Ekonomi/Bisnis

Selasa, 30 Oktober 2007

อดีตปัตตานีภายใต้การปกครองของราชินี


โดย Nik Abdul Rakib Bin Nik Hassan
เริ่มด้วยราชินีฮีเยา ซึ่งขึ้นครองราชย์เมื่อปี ค.ศ. 1584 รัฐปัตตานีถูกปกครองโดยกษัตริย์ที่เป็นสตรีติดต่อกันถึง 4 พระองค์ ยุคสมัยนี้เป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์ปัตตานีในนามของ “ยุคบรรดาราชินี” เป็นเวลาถึงกว่าครึ่งศตวรรษก่อนที่ราชินีกูนิงผู้เป็นกษัตริย์ที่เป็นสตรีองค์สุดท้ายสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1651 ภายใต้การปกครองของบรรดาราชินีนี้เองที่ปัตตานี ได้ลิ้มรสยุคทองที่สง่างามและประสบความสำเร็จ

ราชินีฮีเยาเป็นกษัตริย์ขณะที่ชาติตะวันตกได้เริ่มขยายการค้าของพวกเขาสู่โลกตะวันออก ในเวลานี้โปรตุเกสมีชัยชนะเหนือมะละกา และสเปนเริ่มตั้งถิ่นฐานที่ฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะที่เกาะลูซอน ดังเช่นบรรดากษัตริย์มลายูองค์อื่น ราวต้นศตวรรษที่ 17 นี้รัฐปัตตานีเริ่มเปิดรับอิทธิพลและการติดต่อกับต่างประเทศ ผลที่ได้นั้นไม่ใช่เพียงการได้รับความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น แต่ความขัดแย้งที่ยาวนานโดยเฉพาะกับสยามญี่ปุ่นและฮอลันดา

ในปี ค.ศ. 1602 ราชินีฮีเยาได้ทรงอนุญาตให้คนฮอลันดาสร้างโกดังสินค้าของพวกเขาที่ปัตตานี ก่อนหน้านั้นนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1592 ได้มีการติดต่อการค้าที่เป็นทางการระหว่างปัตตานีกับญี่ปุ่น เมื่อกษัตริย์ปัตตานีได้ต้อนรับตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นในปีเดียวกันนั้น ในปี ค.ศ. 1605 ชาติสเปนก็ได้เดินทางมาค้าที่ปัตตานี และต่อมีอีกในปี ค.ศ. 1612 ก็มีสัญญาการค้าขายอีก โดยในครั้งนี้เป็นสัญญาที่ทำกับอังกฤษ

ราชินีฮีเยาปกครองปัตตานีจนถึงปี ค.ศ. 1616 ในยุคสมัยของพระองค์ ปัตตานีเริ่มได้รับการคุกคามจากสยาม เมื่อสยามได้โจมตีเป็นครั้งแรกต่อปัตตานีเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1603 การโจมตีครั้งแรกนี้สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ดี ตลอดศตวรรษที่ 17 ตรงกับยุคสมัยความเจริญรุ่งเรืองของปัตตานี ปัตตานีดำรงอยู่ในภยันตราย ความสัมพันธ์ของปัตตานีกับสยามเหมือนดังความสัมพันธ์ระหว่างลูกไก่กับเหยี่ยว อนาคตของการเมืองปัตตานีในเวลานี้ถูกกำหนดโดยสถานการณ์ทางการเมืองของรัฐสยาม และก็ความสัมพันธ์ที่ดีกับบรรดารัฐมลายูเพื่อนบ้าน เช่น เคดะห์ กลันตัน ตรังกานู และโยโฮร์

ราชินีฮีเยาได้มีโอกาสขุดคลองสำหรับการชลประทานแก่ประชาชนของพระองค์ในสมัยการปกครองของพระองค์น้ำของแม่น้ำกรือเซะเกือบจะไม่ได้นำมาใช้เลย ด้วยมีความเค็มเกินไป พระองค์ได้มีคำสั่งให้ประชาชนทำคลองขุดเริ่มจากแม่น้ำกรือเซะจรดถึงที่กัวลาเตอมางัน (ใกล้หมู่บ้านปรีฆีในปัจจุบัน) เพื่อสามารถให้นำจากแม่น้ำปัตตานีไหลสู่ทะเลโดยผ่านแม่น้ำกรือเซะ ด้วยเหตุนี้น้ำจากแม่น้ำกรือเซะจึงมีรสจืด และไร่นาสามารถให้ผลผลิตได้

พระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1616 เมื่อพระชนมายุได้ 63 ชันษา พระองค์ได้รับขนานนามภายหลังสิ้นพระชนม์ว่าอัล-มาร์ฮูม เตอมางัน (Almarhun Temahagan)

ราชินีบีรู
เป็นขนิษฐาของราชินีฮีเยา พระองค์เป็นกษัตริย์ปัตตานีเมื่อมีพระชนมายุได้ 50 ชันษา สำหรับการเผชิญกับการคุกคามของสยามที่หลอกหลอนปัตตานี ราชินีบีรูได้เชื้อเชิญสุลต่านกลันตันในขณะนั้นมีชื่อว่าสุลต่านอับดุลกาเดร์ ให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกันในนามของรัฐสหพันธรัฐปัตตานี หรือ รัฐปัตตานีใหญ่ เพื่อสร้างหนึ่งกองทัพที่สามัคคีและเข้มแข็งในการเผชิญกับการสงครามกับสยาม ที่คาดคิดว่าสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเวลา

ทูตคณะแรกของกษัตริย์ปัตตานีที่เดินทางไปยังพระราชวังกลันตัน ในปี ค.ศ. 1616 (ไม่นานหลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์) ประสบกับความล้มเหลวไม่ได้รับคำตอบแง่ดีจากฝ่ายกลันตัน เฉกเช่นเดียวกันกับที่ราชินีบีรูได้เดินทางไปยังกลันตันด้วยตนเองราวต้นปี ค.ศ. 1617 อย่างไรก็ตามในการเดินทางไปในครั้งที่สองของพระองค์ยังกลันตันในปี ค.ศ. 1618 ราชินีบีรูประสบความสำเร็จได้รับความเห็นชอบโดยมีเงื่อนไขจากสุลต่านกลันตัน ด้วยเหตุนี้ การรวมดินแดนครั้งนี้จึงไม่เป็นไปในทันที นอกจากภายหลังครึ่งแรกของปี ค.ศ. 1619 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว การรวมดินแดนเข้าด้วยกันในครั้งนี้ กินเวลาถึง 131 ปี นั้นคือจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1750 และถือได้ว่าเป็นการรวมดินแดนของปัตตานี – กลันตันที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์

นอกจากการวางแผนทางการเมืองระยะยาวเช่นนี้แล้ว ภายในรัฐเองราชินิบีรูได้มีโอกาสซ่อมแซมคลองขุดที่สร้างโดยพระภคีนีของพระองค์ คือ ราชินีฮีเยา เป็นที่ชัดเจนว่าสายน้ำที่ผ่านคลองขุดกัวลาเตอมางันนั้นเชี่ยวเกินไป และมักทำให้ริมฝั่งที่พระราชวังพังทลายบ่อย รวมกับทำให้น้ำที่ปากแม่น้ำกรือเซะจืดจนกระทั่งนำความเสียหายสู่นาเกลือ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของปัตตานี ด้วยคำสั่งของราชินีบีรู ฝ่ายกั้นน้ำได้ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อกั้นน้ำหรือทำให้น้ำไหลช้าลง จากแม่น้ำปัตตานีไปยังแม่น้ำกรือเซะ ฝ่ายกั้นน้ำนี้ทำด้วยหิน และจนกระทั่งในปัจจุบันหมู่บ้านที่สร้างเขื่อนกั้นน้ำแห่งนี้รู้จักในชื่อว่า หมู่บ้านตาเนาะบาตู (เขื่อนหิน)

