Ekonomi/Bisnis

Jumaat, 30 Julai 2021

นายพลซูดีร์มาน นายพลห้าดาว วีรบุรุษแห่งชาติของอินโดเนเซีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ชื่อของนายพลซูดีร์มาน นายพลหาดาวนักต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดเนเซีย ไม่เพียงมีชื่อกระฉ่อนไปทั่วดินแดนอินโดเนเซีย แต่ชื่อนี้ยังกระจายไปทั่วโลกมลายู พ่อแม่ในมาเลเซีย บรูไน สามสี่จังหวัดชายดนภาคใต้ ที่มีลูกๆ บางครอบครัวจะมีการตั้งชื่อลูกๆ ว่าซูดีร์มาน ในจังหวัดนราธิวาส ผู้เขียนเอง ก็มีเพื่อนสองคน ชื่อว่า นายซูดีร์มาน ซึ่งพ่อแม่ตั้งชื่อตามชื่อของนายพลซูดีร์มาน   นายพลห้าดาวแห่งอินโดเนเซีย

 

นายพลซูดีร์มาน เป็นหนึ่งในวีรบุรุษแห่งชาติของอินโดเนเซีย เป็นผู้นำฝ่ายกองกำลังติดอาวุธต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศอินโดนีเซีย ในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเอกราชของสาธารณรัฐอินโดเนเซียนั้น นายพลซูดีร์มาน เป็นผู้บัญชาการและนายพลคนแรกและอายุน้อยที่สุดของสาธารณรัฐอินโดเนเซีย เมื่ออายุเพียง 31 ปี นายพลซูดีร์มาน ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายพล นอกจากนี้นายพลซูดีร์มาน ยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักสู้ที่ดื้อรั้น ด้วยแม้ว่าเขาจะป่วยเป็นวัณโรคขั้นรุนแรง แต่เขายังคงต่อสู้และนำหน่วยจรยุทธิ์ของเขาเพื่อต่อสู้กับกองทัพดัตช์ในการรุกรานทางทหารครั้งที่สองของกองทัพดัตช์

นายพลซูดีร์มาน เกิดที่อำเภอปุร์บาลิงฆา (Purbalingga) จังหวัดชวากลาง เมื่อวันที่ 24 มกราคม 1916  เขามาจากครอบครัวที่ชนชั้นกลาง เรียบง่าย พ่อของเขาทำงานที่โรงงานน้ำตาลในกิ่งอำเภอกาลีบาโฆร์ (Kalibagor) ของอำเภอบายูมัส (Banyumas)[1] จังหวัดชวากลาง  ใน และแม่ของเขาเป็นลูกหลานของอดีตผู้นำระดับอำเภอ (Wedana) ของอำเภอเริมบัง จังหวัดชวากลาง นายพลซูดีร์มาน ได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการจากโรงเรียนที่ชื่อว่า โรงเรียนตามันซีซวา (Sekolah Taman Siswa) จากนั้นเขาก็ศึกษาต่อที่ Hollandsche Inlandsche School (HIS) ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูขององค์กรมูฮัมหมัดเดียะห์ (Muhammadiyah) ในเมืองโซโล จังหวัดชวากลาง แต่เรียนไม่จบ ขณะเรียนอยู่ที่นั่น เขายังเข้าร่วมกิจกรรมขององค์กรลูกเสือฮิซบุลวาตานอีกด้วย

 

หลังจากนั้นเขาก็เป็นไปเป็นครูที่โรงเรียน Hollandsche Inlandsche School ขององค์กรมูฮัมหมัดเดียะห์ ในเมืองจีลาจับ (Cilacap)  จากนั้นเขาก็อุทิศตนเป็นครูที่ โรงเรียนดังกล่าวขององค์กรมูฮัมหมัดเดียะห์ ในเมืองจีลาจับ (Cilacap) พร้อมๆกับเป็นแกนนำองค์กรลูกเสือฮิซบุลวาตานที่โรงเรียนดังกล่าว

ในช่วงการยึดครองของญี่ปุ่น นายพลซูดีร์มาน ได้เข้าร่วมกับกองกำลังที่จัดตั้งโดยญี่ปุ่นที่ชื่อว่า tentara Pembela Tanah Air (Peta) หรือภาษาอังกฤษจะเป็น Defenders of the Homeland ในเมืองโบโฆร์ เมืองที่อยู่ไม่ห่างจากกรุงจาการ์ตา ภายหลังจากที่อินโดนีเซียได้รับอิสรภาพจากการยึดครองของญี่ปุ่น  นายพลซูดีร์มาน สามารถยึดอาวุธของกองทหารญี่ปุ่นในเมืองบายูมาสได้จำนวนมาก หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านการศึกษา เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับกองพันในหน่วยที่ชื่อว่ากองพันโกรยา (Battalion Kroya) หลังจากการก่อตั้ง Tentera Keamanan Rakyat (กองทัพความมั่นคงของประชาชน) เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 5/เขตบายูมัส และในที่สุดเขาก็ได้รับเลือกให้เป็นผู้บัญชาการกองกำลังติดอาวุธของอินโดนีเซีย (Tentera Nasional Indonesia Commander) ในสงครามที่ชื่อว่า Palagan Ambarawa ซึ่งเป็นสงครามระหว่างกองกำลังอินโดเนเซียกับกองทหารอังกฤษและกองทหารฮอลันดา หรือ Netherlands Indies Civil Administration ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 1945 ซึ่งเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกที่นายพลซูดีร์มาน เป็นผู้นำ ด้วยในสงครามครั้งนั้น ทางกองกำลังอินโดเนเซียได้รับชัยชนะประธานาธิบดีซูการ์โนจึงแต่งตั้งเขาเป็นนายพล

