Ekonomi/Bisnis

Ahad, 9 Mei 2010

เหตุการณ์นองเลือด 13 พฤษภาคม (Peristiwa 13 Mei)

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

ตวนกูอับดุลราห์มาน ปุตรา นายกรัฐมนตรีขณะเกิดการจลาจลนองเลือด

ตนอับดุลราซัค รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นประธานสภาปฏิบัติการแห่งชาติ (Mageran)

เมื่อ 13 พฤษภาคมปี 1969 ได้เกิดเหตุการณ์จลาจลทางเชื้อชาติขึ้นในประเทศมาเลเซีย และได้ความแตกแยกระหว่างเชื้อชาติขึ้นในประเทศมาเลเซีย เหตุการณ์นี้ได้ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของชาวมาเลเซียเชื้อชาติต่างๆ และในประเทศมาเลเซียรู้จักเหตุการณ์นองเลือดในชื่อของ “เหตุการณ์นองเลือด 13 พฤษภาคม หรือ “Peristiwa 13 Mei” เป็นรอยดำในประวัติศาสตร์ของประเทศมาเลเซีย เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 1969

ความเป็นมาของการเกิดเหตุการณ์
ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 1969 นั้นผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้นำทางการเมืองของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ได้ยกประเด็นต่างๆในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนั้น ประเด็นที่ค่อนข้างจะสร้างความแตกแยกระหว่างเชื้อชาติ เช่น ประเด็นการใช้ภาษามลายูเป็นภาษาประจำชาติ ประเด็นการมีสิทธิพิเศษของคนมลายูในประเทศมาเลเซีย หรือประเด็นสิทธิความเป็นพลเมืองมาเลเซียของคนที่ไม่ใช่คนมลายู นักการเมืองฝ่ายค้านได้นำประเด็นต่างๆเหล่านี้มาเป็นประเด็นในการหาเสียง เพื่อให้ผู้ลงคะแนนเลือกตั้งลงคะแนนให้พรรคตนเอง

ผลของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 1969 นั้น ปรากฏว่าพรรคพันธมิตร หรือ Parti Perikatan (Alliance Party) ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองเชื้อชาติต่างๆจำนวน 3 พรรค คือ พรรคองค์กรมลายูสามัคคีแห่งชาติ หรือพรรคอัมโน (UMNO) ตัวแทนของเชื้อชาติมลายู, พรรคสมาคมจีนมาเลเซีย หรือ Malaysia Chinese Association (MCA) ตัวแทนของเชื้อชาติจีน และพรรคคองเกรสอินเดียมาเลเซีย หรือ Malaysia Indian Congress (MIC) ไม่สามารถมีเสียงเกิน 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ถึงแม้ว่าพรรคพันธมิตรจะยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ แต่จะมีปัญหาในการออกกฎหมายต่างๆ ด้วยมีเสียงไม่ถึงตามรัฐธรรมนูญกำหนด จำนวนที่นั่งของพรรคพันธมิตรลดลงจากเดิมที่มี 89 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 1964 มาเป็นจำนวน 66 ที่นั่งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 1969 ส่วนพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคขบวนการประชาชนมาเลเซีย หรือ Parti Gerakan Rakyat Malaysia (Gerakan), พรรคกิจประชาธิปไตย หรือ Democratic Action Party (DAP) และพรรคประชาชนก้าวหน้า หรือ People 's Progressive Party (PPP) ได้รับเลือกตั้งจำนวน 25 ที่นั่ง รวมกับที่นั่งของพรรคอิสลามมาเลเซีย หรือ Parti Islam SeMalaysia (PAS) ที่ได้รับเลือกจำนวน 12 ที่นั่ง