นอกจากนั้น ในยุคสมัยราชินีบีรู ยังสามารถเห็นถึงการพยายามสร้างปืนใหญ่ 3 กระบอก อันเป็นขึ้นตอนในการเตรียมพร้อมเพื่อเผชิญกับการโจมตีจากสยาม ท่านสามารถติดตามการดำเนินการสร้างปืนใหญ่เหล่านี้ พร้อมกับมุขปาฐะที่เกี่ยวข้องกันกับปืนใหญ่ ในบทอื่นของหนังสือเล่มนี้

ราชินีบีรูเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1624 พระองค์เป็นที่รู้จักกันในนามของอัลมาร์ฮูมตือเงาะห์

ราชินีอูงู (ค.ศ. 1624 - 1635)

พระองค์เป็นน้องสาวของราชินีบีรู และเป็นอดีตพระมเหสีรัฐปาหัง เดินทางกลับมาปัตตานีหลังจากอยู่ที่รัฐปาหังเป็นเวลาถึง 30 ปี จากการสิ้นพระชนม์ของผู้เป็นพระสวามีชื่อว่า สุลต่านอับดุลกาฟูร์ ในปี ค.ศ. 1614

ถือว่าเป็นกษัตริย์ที่เป็นสตรีของปัตตานีที่มีความมุ่งมั่นและมีความใฝ่ฝันสูง ในยุคสมัยการปกครองของ

พระองค์ที่ไม่นาน ไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ ได้ทำให้พระองค์เข้ามีส่วนในสงครามขนาดใหญ่ถึง 2 ครั้ง กับศัตรูถาวรของปัตตานี คือ สยาม ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1632 ส่วนครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1633 แต่ต่อเนื่องกันจนถึงปี ค.ศ. 1634 ถึงแม้ว่าได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากฝ่ายฮอลันดาที่กรุงเทพฯ และบัตรตาเวีย* อย่างไรก็ดีสยามไม่สามารถยึดครองปัตตานีในสงครามทั้งสองครั้งที่ถือว่าใหญ่มาก

กล่าวกันว่าการป้องกัน เมืองของปัตตานีในสมัยราชินีอูงูมีความมั่นคงมาก แม่น้ำปัตตานี แม้ว่าจะลึกแต่ก็ค่อนข้างแคบ บรรดาเรือของศัตรูที่เข้ามาโดยผ่านปากแม่น้ำที่ชื่อว่ากัวลาบือเกาะห์ ก็จะได้รับการต้อนรับด้วยห่ากระสุนจากปืนใหญ่ ปืนเล็ก และลูกธนูอาบยาพิษของคนปัตตานี ทางด้านริมทะเลนั้น มีป้องปราการอยู่ 2 แห่งที่มีความมั่นคงยิ่ง แห่งแรกตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองจากกัวลาบือซาร์ สามารถป้องกันศัตรูเข้าสู่ตัวเมืองจากด้านตะวันตกจนถึงฝั่งแม่น้ำปัตตานีที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับตัวเมือง และอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองจากกัวลารา (Kuala Ra) สามารถป้องกันจากศัตรู เข้าสู่ตัวเมืองจากด้านตะวันออก

นอกจากนั้น ตัวเมืองของปัตตานีเองได้รับการป้องกันจากด้านตะวันออก ด้วยป้อมปราการที่รู้จักในนามชื่อ “ป้องปราการราชินีบีรู”

สำหรับการเผชิญกับการโจมตีของสยามต่อปัตตานี ราชินีอูงูได้ระดมกำลังพลกองทัพถึง 23,000 คน เสริมด้วยการช่วยเหลือจากกลันตัน, ปาหัง และโยโฮร์ กองทัพนี้มีกำลังทั้งหมด 30,000 คน ด้วยการดำเนินการวางแผนเช่นนี้ ทำให้สามารถป้องกันการโจมตีของสยามได้ทั้งสองครั้ง

ในอีก 2 ปีต่อมา คือปี ค.ศ. 1636 สยามได้มีการวางแผนจะโจมตีปัตตานีอีกครั้งโดยครั้งนี้ได้รับสัญญาการร่วมมือและช่วยเหลือจากฮอลันดาอีก อย่างไรก็ตามการวางแผนครั้งนี้ได้ถูกยกเลิกไปจากการเข้ามาร่วมมือของสุลต่านริยาลุดดิน มูฮัมหมัด ชาห์ (ค.ศ. 1612 - 1652) จากรัฐเคดะห์ และด้วยการทำนายของพระสงฆ์พุทธที่ได้กล่าวไว้ว่า ถ้ามีการดำเนินการโจมตี สยามก็จะพ่ายแพ้ และยิ่งประสบกับความพ่ายแพ้ที่หนักหน่วงกว่าเดิมอีก ต่อมาได้มีการดำเนินการทางการทูตเกิดขึ้น เพื่อสร้างความปรองดองระหว่างปัตตานีกับสยาม คณะทูตหนึ่งจากสยามได้เดินทางมายังพระราชวังปัตตานีในปี ค.ศ. 1636 เพื่อเรียกร้องให้กษัตริย์ปัตตานีองค์ใหม่คือ ราชินีกูนิงให้ขอโทษต่ออาณาจักรสยาม พร้อมให้ส่งเครื่องราชบรรณาการ (ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง) อีกครั้งหลังจากหยุดขาดไปในสมัยราชินีอูงู

ถึงแม้ว่าฝ่ายปัตตานีจะแข็งกร้าวและปฏิเสธคำเรียกร้องมาแต่ต้น ด้วยการให้คำปรึกษาของฮอลันดา ราชินีแห่งปัตตานีได้ยินยอมส่งคณะทูตสันติภาพในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1636 ด้วยความเห็นชอบร่วมกันโดยปัตตานีเห็นด้วยที่จะส่งเครื่องราชบรรณาการ (ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง) แก่สยามอีกครั้ง ส่วนสยามก็เห็นด้วยที่จะแต่งตั้งผู้รับผิดชอบคนหนึ่งมีสถานะเป็นทูตที่ปัตตานี แสดงถึงความเป็นมิตรระหว่างรัฐทั้งสอง

ราชินีกูนิง (ค.ศ. 1635 - 1651)
ราชินีอูงูสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1635 ทิ้งรัฐปัตตานีในสภาพที่ “สงบสุขเป็นการชั่วคราว” ในความสัมพันธ์ของปัตตานีกับกษัตริย์สยามที่โลภที่ชื่อว่า พระเจ้าประสาททอง พระองค์เป็นที่รู้จักภายหลังการเสียชีวิตในนามของอัลมาร์ฮูมปาหัง ผู้สืบราชบัลลังก์แทนคือราชธิดาที่เกิดจากการอภิเษกกับสุลต่านอับดุบกาฟูร์แห่งปาหัง ซึ่งมีชื่อว่า ราชินีกูนิง

ในยุคสมัยราชีนีกูนิง มีอีกสงครามหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างปัตตานีกับสยามสงครามครั้งเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1638 และเป็นสงครามครั้งที่สี่ระหว่างทั้งสองรัฐ นับแต่ปี ค.ศ. 1603 นอกจากแหล่งข้อมูลจากหนังสือ “ประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานี” ของอิบราฮิม ชุกรี เกือบจะไม่มีแหล่งข้อมูลอื่นใดที่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์สงครามปัตตานีกับสยามในครั้งนี้ จากหนังสือประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานี มีการเข้าใจว่าสงครามครั้งนี้ไม่ได้ใหญ่เหมือนดังสงครามในปี ค.ศ. 1632 ถึง ปี ค.ศ. 1634 และเป็นเพียงกุศโลบายทางการเมืองของกษัตริย์สยามคนใหม่ที่เพิ่งขึ้นครองราชย์ (หนังสือ ประวัติอาณาจักรมลายูปัตตานี หน้า 74)

