Ekonomi/Bisnis

Rabu, 2 Januari 2008

ประเทศบรูไนดารุสซาลาม

สรุปและเรียบเรียง จาก เว็บไซต์ กระทรวงต่างประเทศ

ประเทศบรูไนมีการปกครองระบอบ Constitutional Sultanate โดยมีองค์สุลตานและนายกรัฐมนตรี (Sultan and Prime Minister) เป็นทั้งองค์พระประมุขและหัวหน้าคณะรัฐบาลของประเทศ คือ Sultan Haji Hassanal Bolkiah Muizzadin Waddaulah มีนครหลวงชื่อ กรุงบันดาร์ สรี บือกาวัน (Bandar Seri Begawan) ซึ่งเป็นทั้งนครที่เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจด้วย ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2527 ระบบกฎหมายของประเทศมีพื้นฐานมาจากกฎหมายจารีตประเพณีอังกฤษ และกฎหมายอิสลาม

ประเทศบรูไนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย เวลาท้องถิ่นในประเทศบรูไนเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง จัดได้ว่าเป็นประเทศขนาดเล็กเพราะมีพื้นที่เพียง 2,226 ตารางไมล์ และมีประชากรเพียงประมาณ 300,000 คน แต่มีเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง โดยเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับการผสมผสานกันระหว่างการลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ กฎข้อบังคับของรัฐบาล มาตรการต่างๆทางด้านสวัสดิการสังคมและขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นในระดับหมู่บ้าน ทั้งนี้ รายได้ของประเทศนี้โดยส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งของ GDP มาจากการส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมดิบ และแก๊สธรรมชาติ ซึ่งเมื่อรวมกับรายได้จากเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศก็ทำให้บรูไนมีอัตรารายได้ต่อหัวที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยในประเทศอื่นๆในกลุ่มประเทศโลกที่สามมาก ทำให้รัฐบาลสามารถจัดการให้บริการสาธารณูปโภคและสินค้า/บริการต่างๆที่จำเป็นแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง เป็นต้นว่า การให้การอุดหนุนในเรื่องอาหารและที่อยู่อาศัย และการให้บริการสาธารณสุขในทุกๆด้านอย่างทั่วถึง

ภาคการผลิตของประเทศประกอบด้วย ภาคการอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศได้แก่ อุตสาหกรรมขุดเจาะหาน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมผลิตแก๊สธรรมชาติ และอุตสาหกรรมการก่อสร้าง และภาคการเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศได้แก่ การผลิตข้าวเจ้า มันสำปะหลัง กล้วย ในปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายพื้นฐานในอันที่จะเบนการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจของประเทศออกจากทรัพยากรน้ำมันและแก๊สธรรมชาติไปสู่ภาคการผลิตอื่นๆให้มากขึ้น

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ราคาน้ำดับดิบของโลกตกต่ำ ประกอบกับวิกฤติทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน ส่งผลกระทบให้ธุรกิจในประเทศหลายแห่งต้องปิดตัวลง โดยเฉพาะธุรกิจในอุตสาหกรรมการก่อสร้างหดตัวลงถึงร้อยละ 70 โดยมีการปลดคนงานต่างชาติออกเป็นจำนวนมากกว่า 80,000 คน โดยเฉพาะคนงานไทยถูกปลดออกถึงประมาณ 40,000 คน ทำให้เป็นที่คาดหมายว่าบรูไนจะมีระดับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 1999 ไม่มากนักและจะมีอุปสงค์รวมภายในประเทศหดตัวลง โดยเฉพาะอุปสงค์สำหรับสินค้าในกลุ่มวัสดุการก่อสร้าง อุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับติดตั้งกับอาคารสถานที่ และอาหาร เป็นต้น

สภาพเศรษฐกิจ
บรูไนมีนโยบายการค้าเสรี ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ การท่องเที่ยว และส่งเสริมการพึ่งตนเองโดยการผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้า เช่น สินค้าประเภทอาหาร เป็นต้น