การที่พรรคฝ่ายค้านฝ่ายที่ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ วันที่ 11 พฤษภาคม 1969 จึงมีการเดินขบวนแห่เฉลิมฉลองชัยชนะในครั้งนี้ แรกเริ่มนั้นการเดินขบวนการไม่ได้มีจุดประสงค์ของการสร้างความแตกแยกทางเชื้อชาติ แต่ได้มีกลุ่มผู้เดินขบวนจำนวนหนึ่งในขณะที่เดินขบวนนั้นได้กล่าวคำที่ค่อนข้างสร้างความแตกแยกทางเชื้อชาติ ในการเดินขบวนเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 1969นั้นด้วยดร. ตัน ชี คุน (Dr. Tan Chee Khoon) จาก พรรคขบวนการประชาชนมาเลเซีย หรือ Parti Gerakan Rakyat Malaysia ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งที่เขตบาตู รัฐสลังงอร์ จึงจัดเดินขบวนฉลองชัยชนะ ส่วนใหญ่ผู้เดินขบวนเป็นชาวจีนที่สนับสนุนพรรคขบวนการประชาชนมาเลเซีย หรือ Parti Gerakan Rakyat Malaysia (Gerakan)และพรรคกิจประชาธิปไตย หรือ Democratic Action Party (DAP) ความจริงในการเดินขบวนนั้นได้รับการอนุญาตจากทางตำรวจแล้ว โดยมีการกำหนดเส้นทางเป็นที่ชัดเจนแล้ว แต่เมื่อมีการเดินขบวนปรากฏว่าขบวนที่เดินนั้นออกนอกเส้นทางที่กำหนด โดยมีการเดินผ่านเส้นทางของพื้นที่กำปงบารู(Kampung Baru) ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวมลายู มีการตะโกน เยาะเย้ยชาวมลายูบริเวณพื้นที่กำปงบารู(Kampung Baru) ผู้เดินขบวนมีการถือไม้กวาดขนาดยักษ์ บางคนกล่าวว่าเป็นสัญญาลักษณ์ของการที่คนจีนจะกวาดคนมลายูออกไปจากอำนาจทางการเมืองในประเทศมาเลเซีย

ภาพชาวจีนเดินขบวนถือไม้กวาดยักษ์ในวงกลมสีเหลือง ที่เป็นสัญญลักษณ์ของการกวาดล้างชาวมลายู

ภาพชาวจีนเดินขบวนถือไม้กวาดยักษ์ ที่เป็นสัญญลักษณ์ของการกวาดล้างชาวมลายู

เหตุการณ์เดินขบวนการมีจนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 1969 ทางดาโต๊ะฮารุน อิดริส (Dato’ Harun Idris) มุขมนตรีรัฐสลังงอร์ในขณะนั้นจึงประกาศจะให้ชาวมลายูมารวมเดินขบวนฉลองชัยชนะเหมือนกัน โดยนัดเดินขบวนกันในเวลา 19.30 น. ของวันดังกล่าว ในขณะเดียวกันนั้นมีการเดินขบวนแห่ศพชาวจีนที่เสียชีวิตด้วยโรคชรา ที่เขตจินจัง เกอปง (Jinjang, Kepong) โดยการเดินขบวนแห่ศพนี้ก็ได้รับอนุญาตจากทางตำรวจเช่นกัน แต่ต่อมาการเดินขบวนแห่ศพได้แปรสภาพเป็นการเดินขบวนฉลองชัยชนะในการเลือกตั้งด้วยการกล่าวดูถูก เยียดหยามชาวมลายู ในวันที่ 13 พฤษภาคม 1969 นั้น นายเยียว เต้ ชีแย (Yeoh Tech Chye) ในฐานะพรรคขบวนการประชาชนมาเลเซีย หรือ Parti Gerakan Rakyat Malaysia (Gerakan) ได้กล่าวขอโทษต่อชาวมลายูที่มีสมาชิกพรรคของตนเองกล่าวดูถูกคนมลายูในขณะเดินขบวน แต่การกล่าวขอโทษนั้นสายไปเสียแล้ว เมื่ออารมณ์ของชาวมลายูทั่วไปรวมทั้งที่รวมตัวกันที่บ้านดาโต๊ะฮารุน อิดริส (Dato’ Harun Idris) มุขมนตรีรัฐสลังงอร์นั้นมีอารมณ์ค่อนข้างรุนแรง บางคนพกพาดาบ มีด พร้า