ในปี ค.ศ. 1641 พระองค์ได้ไปเยี่ยมเยียนยังอยุธยา เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างปัตตานีกับสยาม ภายหลังจากเหตุการณ์นี้ ปัตตานีอยู่ในความไม่สงบได้ในเวลาหนึ่งโดยไม่ถูกรบกวน พร้อมเข้าสู่ยุคทองทั้งเป็นรัฐที่มีอิทธิพลยิ่งในบรรดารัฐมลายูในเวลานั้น

ราชินีกูนิงมีพระสวามีเป็นพระอุปราชแห่งรัฐโยโฮร์ ผู้เป็นพระอนุชาสุดท้องของสุลต่านอับดุลจาลิล ชาห์ที่ 3 (สุลต่านโยโฮร์ ค.ศ. 1623 - 1677) การสมรสครั้งนี้เกิดขึ้นที่ปัตตานีในปี ค.ศ. 1632 ไม่นานหลังจากเกิดสงครามระหว่างปัตตานีกับสยาม ในปีดังกล่าว พระองค์เป็นกษัตริย์ร่ำรวยและมีลักษณะเป็นกษัตริย์ผู้หนึ่งที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนและรัฐของพระองค์

พระองค์ได้รับกล่าวว่ามีความสนใจในการค้าขายสูงและกล่าวว่ามีเรือสินค้าของตนเองในการทำการค้าในภูมิภาคมลายู ภายใต้การดูแลควบคุมของบุคคลผู้หนึ่งที่เรียกว่า “พ่อค้าของกษัตริย์” (Saudagar Raja) ด้วยการริเริ่มของพระองค์ มีการเกณฑ์แรงงานอย่างใหญ่หลวงเพื่อทากรขุดลอกปากแม่น้ำปัตตานีให้ลึก จากที่นับวันจะตื้นเขินในสมัยของพระองค์ เชื่อกันว่าการพยายามครั้งนี้อันเกิดจากการติดขัดในการเดินทางเข้าออกของบรรดาเรือสินค้าของพระองค์ผ่านปากแม่น้ำดังกล่าว

นอกจากการดำเนินการค้าขาย ราชินีกูนิงก็ได้รับการบันทึกว่ามีความสนใจในการเกษตร ทำให้ในสมัยที่พระองค์เป็นผู้ปกครองนั้นไม่เคยที่พระองค์จะใช้เงินการคลังของรัฐในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ถึงแม้ว่าพระองค์จะมีสิทธิ์ในการใช้เงินเหล่านั้นนอกจากได้ใช้จ่ายเงินในชีวิตประจำวันจากรายได้ของการขายดอกไม้และผลผลิตที่มีอยู่ภายในสวนของพระองค์เองเท่านั้น” (หนังสือประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานีหน้า 72)

ในตอนช่วงท้ายของการปกครองของราชินีกูนิงได้มีส่วนร่วมในการสัมพันธ์ “อันไม่ปกติ” กับราชาซักตีที่ 1 เจ้าเมืองกลันตัน (Datu Kelantan) ที่ปกครองอยู่ที่เมืองปังกาลัน ดาตู เป็นที่เชื่อกันว่าความสัมพันธ์เช่นนี้เกิดจากความไม่พึงพอใจของราชาซักตีที่ 1 ที่มีต่อราชินีกูนิงที่ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ต่อการกระทำของน้าชายของเขา (น้าชายของราชาซักตีที่ 1) ที่ได้แย่งชิงสิทธิ์เหนือราชบัลลังก์แห่งดาตูกลันตัน

ดังเช่นที่ได้มีการกล่าวไว้ในประวัติศาสตร์กลันตัน บิดาของราชาซักตีที่ 1 คือ ดาตูอับดุลกาเดร์ (ก่อนหน้านี้ได้ใช้ตำแหน่งว่าสุลต่านอับดุลกาเดร์) เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1632 ความจริงพระองค์ต้องได้รับการสืบทอดโดยราชาซักตีที่ 1 ผู้เป็นบุตร แต่สิทธิ์นี้ถูกแย่งชิงไปโดยน้าชายของเขาที่ชื่อราชาอับดุลลอฮฺ ได้กระทำการตามอำเภอใจในการขึ้นครองราชย์เป็นดาตูกลันตัน จึงได้ปลดปล่อยกลันตันออกจากปัตตานี กลับมาใช้นามใหม่ว่า “สุลต่าน” และได้ปกครองอยู่ที่โกตา เยอลาซิน (Jelasin) สถานการณ์เช่นนี้เหมือนดังอำนาจทางการเมืองของกลันตันมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งยอมรับว่าราชาอับดุลลอฮฺเป็นสุลต่าน และอีกส่วนหนึ่งยอมรับว่าราชาซักตีเป็นดาตูแห่งกลันตัน ที่

ถูกต้องตามคำบอกเล่าในประวัติศาสตร์กลันตัน ราชาอับดุลลอฮฺมีอำนาจเริ่มตั้งแต่พื้นที่มือลอร์ และโกตา เยอลาซิน ตรงไปยังตอนเหนือ ส่วนราชาซักตีที่ 1 มีอำนาจบริเวณโกตาปังกาลันดาตูและพื้นที่ตอนใต้ รวมทั้งหมดของพื้นที่กลันตันตะวันตก

นับตั้งแต่สมัยพระมารดาของพระองค์ที่มีพระนามว่าราชินีอูงู บุคคลทั้งสองนี้ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ปกครองกลันตันที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าในปี ค.ศ. 1638 ราชินีแห่งปัตตานีคนใหม่ที่มีพระนามว่า ราชินีกูนิงได้ให้การรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ราชาซักตีที่ 1 ว่าเป็นดาตูแห่งกลันตันที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ดีสุลต่านอับดุลลอฮฺก็ยังคงถูกปล่อยให้เป็นสุลต่านที่กลันตัน ตราบจนกระทั่งได้สิ้นชีวิตไปในปี ค.ศ. 1646 ต่อมาตำแหน่งของเขาถกสืบทอดโดยราชาอับดุลราฮิมผู้เป็นน้องชาย ด้วยใช้นามว่าสุลต่านอับดุลราฮิม ซึ่งได้ปกครองกลันตันในบริเวณดินแดนของเขาด้วยความกดขี่ทารุณ

ในขั้นนี้ ราชาซักตีที่ 1 โดยเฉพาะและชาวกลันตันโดยรวมกำลังรอดูว่าราชินีกูนิงจะกระทำการอย่างใด ในฐานะที่พระองค์เป็นผู้ปกครองส่วนกลางที่ปัตตานี ที่มีต่อการปกครองที่กดขี่ทารุณของราชาอับดุลราฮิมผู้นี้ หลังจากที่ได้รอเป็นเวลานาน และเป็นที่ชัดเจนว่าราชินีกูนิงมีลักษณะ “ลอยตัว"” ในเรื่องเหล่านี้ ราชาซักตีที่ 1 เริ่มรู้สึกว่าราชินีกูนิงคล้ายมีเจตนาจะปล่อยละเลยรัฐกลันตันให้อยู่ในสถานการณ์วุ่นวาย

ถึงแม้ว่าไม่เข้าร่วมในสนามระหว่างพี่น้อง ราชาซักตีที่ 1 จึงคิดว่าถ้าหากว่าสงครามระหว่างพี่น้องเช่นพระองค์กับสุลต่านอับดุลราฮิมเกิดขึ้น ดังนั้นอำนาจศูนย์กลางที่ปัตตานีจะรู้สึกดีใจยิ่ง ด้วยเพราะนับแต่สมัยพระมาดาของพระองค์ที่ชื่อราชินีอูงู ก็มีความตั้งใจที่จะทำลายตระกูลของดาตูแห่งกลันตันคนเก่า และแทนที่ด้วยดาตูคนใหม่ที่พร้อมรับคำสั่งใด ๆ จากศูนย์อำนาจ แถมยังสามารถกดดันให้มีการส่งเครื่องราชบรรณาการและภาษีของกลันตันดังที่เคยเกิดขึ้นครั้งกลันตันได้รวมอยู่ในปัตตานีเมื่อครั้งแรก