นายพลซูดีร์มาน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 มกราคม 1950 เนื่องด้วยวัณโรคร้ายแรง ศพของเขาถูกฝังไว้ที่สุสานวีรบุรุษกุสุมา นัครา (Kusuma Negara) ที่เซอมากี เมืองยอกยาการ์ตา ในปี 1997 นายพลซูดีร์มาน เขาได้รับตำแหน่งนายพลห้าดาว ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีนายพลเพียงสามคนในอินโดนีเซียจนถึงปัจจุบัน

 

แมคเกรเกอร์ (McGregor) กล่าวว่า กองทัพอินโดเนเซียใช้ภาพลักษณ์นายพลซูดีร์มาน เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นผู้นำมากขึ้น เมื่อกองทพอินโดดเนเซียได้รับอำนาจทางการเมืองมากขึ้น ภาพของนายพลซูดีร์มาน ปรากฏอยู่ในธนบัตรรูเปียห์แบบปี 1968 เขาเป็นตัวละครหลักในภาพยนตร์สงครามหลายเรื่อง รวมถึง Janur Kuning (Yellow Coconut Leaf)  1979 และ Serangan Fajar (Dawn Attack)

 

ชื่อของนายพลซูดีร์มาน ได้รับการตั้งชื่อถนนสายหลักในกรุงจาการ์ตา ชื่อ Jalan Sudirman  มีพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ได้อุทิศให้กับนายพลซูดีร์มาน บ้านในวัยเด็กของเขาในเมืองปุร์บาลิงฆา ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์นายพลซูดีร์มาน ในขณะที่บ้านอย่างเป็นทางการของเขาในเมืองยอกยาการ์ตาปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์ Sasmitaloka และบ้านในเมืองมาเกอลังซึ่งเขาเสียชีวิต ปัจจุบันยังเป็นพิพิธภัณฑ์นายพลซูดีร์มาน ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1967 และมีสิ่งของที่เป็นของนายพลซูดีร์มาน พิพิธภัณฑ์อื่น ๆ รวมทั้งอนุสาวรีย์ Yogya Kembali ในเมืองยอกยาการ์ตาและพิพิธภัณฑ์ Satriamandala ในกรุงจาการ์ตามีห้องที่อุทิศให้กับเขา ถนนหลายสายได้รับการตั้งชื่อตามชื่อของนายพลซูดีร์มาน Sudirman รวมถึงถนนสายหลักในกรุงจาการ์ตา เกือบทุกเมืองในประเทศมีถนน นายพลซูดีร์มาน มีรูปปั้นและอนุสาวรีย์สำหรับนายพลซูดีร์มาน กรจายยอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่สร้างขึ้นหลังปี 1970 และมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยใช้ชื่อนายพลซูดีร์มาน คือ Universitas Jenderal Sudirman ในเมืองบายูมัส ก่อตั้งขึ้นในปี 1963






อ้างอิง

Soedirman จาก https://id.wikipedia.org/wiki/Soedirman

 

Soedirman จาก https://www.merdeka.com/soedirman/profil/

 

Biografi Jenderal Sudirman: Sejarah, Peran, Keistimewaan & Jasanya

จาก https://tirto.id/biografi-jenderal-sudirman-sejarah-peran-keistimewaan-jasanya-gavB

 

Eri Sumarwan,Teladan Hidup Panglima Besar Jenderal Soedirman,Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa,2018.