นโยบายการนำเข้า
แม้ว่าจะมีนโยบายการค้าเสรี แต่การนำเข้าภายใต้หลักเกณฑ์การควบคุมการนำเข้าสินค้าบางประเภทเช่น ข้าว น้ำตาล ปูนชิเมนต์ อาหาร เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ เนื้อวัว ผู้นำเข้าสินค้าจะต้องขออนุญาตก่อน หรือนำเข้าได้ตามโควต้าที่กำหนด

ห้ามนำเข้าเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์

คู่แข่งขันทางการค้า
คู่ค้าที่สำคัญ
ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเชีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ไทย ฮ่องกง ออสเตรเลีย

อินโดนีเชีย เยอรมัน อิตาลี จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ในปี 2541 บรูไนนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกเป็นมูลค่า 726.1 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าเข้าสำคัญ ได้แก่ ชิ้นส่วนเครื่องบินและเรือบรรทุกสินค้าขนาดเบา เหล็ก/เหล็กกล้าใช้ในการก่อสร้าง เครื่องมือในการเจาะ แยง ตอกและทำสลักเกลียว ข้าวหอม วัสดุสิ่งทอ รถยนต์ขนาด 1500 – 2000 ซีซี ผ้าฝ้าย สายไฟฟ้า สายไฟชนิด optical fibre โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญคือ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย

คู่แข่งจากอาเซียน
ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งมีข้อได้เปรียบไทยดังนี้

- สิงคโปร์จะได้เปรียบไทยในด้านความสะดวก รวดเร็วในการนำเข้าสินค้า และสามารถจะเสนอขายสินค้าที่มีหลากหลายรายการกว่า ในปริมาณการสั่งซื้อสินค้าแต่ละรายการที่น้อยกว่า และในราคาที่สามารถแข่งขันกับไทยได้ รวมทั้งระยะทางขนส่งสินค้าที่ใกล้กว่าและการมีเที่ยวบินและเรือบรรทุกสินค้าติดต่อขนส่งสินค้ากับบรูไนโดยมีระวางบรรทุกสินค้าที่มากและถี่กว่า

- มาเลเซียจะได้เปรียบไทยกรณีสินค้าอาหาร ในด้านความเชื่อถือสินค้าอาหารฮาลาลที่นำเข้าจากมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมและการที่บรูไนไปร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารในประเทศมาเลเซียไว้มาก นอกจากนี้ ในกรณีของสินค้าอื่นๆโดยทั่วไป การที่บรูไนมีพรมแดนติดกับรัฐซาราวัคและซาบาร์ของมาเลเซีย และมีประชากรที่มีเชื้อสายเดียวกันใช้ภาษามาเลย์เหมือนกัน ยังทำให้มาเลเซียมีความได้เปรียบในด้าน การค้าชายแดน ความสะดวกในการติดต่อธุรกิจ ความสะดวกในการนำเข้าสินค้าและระยะทางขนส่งสินค้าที่ใกล้กว่า รวมทั้ง ความได้เปรียบในด้านรูปแบบสินค้าที่ผลิตเพื่อตอบสนองรสนิยมของผู้บริโภคที่คล้ายคลึงกัน

- อินโดนีเซียมีความได้เปรียบในแง่ราคาสินค้า ระยะทางการขนส่ง ตลอดจน ภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี และรสนิยมผู้บริโภคที่คล้ายคลึงกัน

- สำหรับประเทศไทยมีความได้เปรียบประเทศคู่แข่งขันเหล่านี้ในแง่คุณภาพของสินค้า เช่น สินค้าข้าว น้ำตาล วัสดุก่อสร้าง เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน อาหาร ผัก ผลไม้ และได้เปรียบในแง่รูปแบบของสินค้าที่ได้รับความนิยมจากตลาดมากกว่า เช่น เครื่องสุขภัณฑ์เซรามิค ผลิตภัณฑ์พลาสติก และได้เปรียบในความเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของบริษัทแม่ในต่างประเทศ เช่น สินค้ารถยนต์บางยี่ห้อบางรุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยยังมีความได้เปรียบในด้านทักษะและค่าจ้าง/ค่าบริการของแรงงานไทยในประเทศบรูไน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างในประเทศบรูไนได้หดตัวลงอย่างมาก