ราซาซักตีที่ 1 ได้เริ่มรวบรวมกองทัพเพื่อก่อกบฏต่อต้านอำนาจส่วนกลางที่ปัตตานี ขั้นแรกในการดำเนินการนั้นคือได้กระทำการโจมตีเพื่อรวมกลันตันเสียก่อนรวมปี ค.ศ. 1649 พระองค์ได้โจมตีโกตามะห์ลีฆัย (สถานที่แห่งหนึ่งใกล้กับมือลอร์ในปัจจุบัน) สถานที่พำนักของสุลต่านอับดุลราฮิม การโจมตีครั้งนี้ได้กระทำการในเวลากลางคืน ขณะที่สุลต่านอับดุลราฮิมกำลังมีการรื่นเริงที่ใหญ่โต เวลานั้นประตูพระราชวังได้เปิดเพื่อให้คนจำนวนมากเข้าออกมาชมการละเล่นศิลปะและละครท้องถิ่น การปะทะกันได้เกิดขึ้นจนกระทั่วเช้า และในที่สุดสุลต่านอับดุลราฮิมถูกราชาซักตีแทงจนตายที่ริมทะเลสาบที่มีชื่อว่าทะเลสาบเลอลายังมันดี (Tasik Lelayang Mandi)

และด้วยการฆาตกรรมในครั้งนี้ ทำให้กลันตันซึ่งเดิมมีอยู่ 2 ส่วน ปัจจุบันได้กลับมาเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้อำนาจของราชาซักตีที่ 1 เวลา 1 ปีต่อมาคือปี ค.ศ. 1650 พระองค์ได้โจมตีอำนาจส่วนกลางของพระองค์เองนั้นคือปัตตานี และได้โค่นล้มราชินีกูนิงภายหลังจากมีชัยชนะเหนือปัตตานี พระองค์ดำเนินต่อเนื่องไปแย่งชิงสงขลา พัทลุงและนครศรีธรรมราช

ราชินีกูนิงได้ลงจากบัลลังก์ในปี ค.ศ. 1651 แล้วจึงได้เดินทางพร้อมผู้ติดตามไปยังรัฐของผู้เป็นสามี คือ รัฐโยโฮร์ ในระหว่างการแล่นเรือกลางทะเล บังเอิญขณะที่อยู่บริเวณชายฝั่งกลันตัน พระองค์ได้เจ็บลงและได้ขึ้นบกที่โกตาปังกาลันดาตู ในหลายเดือนต่อมาพระองค์ก็ได้สิ้นชีวิตที่กลัน และถูกฝังที่หมู่บ้านปันโจร์ (Pancor) กือมูมินโดยที่ฝังศพของพระองค์ก็มีอยู่จนกระทั่งถึงปัจจุบัน และรู้จักในนามของที่ฝังศพนางจายัง

ปัตตานีในศตวรรษที่ 17

ถึงแม้ว่าปัญหาเรื้อรังด้วยเกิดสงครามหลายครั้งกับสยาม แล้วก็ปัญหาวิกฤตการณ์ภายในเกี่ยวกับดาตูแห่งกลันตัน ถึงอย่างไรก็ดี ปัตตานีในศตวรรษที่ 17 นั้นเป็นรัฐหนึ่งที่มีอำนาจมาก มีอิทธิพล เจริญรุ่งเรืองและอุดมสมบูรณ์ ตลอดทั้งศตวรรษนี้คนตะวันตกได้เดินทางสู่โลกตะวันออก ทำการติดต่อทางการค้ากับพวกเขาและยังยึดครองพวกเขาอีกด้วย มะละกาถูกโปรตุเกสยึดครอง ราวต้น ค.ศ. 1511 ติดตามด้วยฮอลันดาใน ค.ศ. 1641 มะนิลาตกอยู่ภายใต้อำนาจของสเปนในปี ค.ศ. 1571 และฮอลันดายึดครองซุนดา  กือลาปา (Sunda Kelapa) (ต่อมาพวกเขาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นบัตตาเวีย) ในปี ค.ศ. 1619 ในเรื่องนี้อังกฤษค่อนข้างช้ามาก

การหลุดพ้นการกระทำอันชั่วร้ายของชาติตะวันตกเหล่านี้ ปัตตานีกลายเป็นรัฐอุดมสมบูรณ์ เพราะการเดินทางมาของพวกเขา ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกว้างขวางขึ้นส่วนการแข่งขันทางการค้าระหว่างพวกเขากันเองได้ทำให้มีผลกำไรเข้ามาอย่างท่วมท้น

มีบันทึกจำนวนมากที่ได้ค้นพบที่กล่าวถึงปัตตานีในราวศตวรรษนี้ นักเขียนชาวฮอลันดา ผู้หนึ่งที่เดินทางไปถึงปัตตานีในด้านศตวรรษที่ 17 มีชื่อว่า แวนเนค (Van Neck) ได้กล่าวชมเชยการปกครองของราชินีฮีเยา ดังคำเขียนของเขา :



“พระนางได้ขึ้นครองราชย์ด้วยความสงบสุข พร้อมกับบรรดาขุนนางของพระนาง (ผู้ซึ่งพวกเขาเรียกว่าเสนาบดี-Menteri) เป็นเวลาประมาณ 13 หรือ 15 ปี มวลประชาราษฎร์ของพระองค์ต่างชื่นชมการปกครองของพระองค์ว่าดีกว่ากษัตริย์องค์ที่ผ่านมา เช่น อาหารการกินมีราคาถูกมา ซึ่งในสมัยกษัตริย์องค์ก่อนราคาแพงกว่าตั้งครึ่งหนึ่งอันเป็นผลมาจากการวางกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด”

นักเขียนชาวฮอลันดาอีกผู้หนึ่งที่ชื่อว่า จอห์น นิยูฮอฟฟ์ (John Nieuhoff) ที่ได้เดินทางมายังปัตตานีในปี ค.ศ. 1660 ได้กล่าวถึงรัฐปัตตานีในสมัยนั้นว่ามีชายแดนติดต่อกับปาหังทางด้านทิศใต้และติดต่อกับนครศรีธรรมราชในด้านทิศเหนือ เขายังได้กล่าวอีกว่า “นครศรีธรรมราชในเวลานั้นได้รวมเป็นหนึ่งกับสยาม ดังเช่นประเทศรัฐแห่งหนึ่ง” ชื่อของปัตตานีได้นำมาจากชื่อตัวเมืองที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 756 องศาและตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากทะเล ประชากรปัตตานีได้มีการจินตนาภาพว่ามีจำนวนมากจนกระทั่งสามารถระดมกองทัพได้ถึง 180,000 คนในสนามสงคราม ส่วนที่ตัวเมืองปัตตานีและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้นมีกำลังทหารอยู่ถึง 10,000 คน

ก่อนหน้านิยูฮอฟฟ์ไม่นาน มีกัปตันชนชาติอังกฤษที่เดินทางมาเยียนปัตตานีในสมัยราชินีกูนิง มีชื่อว่า อเลกซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) ได้เขียนด้วยความรู้สึกและจินตนาการที่ใกล้เคียงกัน เขากล่าวไว้ว่า :