โรงภาพยนตร์โอเดียน

ขบวนแห่ศพของคนจีนที่ต่อมาแปรสภาพเป็นขบวนแห่ทางการเมือง

ต่อมามีข่าวลือถึงการที่คนจีนฆ่าคนมลายูในที่ต่างๆ ซึ่งข่าวลือนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วกัวลาลัมเปอร์ แม้ว่าไม่สามารถพิสูจน์ว่าเป็นความจริงหรือไม่ แต่ได้สร้างอารมณ์โกรธแค้นในหมู่ชาวมลายู ในช่วงเวลา 16.00 น. มีชาวจีนขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านถนนกำปงบารู ถูกฆ่าตัดหัว ต่อมามีรถบรรทุกบุหรี่ถูกเผา คนขับรถถูกฆ่า หลังจากนั้นกลุ่มชาวจีนจากพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา (Parti Komunis Malaya) และสมาคมลับได้เริ่มแก้แค้นชาวมลายู

การควบคุมสถานการณ์
เมื่อเกิดเหตุการณ์วุ่นวายที่เขตกำปงบารู หน่วยทหาร FRU ที่ถูกส่งเข้าไปควบคุมสถานการณ์ถอนตัวออกมา โดยมีทหารจากหน่วยรบพิเศษเข้าไปแทนที่ หน่วยทหารพิเศษนี้ประกอบด้วยทหารจากหลายเชื้อชาติ เช่น ชาวมลายู ชาวจีน ชาวอินเดีย ชาวอีบัน (จากรัฐซาราวัค) ชาวซิกข์ และชาวกูรข่า โดยมีนายทหารชาวจีนเป็นผู้บังคับบัญชา มีการยิงผู้ก่อความวุ่นวายชาวมลายู ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายไปอีก สร้างความเคียดแค้นแก่ชาวมลายูยิ่งขึ้น ต่อมามีการเปลี่ยนนำเอาหน่วยทหารมลายู (Askar Melayu DiRaja) มาควบคุมสถานการณ์แทนหน่วยทหารพิเศษ

ทหารหน่วยพิเศษที่ทำหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ในช่วงแรกๆ

ภาพการจลาจล

ร้านค้าของคนจีนที่ถูกเผา

เหตุการณ์ที่โรงภาพยนตร์โอเดียน (Odeon Theatre)
เยาวชนชาวจีนได้มีการปิดล้อมโรงภาพยนตร์โอเดียน (Odeon Theatre)ที่ตั้งอยู่บนถนนตวนกูอับดุลราห์มาน, กัวลาลัมเปอร์ ภายในโรงภาพยนตร์ได้มีการประกาศในจอภาพยนตร์เป็นภาษาจีน มีข้อความให้ชาวจีนออกจากโรงภาพยนตร์ ดังนั้นชาวจีนจึงได้ออกจากโรงภาพยนตร์ ส่วนชาวชาวมลายูอ่านภาษาจีนไม่ออก จึงไม่ได้ออกจากโรงภาพยนตร์ ต่อมาเยาวชนคนจีนเหล่านั้นจึงบุกเข้าไปในโรงภาพยนตร์ และฆ่าชาวมลายูตายไปเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์เช่นในโรงภาพยนตร์นี้ยังเกิดขึ้นที่โรงภาพยนตร์เฟเดอรัล (Federal Threatre) ส่วนตามท้องตลาดหน่วยทหารมลายูก็ได้ยิงชาวจีนที่ฝ่าฝืนกฎหมายตามออกนอกบ้าน

เหตุการณ์นองเลือดนี้เกิดขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์เท่านั้น แม้ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติจะประทุขึ้นทั่วประเทศ แต่ในรัฐต่างๆ เช่น รัฐกลันตัน, รั,ตรังกานู, รัฐปาหัง, รัฐเปรัค, รัฐเคดะห์, รัฐปีนัง, รัฐโยโฮร์ และรัฐนัครีซัมบีลัน ไม่มีเหตุการณ์นองเลือดเกิดขึ้น จะมีความขัดแย้งอยู่บ้างในรัฐมะละกา