สินค้าส่งออก/นำเข้าสำคัญ
- การส่งออก ในปี 1996 บรูไนมีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 2.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าออกสำคัญได้แก่ น้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ประเทศปลายทางการส่งออกที่สำคัญได้แก่ กลุ่มอาเซียน (ร้อยละ 31) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 27) สาธารณรัฐเกาหลี (ร้อยละ 26) สหราชอาณาจักร และไต้หวัน

- การนำเข้า ในปี 1996 บรูไนนำเข้าสินค้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าเข้าที่สำคัญได้แก่ อุปกรณ์สำหรับเครื่องจักรและการขนส่ง สินค้าอุตสาหกรรม อาหาร และเคมีภัณฑ์ ประเทศแหล่งนำเข้าสำคัญได้แก่ (สถิติตัวเลขประมาณการปี 1994) สิงคโปร์ (ร้อยละ 29) สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 19) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 13) มาเลเซีย (ร้อยละ 9) และญี่ปุ่น (ร้อยละ 5)

การค้ากับประเทศไทย
ในปี 2541 บรูไนและไทยมีปริมาตรการค้ารวมกันทั้งสิ้น 73.2 ล้านเหรียญสหรัฐ บรูไนนำเข้าสินค้าจากไทยเป็นมูลค่า 51.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกสินค้ามาประเทศไทยเป็นมูลค่า 22 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าเป็นมูลค่า 29.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในช่วง มกราคม-กันยายน 2542 ทั้งสองประเทศมีปริมาตรการค้ารวมกันทั้งสิ้น 107.9 ล้านเหรียญสหรัฐ บรูไนนำเข้าสินค้าจากไทยเป็นมูลค่า 31.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.1 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย ลดลงจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.3 ส่งออกสินค้ามาประเทศไทยเป็นมูลค่า 76.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าเป็นมูลค่า 45.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ โครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยไปยังบรูไนประกอบด้วยสินค้าเกษตรกรรม ร้อยละ 32.9 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ 11.5 สินค้าอุตสาหกรรม ร้อยละ 37.9 สินค้าแร่และเชื้อเพลิง ร้อยละ 1.7 และสินค้าอื่นๆ ร้อยละ 16 รายการสินค้าออกที่สำคัญของไทยไปยังตลาดบรูไน ได้แก่ ข้าว มูลค่า 8.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ปูนซีเมนต์ มูลค่า 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 2.1 ล้านเหรียญสหรัฐ น้ำตาลทราย มูลค่า 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลไม้สดแช่เย็นและแช่แข็ง 0.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มูลค่า 0.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์เซรามิค มูลค่า 0.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เสื้อผ้าสำเร็จรูป มูลค่า 0.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์พลาสติก มูลค่า 0.5 ล้านเหรียญสหรัฐ แก้วและกระจก มูลค่า 0.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น ส่วนสินค้ารายการสำคัญที่ไทยนำเข้าจากบรูไนได้แก่ น้ำมันดิบ ส่วนประกอบเครื่องรับ-ส่งวิทยุ โทรศัพท์ โทรเลขและโทรทัศน์ หนังดิบและหนังฟอก ไม้ซุง ไม้แปรรูปและไม้อื่นๆ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น

สินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดสินค้านำเข้าบรูไน ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้สดแช่เย็นและแช่แข็ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว

สินค้าที่บรูไนนำเข้าจากไทยมากแต่ในปัจจุบันกำลังประสบปัญหาที่ทำให้การนำเข้าลดลงแต่มีโอกาศที่จะนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นเดิมหากปัญหาที่เกิดขึ้นคลี่คลาย ได้แก่ ปูนซีเมนต์ เครื่องปรับอากาศ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีปัญหาการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนในบรูไนหดตัวลงประมาณร้อยละ 70 ตามสภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจของภูมิภาค จนกระทั่งบริษัท AMEDEO ซึ่งดำเนินธุรกิจก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดของบรูไนล้มละลายไปในที่สุด