“ประชากรทั้งหมดในรัฐปัตตานีในสมัยนั้นมีการคำนวณจำนวนผู้ชาย (ไม่ได้รวมผู้หญิงไว้ด้วย) ตั้งแต่อายุ  16 ปี จนถึง 60 ปี มีจำนวนถึง 150,000 คน ประชากรในตัวเมืองปัตตานีก็มีเป็นจำนวนมากจนกระทั่งกลายเป็นเมืองที่ใหญ่พร้อม บ้านที่ปลูกใกล้ชิดเป็นจำนวนมากนั้นคือเริ่มตั้งแต่ประตูพระราชวังจนถึงหมู่บ้านบานาบ้านไม่ได้ขาดตอนเลย แม้นว่ามีแมวตัวหนึ่งเดินอยู่บนหลังคาบ้านเหล่านั้นเริ่มจากราชวังจนถึงปลายสุดของตัวเมือง แมวสามารถเดินได้ตลอดโดยไม่จำเป็นต้องลงสู่พื้นดิน”

เกี่ยวกับการค้าขายที่ท่าเทียบเรือปัตตานี, นิยูฮอฟฟ์ได้กล่าวไว้ว่ารัฐปัตตานีในสมัยนั้นมีอำนาจทางด้านเรือสินค้ามากกว่าโยโฮร์และปาหัง หรือรัฐอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับรัฐปัตตานี[14] โกดินโฮ เดอ เอรีเดีย (Godinho de Eredia) ชาวโปรตุเกสคนหนึ่งผู้เกิดที่มะละกา ได้กล่าวถึงปัตตานีว่าเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่งและเป็นเมืองเอกสำหรับคนมลายูในสมัยนั้น (ศตวรรษที่ 17)

ส่วนนักเดินทางชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า นิโคลัส แกร์วัยเซ่ (Nicholas Gervaise) ผู้ซึ่งได้เดินทางมาเยี่ยมปัตตานีในช่วงปีทศวรรษที่ 1680 ได้กล่าวว่า “ปัตตานีไม่ได้กว้างไปกว่าสามรัฐอื่น (โยโฮร์, จัมบีและเคดะห์) แต่ปัตตานีมีชื่อเสียงกว่าและเป็นที่รู้จักกันดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การปฏิวัติของตนเองและการบริหารภายในรัฐ

การส่งสินค้าของปัตตานีในสมัยนั้น[15] นอกจากนั้นมีเกลือ, การปสุสัตว์ เช่น วัว และไก่ เครื่องเทศ ของป่า เช่นไม้หอม (Santalum albun) สีขาวและสีเหลือง หนังสัตว์ เขาสัตว์ งาช้าง และอื่น ๆ อีก ส่วนการนำสินค้าเขาของปัตตานีรวมทั้งเครื่องปั้นดินเผาและผ้ามาจากจีนและญี่ปุ่น ฝ้ายและอบเชย จากจัมปาและกัมพูชา การะบูรและอัญมณีจากบอร์เนียว, จันทน์เทศและก้านพลูจากอัมบอนและอื่น ๆ เมื่อดูรายชื่อเหล่านี้ เป็นที่ชัดเจนว่าการค้าขายของปัตตานีในสมัยศตวรรษที่ 17 ไม่เพียงการมีส่วนร่วมของบรรดารัฐในภูมิภาคมลายูเท่านั้น แต่ยังมีบรรดารัฐในเอเชียอื่น รวมทั้งอันนาม (เวียดนาม) พะโค (พม่า) และบังคลา

ถึงแม้ว่าปลายศตวรรษที่ 17 ปัตตานีเริ่มสูญเสียยุคทองของตนเอง ความเข้มแข็งทางการเมืองและวิธีการดึงให้ท่าเทียบเรือของตนเองให้เป็นศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญในภูมิภาคนี้มีสภาพที่มืดมัวและสลัว สถานที่และสถานภาพของปัตตานีถูกผู้อื่นแทนที่และบรรดาพ่อค้าเริ่มย้ายไปยังที่นั้นราวปลายศตวรรษที่  17 นี้ ปัตตานีถูกท้าทายอย่างหนักจากศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่ อย่างเช่น โยโฮร์ อาเจะห์ และบันเตน แล้วก็มะละกา และปัตตาเวียภายใต้อำนาจของฮอลันดา ผลจากการนี้ทำให้ท่าเทียบเรือปัตตานีเงียบเหงาและถูกทิ้งร้างไป

ดังที่เป็นรัฐทางทะเล เศรษฐกิจปัตตานีผูกพันอยู่กับการค้าขายความเสื่อมลงของปัตตานีในด้านการค้าขายได้ทำให้เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจของปัตตานีในปลายศตวรรษที่ 17 เริ่มช้าลงและตกลงมา ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่าตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 18 ท่าเทียบเรือปัตตานีสามารถรักษาสภาพเป็นเพียงท่าเทียบเรือหนึ่งในการค้าขายของท้องถิ่นเท่านั้น ด้วยความเสื่อมลงเช่นนี้ ต่อมาได้เพิ่มปัจจัยทางการเมืองภายในรัฐที่ไม่มั่นคงและการโจมตีจากสยามที่ไม่หยุดยั้งต่อปัตตานี ทำให้ปัตตานีในศตวรรษที่ 18 เป็นเพียงรัฐของนักการเกษตร (Petani) หรือการเกษตรกรรม (Pertanian) ที่ยากจนและสูญเขี้ยวเล็บทางการเมืองและอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่ปัตตานีเองเคยมีอยู่

[1] นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1538 เฟอร์นันโด เมนเดช ปินโต (Fernando Mendez Pinto) ได้รายงานว่ามีพ่อค้าชาวญี่ปุ่นจำนวนมากที่ปัตตานี

[2] เงื่อนไขเหล่านี้คือ กลันตันต้องมีพื้นที่ดินแดนของตนเองด้วยการมีอำนาจเหนือดินแดนนั้น (ปกครองตนเอง) รวมทั้งไม่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการหรือภาษีจากกลันตันในการรวมดินแดนครั้งนี้

[3] จำต้องกล่าวได้ไว้ว่า การรวมดินแดนครั้งนี้เป็นการรวมดินแดนครั้งที่ 2 ที่กลันตันเข้าไปอยู่ในสหพันธรัฐปัตตานี การรวมดินแดนที่หนึ่งที่หนึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1502 แต่สิ้นสุดลงในปลายปี ค.ศ. 1524

*น่าจะเป็นอยุธยามากว่า เพราะขณะนั้นเมืองหลวงตั้งอยู่ที่อยุธยา – ผู้แปล

[4] ในขณะที่การโจมตีทั้งสองครั้งที่มีต่อปัตตานี สยามถูกปกครองโดยพระเจ้าประสาททอง ผ่านการยึดอำนาจด้วยการสังหารพระเจ้าอาทิตย์วงศ์ในเดือนกันยายนปี ค.ศ. 1629 พระราชินีอูงูได้เห็นว่าพระเจ้าประสาททองเป็นผู้ที่มีความประพฤติไม่ดีเป็นฆาตกรและผู้ทรยศ ไม่ยอมรับกษัตริย์สยามองค์ใหม่นี้ และได้ปฏิเสธการส่งเครื่องราชบรรณาการ (ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง) แก่สยาม พระองค์ได้ดำเนินการที่ไกลกว่านั้น โดยการประกาศเอกราชแก่ปัตตานีจากการอยู่ภายใต้อำนาจของสยาม

[5] ดู : อับดุลลอฮฺ มูฮัมหมัด (นากูลา) “ประวัติศาสตร์กลันตัน (ในหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา),เอกสารใน “การประชุมสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมดินแดนกลันตัน” ที่โกตาบารู ในวันที่ 12-13 ใน Dagh Rehister ได้กล่าวไว้ว่ารัฐปาหังและโยโฮร์ได้ส่งเรือขนาดใหญ่ (Ghali besar) จำนวน 50 ลำ พร้อมกำลังพล 5,000 คน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1634 สำหรับการช่วยเหลือปัตตานี