จำนวนผู้เสียชีวิตที่ไม่เป็นทางการในเหตุการณ์นองเลือดมีดังนี้

ชาวมลายู 86 คน
ชาวจีน 342 คน
อื่น ๆ 3 คน

รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์นองเลือด 13 พฤษภา

หนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์นองเลือด 13 พฤษภา

หนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์นองเลือด 13 พฤษภา

การจัดตั้งสภาปฏิบัติการแห่งชาติ (Majlis Gerakan Negara)
เมื่อเกิดเหตุการณ์นองเลือดแล้ว ในวันที่ 16 พฤษภาคม 1969 จึงได้มีการประกาศกฎอัยการศึก มีการจัดตั้งสภาปฏิบัติการแห่งชาติ (Majlis Gerakan Negara) หรือชื่อย่อว่า Mageran ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารประเทศ โดยมีตุนอับดุลราซัค ขณะนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภาปฏิบัติการแห่งชาติ (Majlis Gerakan Negara) การบริหารประเทศขึ้นตรงต่อพระราชาธิบดี โดยใช้กฎอัยการศึก รัฐธรรมนูญของประเทศถูกระงับการใช้ชั่วคราว และรัฐสภาถูกยุติการปฏิบัติงานชั่วคราว

จากเหตุการณ์นองเลือดนี้ ได้มีบุคคลจำนวนหนึ่งโจมตีการทำงานของตวนกูอับดุลราห์มานปุตรา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น รวมทั้งความห่างของช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างชาวมลายูกับชาวจีน ดังที่ปรากฏในหนังสือที่เขียนโดย ตนมหาธ์ โมฮัมหมัด โดยใช้ชื่อว่า Malay Dilemma จนหนังสือดังกล่าวถูกห้ามโดยรัฐบาลในขณะนั้น

ผลงานของสภาปฏิบัติการแห่งชาติ (Majlis Gerakan Negara)
ในช่วงเวลาการประกาศกฎอัยการศึกนั้น ทางสภาปฏิบัติการแห่งชาติได้ดำเนินการหลายอย่าง เพื่อให้เกิดความปรองดองขึ้นในชาติ มีการประกาศ Rukun Negara หลักการห้าประการในการสร้างปรองดองระหว่างเชื้อชาติต่างๆในประเทศมาเลเซีย มีการประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่ หรือ Dasar Ekonomi Baru (New Economy Policy) เพื่อสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างชาวมลายู ชาวจีน ชาวอินเดีย ซึ่งแม้ชาวมลายูจะเป็นชนพื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย แต่เศรษฐกิจกลับถูกชาวต่างชาติและชาวจีนเป็นผู้คุมอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย ส่วนในทางการเมืองนั้น ปรากฏว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านต่างๆในช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 1969 ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพรรคแนวร่วมแห่งชาติ(Barisan Nasional – National Front) อันเป็นการรวมตัวของพรรคการเมืองต่างๆ ต่อจากพรรคพันธมิตร (Parti Perikatan) ไม่ว่าจะเป็นพรรคขบวนการประชาชนมาเลเซีย หรือ Parti Gerakan Rakyat Malaysia (Gerakan) ที่มีฐานอำนาจอยู่ในรัฐปีนัง, พรรคประชาชนก้าวหน้า หรือ People 's Progressive Party (PPP) ที่มีอิทธิพลอยู่ในรัฐเปรัค รวมทั้งพรรคอิสลามมาเลเซีย หรือ Parti Islam SeMalaysia (PAS) ที่มีอิทธิพลในรัฐกลันตัน มีเพียงพรรคกิจประชาธิปไตย หรือ Democratic Action Party (DAP) เท่านั้นที่ไม่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพรรครัฐบาล

Tiada ulasan:

Catat Ulasan