย 2 ตุลาคม 2010 เป็นภรรยาของนายลีกวนยิว (Lee Kuan Yew) รัฐมนตรีอาวุโส(Minister Mentor) และอดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศสิงคโปร์ เธอเป็นเป้นมารดาของนายลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสิงคโปร์ นอกจากนั้นเธอยังเป็นหุ้นส่วนของสำนักงานกฎหมายลีแอนด์ลี (Lee & Lee) นางกวาก๊อกชูเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนที่ชื่อว่า Methodist Girls’ School ต้งอยู่ที่บูกิ๊ตตีมะห์ (Bukit Timah) ประเทศสิงคโปร์ ต่อมาได้รับทุนการศึกษาไปศึกษายังมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ในหนังสือชีวประวัติของนายลีกวนยิว ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของนายลีกวนยิวกับนางกวาก๊อกชูว่า ทั้งคู่พบกนครั้งแรกเมื่อปี 1944 ในงานเลี้ยงแห่งหนึ่ง ต่อมาทั้งคู่ได้มีความสัมพันธ์ทางใจกันเมื่อปี 1946 และหลังจากนั้นทั้งคู่ก็ได้แต่งงานกันแบบลับๆ เมื่อ 23 ธันวาคม 1947 ขณะที่นายลีกวนยิว มีอายุ 24 ปี ส่วนนางกวาก๊อกชู มีอายุ 27 ปี หลังจากนั้นทั้งสองได้เดินทางกลับมาแต่งงานอีกครั้งที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อ 30 กันยายน 1950

นายลีกวนยิว กับนางกวาก๊อกชู มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือนายลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสิงคโปร์ และนายลี เซียน ยัง (Lee Hsien Yang) มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการองค์การการบินพลเรือนของประเทศสิงคโปร์ หรือ Civil Aviation Authority of Singapore (CAAS)
มีบุตรสาวคนหนึ่งชื่อ ศาสตราจารย์ลี วัย ลิง (Lee Wei Ling)มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ National Neuroscience Institute

ภาพครอบครัวลี กวน ยิว กำลังเล่นหมากรุกจีน

นายลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong)

นายลี เซียน ยัง (Lee Hsien Yang)

ศาสตราจารย์ลี วัย ลิง (Lee Wei Ling)

Jumaat, 1 Oktober 2010

มาเลเซียสนับสนุนนักศึกษาที่เรียนเก่งได้เกียรตินิยมโดยเปลี่ยนสภาพจากทุนเงินกู้เป็นทุนการศึกษา(ทุนการศึกษาให้เปล่า)

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน





เมื่อ 1 ตุลาคม 2010 ทางรัฐบาลมาเลเซียได้เปลี่ยนสภาพของทุนเงินกู้ที่นักศึกษาชาวมาเลเซียได้กู้เงินทุนเพื่อการศึกษาจากหน่วยงานรัฐบาลที่มีชื่อว่า กองทุนการศึกษาอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ Perbadanan Tabung Pendidikan Tinggi Nasional (PTPTN) โดยเปลี่ยนสภาพจากทุนเงินกู้เป็นทุนการศึกษา (ทุนให้เปล่า) แก่นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาจำนวน 2,162 คน ทั้งที่ศึกษาอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน โดยนักศึกษาเหล่านั้นได้รับปริญญาเกียรตินิยม จำนวนเงินที่มีการเปลี่ยนสภาพในครั้งนี้จำนวนถึง 59 ล้านริงกิต หรือ ประมาณ 590 ล้านบาท





การเปลี่ยนสภาพเงินกู้นักศึกษาครั้งนี้ เป็นไปตามการประกาศนโยบายงบประมาณประเทศมาเลเซียประจำปี 2010 ที่ดาโต๊ะศรีมูฮัมหมัดนายิบ บินตุนอับดุลราซัค ได้เสนอต่อสภาผูแทนราษฎร เมื่อ 23 ตุลาคม 2009 เนื้อหาส่วนหนึ่งได้กล่าวว่า
“มอบทุนการศึกษาที่เรียกว่า ทุนการศึกษาแห่งชาติ หรือ Biasiswa Nasional แก่นักเรียนที่มีผลการเรียนเป็นเลิศจำนวน 30 คน โดยผู้รับทุนการศึกษาดังกล่าวจะได้รับการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก” และ “สำหรับนักศึกษาที่ได้รับทุนเงินกู้จากหน่วยงานเกี่ยวกับเงินกู้นักศึกษาที่มีชื่อว่า กองทุนการศึกษาอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ Perbadanan Tabung Pendidikan Tinggi Nasional (PTPTN) นั้น เมื่อผลการเรียนของนักศึกษาดังกล่าวได้รับปริญญาเกียรตินิยม ทางราชการจะเปลี่ยนแปลงทุนการเรียนดังกล่าวจากทุนเงินกู้เป็นทุนการศึกษา (ทุนให้เปล่า) ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นไป”

ดาโต๊ะศรีมูฮัมหมัดนายิบ บินตุนอับดุลราซัค

ดาโต๊ะศรีมูฮัมหมัดคาเล็ด นอร์ดิน (Datuk Seri Mohamed Khaled Nordin)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา กล่าวว่าจำนวนนักศึกษาข้างต้นเป็นจำนวนที่มีการสำรวจตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกรกฎาคม 2010 และคาดว่าจำนวนนักศึกษาที่ได้รับการปรับสภาพทุนครั้งนี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในปลายปีนี้

ดาโต๊ะศรีมูฮัมหมัดคาเล็ด นอร์ดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา

และการปรับสภาพทุนจากทุนเงินกู้เป็นทุนการศึกษา (ทุนให้เปล่า)ครั้งนี้ มีผลดีต่อการศึกษาของนักศึกษา เพราะทำให้นักศึกษามีความขยันในการศึกษาเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้นธนาคารอิสลามมาเลเซียได้มอบเงินซากาตต่อ PTPTN จำนวน 100,000 ริงกิต (ประมาณ 1 ล้านบาท) เพื่อเปิดบัญชีกองทุนออมทรัพย์การศึกษาแห่งชาติ หรือ Skim Simpanan Pendidikan Nasional (SSPN) ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อนกศึกษายากจน เขากล่าวเพิ่มเติมว่าการเปลี่ยนสภาพจากทุนเงินกู้มาเป็นทุนการศึกษา(ทุนให้เปล่า)ครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของกองทุนการศึกษาอุดมศึกษาแห่งชาติ เพราะได้มีการศึกษาถึงเรื่องนี้แล้ว