[6] วู๊ด (wood) ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า ประวัติศาสตร์สยาม (History of Siam) ได้กล่าวว่ามีการเตรียมพร้อมในการโจมตีปัตตานีจริงในปี ค.ศ. 1636 (ไม่ใช่ ค.ศ. 1638) แต่ถูกยกเลิกไปตามคำแนะนำของฮอลันดา การอ้างอิงในประวัติศาสตร์สยามนั้นไม่ปรากฏว่ามีกษัตริย์สยามองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ ในปี ค.ศ. 1638 หรือในปีอื่นในทศวรรษที่ 1630 สยามยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าประสาททอง จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1656

[7] ข้อมูลบางแห่งได้กล่าวในปี ค.ศ.1644 ในหนังสือประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานีได้กล่าวว่ามีคณะของการสมรสที่ประกอบด้วยคนจำนวน 3,000 คน พร้อมเรือใบจำนวนนับสิบลำนี้สามารถช่วยเหลือสกัดกั้นการโจมตีของสยามต่อปัตตานี ภายหลังจากพิธีสมรสผ่านพ้นไป อุปราชแห่งรัฐปาหังตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ปัตตานี

[8] ดาตู (Datu) เป็นตำแหน่งของผู้ปกครองกลันตันในสมัยนั้น ตำแหน่งนี้มีการใช้แทนตำแหน่ง “สุลต่าน” ที่ได้มีการยกเลิกหลังจากกลันตันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธปัตตานีในปี ค.ศ. 1619 ในความหมายทางการเมืองสมัยใหม่มีความหมายเหมือนกับคำว่า “Wali – ตัวแทน” หรือผู้ว่าการที่ได้รับการแต่งตั้งจากอำนาจส่วนกลางในการปกครองดินแดนส่วนใดส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใต้อำนาจของส่วนกลาง

[9] บรรดารัฐหรือดินแดนที่ราชาซักตีที่ 1 ยึดครองนี้ต่อมาได้รวมเป็นหนึ่งภายใต้ชื่อว่า ปัตตานีใหญ่ (Patani Besar) เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ข้อมูลฝ่ายสยามได้กล่าวว่าในปี ค.ศ. 1648 เกิดเหตุการณ์วุ่นวายที่สงขลา และถึงแม้ว่าจะได้รับการปฏิบัติการโต้ตอบแต่ไม่อาจมีชัยชนะเหนือสงขลา ในปี ค.ศ. 1655 อีกครั้งหนึ่งการปฏิบัติการเพื่อเข้าตีสงขลาแต่ “แม่ทัพที่เป็นผู้นำกองทัพเรือสยามได้สามารถหนีเอาตัวรอดและกลับไปยังสยามด้วยความอับอาย” (วู๊ด, อ้างแล้ว , หน้า 183-184)

[10] ดู เอ.ทิว และดี.เค วัยแอต, ตำนานปัตตานี, มาร์ตีนุส นิจฮอฟฟ์, กรุงเฮก 1970, หน้า 242

[11] ชายแดนดังที่กล่าวมานี้ประกอบด้วยบรรดารัฐต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช่น ตรังกานู, กลันตัน, ปัตตานีเดิม, สงขลาและพัทลุง มโนภาพที่กล่าวมานี้ตรงกับบันทึกประวัติศาสตร์กลันตันที่ได้กล่าวไว้ว่ากลางศตวรรษที่ 17 บรรดารัฐทั้งหมดเหล่านี้รวมกันเป็นหนึ่งภายใต้ชื่อ “รัฐปัตตานีใหญ่” ปกครองโดยราชาซักตีที่ 1 (ดูแผนที่)

[12] เจ.เจ.ซีฮัน “ผู้มาเยี่ยมแหลมมลายูในศตวรรษที่ 17” ในวารสาร JIMBRAS เล่มที่ 12 ส่วนที่ 2 (คิดลอกจากนากูลา, อ้างแล้ว,หน้า 20)

[13] อิบราฮิม ซุกรี, อ้างแล้ว, หน้า77

[14] เจ.เจ.ซีอาน,อ้างแล้ว

[15] นิโคลัส แกร์วัยเซ่, Historie Naturelle et Politique du Rayaume de Siam พิมพ์ครั้งที่ 2 ปารีน, 1960 หน้า 316-317 (คัดลอกจากมูฮัมหมัด ยูซูฟ ฮาชิม, ประวัติศาสตร์มลายูในภูมิภาคมลายู (Persejarahan Melayu Nusantara) บริษัทเทคส์ พัลลิชชิ่ง จำกัด, กัวลาลัมเปอร์, 1988 หน้า 302

Khamis, 4 Oktober 2007

ขนบธรรมเนียมประเพณีมลายูปาตานี


โดย Nik Abdul Rakib Bin Nik Hassan
ขนบธรรมเนียมชาวมลายูปาตานีนั้น จะขอกล่าวถึงบางอย่างที่ส่วนหนึ่งยังคงมีการปฏิบัติในหมู่บ้านบางแห่ง และบางอย่างก็ได้สูญหายไปจากหมู่บ้านไปแล้วตามกาลเวลา ขนบธรรมเนียมประเพณีเหล่านี้ เช่น

1. การลงแขกเกี่ยวข้าว ในอดีตชาวบ้านในกลุ่มหมู่บ้านตัวอย่างทั้งที่มีความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายูและที่คลายความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายู จะมีประเพณีการร่วมกันลงแขกเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งในภาษามลายูกลางเรียกว่าเป็นการ Gotong Royong ส่วนภาษามลายูท้องถิ่นปาตานีจะเรียกว่า ปากะแต (pakatan) โดยชาวบ้านจะมีการร่วมมือลงแขก ช่วยกันเก็บเกี่ยวข้าวเปลือก แต่ด้วยกระแสสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ประเพณีการงแขกเกี่ยวข้าวในชุมชนของกลุ่มหมู่บ้านตัวอย่างได้สูญหายไป ในปัจจุบันนั้นการลงแขกเกี่ยวข้าวแทบจะไม่มีอีกแล้ว แต่จะเปลี่ยนวิธีการใหม่โดยมีชาวบ้านบางส่วนขอเข้าไปช่วยเกี่ยวข้าว โดยแลกเปลี่ยนขอสิ่งตอบแทนจากเจ้าของนาข้าวเป็นการขอรับซากาตข้าวเปลือก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการที่เจ้าของข้าวจ้างคนในพื้นที่และต่างพื้นที่มาเก็บเกี่ยวข้าวแทน การลงแขกเกี่ยวข้าวจะมีแทบทุกหมู่บ้านตัวอย่าง ยกเว้นหมู่บ้านตัวอย่างที่มีความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายูในจังหวัดปัตตานีที่อยู่ริมฝั่งทะเล ซึ่งชาวบ้านจะประกอบอาชีพการประมงแทนการปลูกข้าว ส่วนหมู่บ้านตัวอย่างที่มีความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายูในจังหวัดนราธิวาส แม้จะอยู่ใกล้ทะเล แต่ในอดีตนั้นชาวบ้านจะปลูกข้าวเพิ่งจะเลิกปลูกข้าวเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ด้วยปัญหาด้านที่ดินมีความเค็ม

2. การเลี้ยงข้าวใหม่ เป็นประเพณีของชาวบ้านในกลุ่มหมู่บ้านตัวอย่างที่มีการปลูกข้าวทั้งที่อยู่ในกลุ่มหมู่บ้านตัวอย่างที่มีความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายูและกลุ่มหมู่บ้านตัวอย่างที่คลายความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายู เมื่อมีการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะนำข้าวใหม่ที่เก็บเกี่ยวมาจัดเลี้ยงเพื่อนบ้าน การเลี้ยงนี้บางส่วนอาจหุงเป็นข้าวส่วย รับประทานกับกับข้าว แต่บางส่วนอาจแปรรูปเป็นขนมจีนมาจัดเลี้ยง ซึ่งการเลี้ยงข้าวใหม่ หรือที่เรียกว่า มาแก บือร๊ะบารู ยังคงมีอยู่ทั้งในหมู่บ้านตัวอย่างที่มีความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายูและหมู่บ้านตัวอย่างที่คลายความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายู

