Ekonomi/Bisnis

Rabu, 19 September 2007

สถาบันการศึกษาอิสลามแบบดั้งเดิม ( Traditional Islamic School) ในภูมิภาคมลายู


โดย Nik Abdul Rakib Bin Nik Hassan

สถาบันการศึกษาอิสลามแบบดั้งเดิม ( Traditional Islamic School) เป็นสถาบันการศึกษาอิสลามที่เกิดขึ้นในภูมิภาคมลายูกเหมือนกับสถาบันการศึกษาอิสลามในโลกอิสลาม เช่น การเรียนที่มัสยิด อัล-ฮาราม  นครมักกะห์,นครมาดินะห์, มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮาร์ในอิยิปต์ รวมทั้งในประเทศอินเดีย และเปอร์เซีย ในโลกมลายูการศึกษาศาสนาอิสลามเกิดขึ้น ทั้งที่บ้าน, มัสยิด, สุเหร่า, , ปอเนาะ หรือ Pesantren

ในแหลมมลายูการศึกษาแบบปอเนาะ จะมีทั้งที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, กลันตัน, ตรังกานู,, เคดะห์, เปรัค และปีนัง ในประเทศฟิลิปปินส์ เช่น ที่ ซูลู และ มินดาเนา มีการเรียนศาสนาอย่างเช่นในส่วนอื่นของโลกมลายู คือ การเรียนที่ มัสยิด, บ้าน, สุเหร่า ในช่วงแรกของการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในฟิลิปปินส์ ผู้ที่เผยแพร่ศาสนา คือ โต๊ะครู หรือ อุลามะ ที่เรียกว่า มักดุม ( Makhdum ) ในอินโดเนเซียโดยเฉพาะเกาะชวา การศึกษาศาสนาอิสลามจะมีขึ้นที่ Pesantren ส่วนที่เกาะมาดูรา จะมีขึ้นที่ Penjentren ที่สุมาตราและอาเจะห์จะเรียนศาสนาอิสลามที่ Meunusaha หรือ Rangkang ที่สุลาเวซีใต้จะเรียนศาสนาอิสลามที่มัสยิด หรือ Langkara ที่ Demak โดยเฉพาะที่หมู่บ้าน Desa Gelagah Sari ได้มีการจัดตั้งปอเนาะ หรือ Pesantren โดย Raden Rahmatullah ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 1481 เพื่อเผยแพร่ศาสนาอิสลามสู่คนพื้นเมืองในบริเวณดังกล่าว

ส่วนที่ Gerisik เมืองสุราบายา การศึกษาแบบปอเนาะ หรือ Pesantren ได้รับการจัดตั้งโดย Maulana Malik Ibrahim ต่อมามีการเผยแพร่การศึกษาแบบ Pesantren ออกไปยังชวากลาง, ชวาตะวันตก โดยนักเผยแพร่ศาสนาทั้งเก้า หรือที่รู้จักกันในนาม Wali Sembilan การเมืองของชาวมุสลิมมีความมั่นคงยิ่งขึ้นในชวาตะวันออกและชวาตะวันตก โดยเฉพาะที่ Sunda Kepala, Banten, Ceribon ด้วยการดำเนินงานของ Sunan Gunung Jati ดังนั้นการศึกษาของชาวมุสลิมจึงแพร่ขยายยิ่งขึ้น ที่ปาเล็มบัง นักเผยแพร่ศาสนาอิสลามที่เป็นสตรีผู้หนึ่ง ชื่อว่า Nyai Gede Melaka ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเธอมาจากจามปา หรือว่ามาจากมะละกากันแน่ เธอได้เริ่มเผยแพร่ศาสนาอิสลามจากบ้านสู่บ้าน ต่อมาได้ขยายกลายเป็นปอเนาะ ซึ่งนับว่านี้เป็นการศึกษาศาสนาอิสลามแรกเริ่มในรูปแบบของปอเนาะที่สุมาตราใต้

การเผยแพร่ศาสนาอิสลามในฟิลิปปินส์ภาคใต้ มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ Syarif Kabungsuan จากรัฐโยโฮร์ และ Raja Baguinda จากมีนังกาเบา ส่วนในจามปานั้นนักวิชาการชาวฝรั่งเศสชื่อ M. Maspero ได้กล่าวว่าอิสลามมีความมั่นคงในจามปา นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 และ 12 ในปี 950 ทาง Po Hassan หรือ Abu Hassan จากจามปาได้เดินทางโดยเป็นทูตไปยังประเทศจีน และมีการค้นพบ Nisan บนหลุมฝังศพของชาวมุสลิมชื่อ Abu Kamil เขียนด้วยอักขระอาหรับในรูปแบบคูฟี ( Kufi ) บันทึกว่าเป็นปี 1039

การศึกษาอิสลามแบบปอเนาะในรัฐกลันตัน กล่าวกันว่ามาจากปัตตานี หรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะส่วนใหญ่โต๊ะครูและอุลามะชาวกลันตันที่มีชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จะเป็นศิษย์เก่าของปอเนาะที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากพวกเขาได้กลับมายังรัฐกลันตัน หรือ รัฐเคดะห์, รัฐปีนัง, รัฐตรังกานูแล้ว พวกเขาจะเปิดปอเนาะในรูปแบบปอเนาะที่มีอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีการบันทึกที่กล่าวว่า มีชาวจามปาได้เดินทางมาศึกษาศาสนาอิสลามทั้งในรัฐกลันตัน และจังหวัดชายแดนภาคใต้ในคริสต์ศตวรรษที่ 17

ในปลายศตวรรษที่ 19 หรือ ต้นศตวรรษที่ 20 ได้เกิดสถาบันการศึกษาครั้งแรกที่สิงคโปร์ในรูปแบบของ Madrasah หรือรูปแบบโรงเรียน โดยสถาบันดังกล่าวชื่อว่า Madrasah Al-Iqbal ในปี 1908 ต่อมาสถาบันการศึกษาในรูปแบบ Madrasah ได้เผยแพร่ขยายออกไปยัง รัฐปีนัง, รัฐโยโฮร์, รัฐกลันตัน, รัฐตรังกานู, รัฐเคดะห์ และอีกหลายรัฐในประเทศมาเลเซีย

ระบบการศึกษาแบบ Madrasah มีการวัดมาตรฐานของการศึกษาโดยแบ่งออกเป็นชั้น เช่น ชั้นต้น (Ibtidai), ชั้นกลาง (Thanawi) และชั้นสูง (Taghasus) ซึ่งการศึกษาในรูปแบบของ Madrasah มีความแตกต่างจากการศึกษาแบบปอเนาะ เพราะการศึกษาแบบปอเนาะ จะเน้นระบบ Halaqah นั้นคือ นักศึกษาจะนั่งเป็นวงรี พร้อมมีหนังสือ โดยโต๊ะครูเป็นผู้สอนตามเนื้อหาในหนังสือดังกล่าว พวกเขาจะไม่มีการทดสอบการเรียน สำหรับตำราศาสนาที่ใช้สอนนั้น เขียนโดยชาวมลายู แรกเริ่มมีการพิมพ์ที่อิสตันบูล ประเทศตุรกี ต่อมาพิมพ์ที่ประเทศอิยิปต์ และกรุงมักกะห์ หลังจากนั้นจึงมีการพิมพ์ในโลกมลายู

Tiada ulasan:

Catat Ulasan