ในกลุ่มสินค้านำเข้ารายการสำคัญ 10 รายการแรกของบรูไน ปรากฎว่าโดยส่วนใหญ่มีการนำเข้าจากไทยเพียงเล็กน้อย ยกเว้นสินค้าบางรายการ ได้แก่ รถยนต์ขนาด 1,500 – 2,000 ซีซี วัสดุสิ่งทอ และวัสดุโครงสร้างเหล็ก/เหล็กกล้า ที่พอมีศักยภาพในตลาดนำเข้าของบรูไน

สินค้ารายการสำคัญที่นำเข้าจากไทยรายการอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ได้แก่ ยารักษาโรค รถยนต์ขนาด 1,000 – 1,500 ซีซี อาหารสัตว์ cement clinkers ของเล่น ผลิตภัณฑ์พลาสติก ท่อสเตนเลส สตีล ท่อเหล็กหรือโลหะอื่นๆ กระเบื้องปูพื้นเซรามิค เฟอร์นิเจอร์เหล็ก เกลือ ชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร/เครื่องครัวที่ทำจากพลาสติก

ข้อจำกัดในทางการค้าที่สำคัญคือ ข้อบังคับเกี่ยวกับการกำหนดสินค้าอาหารฮาลาล ซึ่งบรูไนค่อนข้างเคร่งคัด โดยเฉพาะเนื้อโค กระบือ แพะ แกะ ไก่ ต้องเป็นสินค้าฮาลาล ซึ่งบรูไนจะต้องไปตรวจโรงงานผลิต กรรมวิธีการผลิต การเก็บรักษา ฯลฯ และเมื่อให้การรับรองแล้ว จึงจะส่งสินค้าเข้าบรูไนได้ ถ้ายังไม่รับรอง แม้องค์การทางศาสนาอิสลามในประเทศผู้ส่งออกนั้นๆจะให้การรับรองแล้วก็ตาม ก็ยังไม่อาจส่งเข้าไปจำหน่ายในบรูไนได้ ทั้งนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ คือ กระทรวงศาสนา และกรมเกษตร Ministry of Industry and Primary Resources


สินค้าที่ห้ามนำเข้า (Prohibition)
ได้แก่ สินค้าที่ขัดกับข้อกำหนดฮาลาล ได้แก่ เนื้อไก่สด/แช่แข็ง(ที่ไม่ได้เชือดโดยชาวมุสลิม) สินค้าที่ขัดกับประเพณี และขนบธรรมเนียมอันดีงาม ได้แก่ ภาพและสิ่งพิมพ์ลามกอนาจาร เป็นต้น สินค้าที่ขัดกับหลักข้อปฏิบัติของศาสนาอิสลาม เช่น เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ และสินค้าที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ เช่น กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สินค้าปลอม เป็นต้น รวมทั้งสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานด้านสุขอนามัย

การเดินทางเข้าประเทศ
โดยทั่วไปต้องทำวีซ่าก่อนเดินทาง แต่สำหรับประชาชนของประเทศในกลุ่มอาเซียนสามารถทำวีซ่าที่จุดตรวจคนเข้าเมืองในประเทศบรูไนได้ สิทธิตามข้อตกลงของกลุ่มอาเซียน มีระยะเวลาอยู่ในบรูไนได้ 2 สัปดาห์ แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่บรูไนบางคนจะถือหลักพิจารณาดังนี้

(1) ให้อยู่เพียงที่ระบุวันกลับในตั๋วเครื่องบิน

(2) ด้องแสดงเงินสด (เหรียญบรูไน หรือสิงคโปร์) โดยจะให้วีซ่า 1 วันต่อเงิน 100 เหรียญ


กรณีดังกล่าวจึงสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศบรูไนอยู่บ้างหากพบกับเจ้าหน้าที่ประเภทดังกล่าว

Tiada ulasan:

Catat Ulasan