3. การลงแขกย้ายบ้าน ในอดีตนั้นกลุ่มหมู่บ้านตัวอย่างที่มีความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายูและกลุ่มหมู่บ้านตัวอย่างที่คลายความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายูจะสร้างบ้านเรือนโดยการยกพื้น ต่อมาเมื่อเจ้าของบ้านต้องการเคลื่อนย้ายที่ตั้งบ้าน จึงต้องเกณฑ์เพื่อนบ้านมาช่วยกันยกบ้าน ถึงอย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่จะสร้างบ้านบนดิน แม้จะยังคงมีบ้านที่สร้างยกพื้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างบ้านที่มั่นคงยากลำบากต่อการยกย้ายบ้าน ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังคงมีบ้านที่ยกพื้นและเจ้าของบ้านต้องการย้ายบ้านไปปลูกในที่ใหม่ ดังนั้นจึงยังคงต้องเกณฑ์เพื่อนบ้านมายกเคลื่อนย้ายบ้าน แต่ในปัจจุบันจะมีเป็นเพียงส่วนน้อยมาก สำหรับการเลี้ยงผู้ที่มาช่วยกันยกบ้านนั้นจะมีการเลี้ยงขนมหวาน เช่น หลอดช่อง ถั่วเขียวต้มกะทิ อาหารที่จัดเลี้ยงส่วนใหญ่จะเป็นอาหารหวาน

4. การขึ้นบ้านใหม่ เมื่อชาวบ้านคนใดมีการสร้างบ้าน ก็จะจัดเลี้ยงขึ้นบ้านใหม่ โดยการละหมาดฮายัต อ่านยาซีน และเลี้ยงอาหารคาว หวาน

5. การกินน้ำชา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า มาแกแต นั้นคือการเชิญเพื่อนบ้าน คนรู้จักมาช่วยสมทบทุนเพื่อหารายได้ในวัตถุประสงค์ที่ผู้เชิญต้องการ สำหรับอาหารที่เลี้ยงนั้น อาจแตกต่างกันไป ตามแต่ผู้เชิญจัดเลี้ยง บางคนเลี้ยงน้ำชาตามชื่อที่เรียก แต่บางคนจะเลี้ยงข้าวอาหาร ส่วนใหญ่จะเลี้ยงขนมจีน ข้าวยำ หรือข้าวราดแกง ประเภทของการกินน้ำชามีหลายชนิดเช่น

กินน้ำชาไปมักกะฮ

กินน้ำชาไปศึกษาต่อด้านศาสนาในต่างประเทศ

กินน้ำชาเพื่อชดใช้ค่าเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุ

กินน้ำชาไปเป็นทหารเกณฑ์

6. การเฝ้ากูโบร์ เมื่อคนในหมูบ้านตัวอย่างเสียชีวิตลง ก็จะมีการปฏิบัติตามความเชื่อของแต่ละสำนักความคิด ถ้าเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มแนวความคิดเก่า ก็จะมีการเฝ้ากูโบร์ และการเลี้ยงทำบุญ 7 วัน 40 วันและ 100 วัน แต่ถ้าเป็นกลุ่มแนวความคิดใหม่ จะไม่มีการเฝ้ากูโบร์

7. พิธีการไกวแปลทารก หรือ บูไว โน ที่ภาษามลายูกลางเรียกว่า Buaian Bayi ซึ่งเป็นพิธีกรรมของกลุ่มเชื้อเจ้ามลายูเก่าในชุมชนหมู่บ้านตัวอย่างที่มีชนชั้นสูงอาศัยอยู่ แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปจากหมู่บ้านตัวอย่างไปแล้ว เมื่อประมาณ หกเจ็ดปีก่อนพิธีกรรมนี้ยังคงมีอยู่ แต่ต้องนำคนร้องเพลงการไกวเปลมาจากกลุ่มชนชั้นสูงที่อยู่ในต่างถิ่น ด้วยในชุมชนไม่มีผู้ใดที่สามารถร้องเพลงไกวเปลได้อีกแล้ว

8. การเข้าสุนัต สำหรับการเข้าสุนัตนั้นถือเป็นการปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอิสลาม แต่ในการเข้าสุนัต บางคนยังมีการผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม เช่น กลุ่มเชื้อสายขุนนางมลายูเก่า เช่น ตระกูลตนกู นิ เมื่อมีการจัดงานเข้าสุนัตบุตร บางครอบครัวจำเป็นต้องใช้ผ้าสีเหลือง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของเชื้อเจ้ามาใช้ในการประกอบพิธีเข้าสุนัต นอกจากนั้นยังมีการนำวัฒนธรรมมลายูที่ไม่มีในศาสนาอิสลาม เช่น จัดข้าวเหนียวสีแดง ขาว เหลือง พร้อมไข่ที่เรีกว่า ตือลูร์ สมางัต

9. การแต่งงาน สำหรับการแต่งงานนั้น ในพิธีอากัตนิกะห์นั้นจะปฏิบัติตามหลักการศาสนาอิสลาม แต่ส่วนประกอบของการแต่งงานนั้น ยังมีที่นอกเหนือจากหลักการศาสนาอิสลาม เช่น การสืบเสาะ หรือที่เรียกว่า มือนินเยา การผูกดวง หรือที่เรียกว่า มือราซี การสู่ขอ หรือที่เรียกว่า มือลามาร์ การหมั้น หรือที่เรียกว่า มือมีนัง จะมีเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธี มีทั้งหมาก พลู ดอกไม้ ในการประกอบพิธีแต่งงานนั้น เจ้าสาวยังต้องทาฮินนา หรือที่เรียกว่า เบอร์อีนัย การจัดบัลลังก์สำหรับคู่บ่าวสาว หรือที่เรียกว่า ปือลามิน สำหรับบัลลังก์นั้นจะจัดตามความต้องการของคู่บ่าวสาว บางครั้งมีการผสมผสานระหว่างมลายูกับตะวันตก ส่วนป้ายชื่อคู่บ่าวสาวนั้น บางส่วนจะเขียนชื่อคู่บ่าวสาวด้วยอักขระภาษาไทย หรือ ภาษามลายู อักระรูมี แต่ก็มีบางส่วนที่ใช้ภาษามลายูอักขระยาวี

10. การกวนอาซูรอ ประเณีการกวนอาซูรานั้น แม้จะมาจากตะวันออกกลางก็จริง แต่ชาวบ้านได้เปลี่ยนวัตถุที่ใช้ในการกวนอาซูรา ด้วยอาหาร พืช ผลไม้พื้นเมือง หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำอาซูราที่กวนเสร็จแล้ว ไปรวมที่มัสยิด หรือ สุเหร่า จากนั้นมีการแจกจ่ายกันรับประทาน

11. ปูยอปาตา หรือ การบูชาชายหาด เป็นพิธีกรรมของชาวมลายูในหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นการทำพิธีบูชาสิ่งเร้นลับที่ดูแลรักษาทะเล เพื่อไม่ให้มารบกวนการมาหากินขงชาวประมงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พิธีกรรมนี้ไม่เพียงจะมีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ยังมีในรัฐกลันตัน รัฐตรังกานูของประเทศมาเลเซีย พิธีกรรมบูชาชายหาดนี้จะทำในเวลา 2-3 ปีต่อครั้ง เมื่อมีความรู้สึกว่าสิ่งเร้นลับเริ่มรบกวนการทำมาหากินของชาวประมง ในการประกอบพิธีกรรมนี้จะมีหมอผู้ทำหน้าที่ประกอบพิธีในการสื่อสารกับผีทะเล ปกติแล้วพิธีกรรมบูชาชายหาดนี้จะใช้เวลา 3 วัน 3 คืน หรือทำพิธีอย่างใหญ่โตเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ในช่วงเวลาที่มีการประกอบพิธีนี้ชาวประมงจะไม่ออกทะเลไปหาปลา แต่จะจัดการแสดงมโหรสพต่างๆ ในช่วงเวลากลางเช่น การเล่นมะโย่ง ดีเกร์ฮูลู หนังตะลุง การเล่นปัตรี มโนราห์ ส่วนกลางวันจะมีการละเล่นว่าว ลูกข่าง การจัดมโหราสพรั้งนี้เพื่อสร้างความบันเทิงต่อผีทะเล ที่เชื่อว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะขึ้นบก การละเล่นในช่วงคืนสุดท้ายจะเป็นการเล่นหนังตะลุงจนถึงสว่าง หลังจากนั้นจะมีการเชือดควายเผือก จากนั้นนำส่วนหนึ่งของเนื้อควาย ข้าวเหนียวสี ไข่ พลู แป้ง แล้วไปวางไว้บนแพที่สร้างด้วยสีสัน จากนั้นหมอที่จะพิธีขอพรไม่ให้ผีทะเลมารบกวนการทำมาหากินของชาวประมง แล้วลากแพนั้นด้วยเรือประมง นำไปปล่อยกลางทะเล โดยหมอจะทำพิธีส่งมอบแพแก่ผีทะเล เมื่อเสร็จพิธีแล้วชาวประมงจะไม่ออกทะเลเป็นเวลา 3 วัน หลังจากนั้นชาวประมงก็หวังว่าการประกอบอาชีพของตนเองจะดีขึ้น ปัจจุบันพิธีกรรมบูชาชายหาดไม่มีอีกแล้ว แต่ในประเทศมาเลเซียได้จัดงานมหกรรมชายหาด หรือ Pesta Pantai เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวแทน

12. ขวัญข้าว หรือ สมางัตปาดี เป็นพิธีกรรมที่ชาวมลายูในฐานะที่เป็นสังคมการเกษตรได้ทำ พิธีกรรมนี้มีความเชื่อว่าข้าวที่มีอำนาจเร้นลับมาทำให้เกิดการเจริญเติบโต ดูแลไร่นา สังคมการเกษตรจะให้ความสำคัญต่อข้าวมาก ดังสำนวนมลายูที่ว่า ada beras semua kerja boleh buat (มีข้าวแล้ว งานทุกอย่างสามารถดำเนินการได้) ในการประกอบพิธีกรรมนั้น หมอจะทำหน้าที่เป็นคนแรกที่วานพันธุ์ข้าวลงแปลงในวันที่ได้กำหนดไว้ เมื่อวันที่จะนำพันธุ์ข้าวที่งอกแล้วลงนา ทางหมอจะเป็นคนแรกที่ทำ โดยขออำนาจเร้นลับไม่ให้มารบกวนการเจริญเติบโตของข้าว และเมื่อข้าวเริ่มสามารถที่จะเกี่ยวได้แล้ว หมอก็จะเป็นคนแรกที่เป็นคนเกี่ยว ในการประกอบพิธีการรมขวัญข้าวนั้น หมอจะขอพรจากอำนาจเร้นลับที่มีชื่อแตกต่างกันตามความเชื่อ เช่น เรงกือซา (Rengkesa) ยือเรงยุง (Jerengjung) และศรีดางอมาลา (Sri Dangomala) ในการประกอบพิธีรรมนี้จะผสมผสานความเชื่อของศาสนาฮินดูและศาสนาอิสลามเข้าไปด้วย ทางหมอจะอ่านมนต์ด้วยการใช้ประโยคที่มีในคัมภีร์อัลกุรอ่าน และเรียกร้องต่ออำนาจเร้นลับด้วยประโยคในภาษาสันสกฤต ถึงอย่างไรก็ตามพิธีกรรมนี้ก็ได้สูญสิ้นไปจากสังคมมลายูปาตานีแล้ว

13.พิธีปลดปล่อยสิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้าน
พิธีปลดปล่อยสิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้าน เมื่อประมาณ 50 กว่าปี ที่ผ่านมา พิธีปลดปล่อยสิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในกลุ่มหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายู ยังคงกระทำสืบกันมา ส่วนปัจจุบันนั้นได้สูญสิ้นไปแล้ว เมื่ออิทธิพลของศาสนาอิสลามเข้ามาทำให้การปฏิบัติที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลามต้องสูญสิ้นไป ประเพณีในหมู่บ้านดังกล่าวมีอยู่ 2 ชนิด คือ

1. การแห่นกการะเวก ในสมัยโบราณถือว่าเป็นนกที่อยู่ในชั้นฟ้าที่ 7 เป็นนกชั้นสูงส่ง การแห่นกการะเวกจะทำในเดือน 7 ข้างขึ้น วันใดก็ได้ ขบวนแห่ประกอบด้วยดอกฉัตร ทำจากใบพลู เป็นชั้น ขนมลาสีแดง ข้าวตอก ดอกไม้ 7 ชนิด ประกอบกับกลอง ฆ้อง โห่ร้อง เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้านและขอสิ่งที่เป็นมงคลเข้ามาในหมู่บ้าน ขบวนแห่เมื่อมาถึงที่ๆ คล้ายกับเกาะกลางทุ่งนา ผู้อาวุโสในหมู่บ้านจะทำพิธีสาดข้าวสาร และแจกทานแก่เด็กๆ และผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้าน ส่วนนกการะเวกทำจากไม้ทองหลาง

2. การแห่หมาดำ หมาดำนั้นชาวบ้านทำโครงจากไม้ไผ่และเอารากไม้คุระที่อยู่ในน้ำและตะไคร่น้ำมาขึ้นรูปจนเป็นรูปหมาดำ ประเพณีแห่หมาดำจะแห่ในกรณีที่หมู่บ้านเกิดภัยแล้งและเกิดอาเพศในหมู่บ้าน การแห่ก็จะจัดรูปขบวนประกอบด้วยกลอง ฆ้อง สีละ และให้ผู้ชายแต่งเป็นผู้หญิง และผู้หญิงแต่งเป็นผู้ชาย การแห่ก็จะแห่รอบๆ หมู่บ้าน พร้อมมีข้าวเหนียวเหลือง แดง ขาว ไก่ย่าง และจะตีถาดทองเหลืองด้วย เพื่อทำพิธีขอฝนกับขจัดภัยแล้งและภัยอื่น ๆ เมื่อขบวนถึงบึงละหารน้ำก็จะมีการเอากังหันลมหรือลูกลมที่ปลายมีกระบอกไม้ไผ่ที่ทำให้เกิดเสียงเพื่อขอฝน

14.ประเพณีและวัฒนธรรมการแห่ขันหมากแบบโบราณ

การแห่ขันหมากเป็นการแสดงออกถึงฐานะของฝ่ายเจ้าบ่าวในการไปสู่ขอเจ้าสาว ซึ่งในการแห่นั้นจะมีขบวนขันหมากประกอบด้วยผู้ใหญ่ของเจ้าบ่าว และญาติสนิท รวมทั้งเพื่อนๆ ซึ่งจะนำสิ่งของต่างๆ ที่จะไปมอบให้กับฝ่ายเจ้าสาว เช่น ข้าวเหนียวสีแดง สีเหลือง สีขาว (ปูโละซือมางะ) และขนมพื้นบ้าน สิ่งของที่จะไปให้ฝ่ายเจ้าสาว ต้องเป็นจำนวนเลขคี่เท่านั้น เป็นความเชื่อของชาวบ้าน
เป็นส่วนหนึ่งที่ดึงมาจากงานวิจัยที่ผู้เขียนได้ร่วมกับ ผศ.ดร. วรวิทย์ บารู และคณะ ได้ทำการวิจัยในหัวข้อ “มลายูปาตานี : ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ และการเปลี่ยนแปลง” โดยได้รับงบประมาณมาจาก   สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)