[1] การปกครองของประเทศอินโดเนเซีย ตำบล กิ่งอำเภอ อำเภอ ไม่อาจเทียบกับการปกครองของไทยด้วย ด้วยมีประชากรที่แตกต่างกัน อย่างกาลีบาโฆร์ เองจะใช้คำว่าตำบล ก็น่าจะไม่ได้ ด้วยกาลีบาโฆร์ เองในปัจจุบันมีประชากรถึง 47,000 คน หรืออำเภอบายูมัส (Banyumas) เอง ในปัจจุบน ก็มีประชากรถึง 1.7 ล้านคน   


Rabu, 28 Julai 2021

หนังสือพิมพ์ อาลามัต ลังกาปุรี (علامت لڠكڤوري) หนังสือพิมพ์ภาษามลายูฉบับแรกในโลก

โดย  นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

ก่อนหน้านี้เป็นที่เข้าใจว่า หนังสือพิมพ์ภาษามลายูฉบับแรกในโลก คือ หนังสือพิมพ์ภาษามลายู ที่ใช้อักขระยาวี ที่ชื่อว่า หนังสือพิมพ์ Jawi Peranakan (جاوي ڤرانقن) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์ขึ้นในประเศสิงคโปร์ เป็นหนังสือพิมพ์ที่จัดพิมพ์โดยชาวยาวีเปอรานักกัน คำว่า ยาวีเปอรานักกัน หมายถึงชาวมุสลิมที่พูดภาษามลายู เกิดในมาลายา ซึ่งมีเชื้อสายจากเอเชียใต้และผสมกับชาวมลายู

 

แต่ต่อมามีการค้นพบว่า หนังสือพิมพ์ Jawi Peranakan ไม่ใช่เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของคนมลายู ด้วยหนังสือพิมพ์ Jawi Peranakan มีการตีพิมพ์ระหว่างปี 1876-1895  ออกทุกวันจันทร์ เสนอข่าวที่เกิดขึ้นในรัฐมะละกา รัฐปีนัง สิงคโปร์ รัฐโยโฮร์ รัฐเคดะห์ รัฐสลังงอร์ บรูไน และข่าวในเกาะสุมาตรา และเกาะชวา  ผู้พิมพ์คือนายมุนชีมูฮัมหมัด อาลี อัล-ฮินดี (Munsyi Mohammed Ali Al-Hindi) ต่อมาเปลี่ยนผู้พิมพ์มาเป็นนายมุนชีมูฮัมหมัดซาอิด บินดาดา มุห์ยิดดิน (Munsyi Mohamad Said b. Dada Muhyiddin) หนังสือพิมพ์ขายฉบับละ 30 เซนต์

ต่อมามีการค้นพบว่า จริงๆแล้วหนังสือพิมพ์ภาษามลายู ฉบับแรกของโลก กลายเป็นหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์โดยชุมชนมลายูในประเทศศรีลังกา ที่ชื่อว่า หนังสือพิมพ์อาลามัต ลังกาปุรี (علامت لڠكڤوري) เป็นหนังสือพิมพ์ภาษามลายูรายปักษ์  พิมพ์ที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 1869 ก่อนหนังสือพิมพ์ Jawi Peranakan (جاوي ڤرانقن) เป็นเวลา 7 ปี

ผู้จัดพิมพ์ บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์อาลามัต ลังกาปุรี (علامت لڠكڤوري) คือ นายบาบา ยูนุส ซัลดิน (Baba Ounus Saldin) โดยตั้งโรงพิมพ์ใช้ชื่อ Alamat Langkapuri Press ซึ่งมีชื่อเสียงในชุมชนชาวมลายูบนเกาะศรีลังกา

 

หนังสือพิมพ์ดังกล่าวนำเสนอข่าวท้องถิ่นและข่าวโลก นอกจากนั้นมการตีพิมพ์เกี่ยวบทกลอนมลายู ที้งที่เป็นชาอีร์ (syair) ปันตุน (pantun) รวมทั้งกวีนิพนธ์แบบดั้งเดิมอื่นๆ หนังสือพิมพ์นี้จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มชาวมลายูโพ้นทะเลในประเทศศรีลังกา นายบาบา ยูนุส ซัลดิน (Baba Ounus Saldin) โดยผ่านหนังสือพิมพ์ นี้ พยายามส่งเสริมวัฒนธรรมและภาษามลายู เขาตีพิมพ์วรรณกรรมมลายูลงในหนังสือพิมพ์อาลามัต ลังกาปุรี (علامت لڠكڤوري)  เช่นเดียวกับการโฆษณาหนังสือเพื่อเรียนรู้พจนานุกรมมลายูและพจนานุกรมอังกฤษ-มลายู ส่วนประกาศและโฆษณาบางส่วนในหนังสือพิมพ์จะเป็นภาษาอาราบ-ภาษาทมิฬ

 

การตีพิมพ์หนังสือพิมพ์อาลามัต ลังกาปุรี (علامت لڠكڤوري) จะใช้เงินส่วนตัวของนายบาบา ยูนุส ซัลดิน (Baba Ounus Saldin) และหนังสือพิมพ์ไม่ได้สร้างกำไร จนในที่สุดก็ถูกปิดตัวลงเมื่อปลายปี 1870 เนื่องจากจำนวนสมาชิกมีไม่เพียงพอ ต่อมาหนังสือพิมพ์ถูกเปิดตัวอีกครั้งในปี 1877 แต่ปิดตัวลงอีกครั้งในปีถัดมา นายบาบา ยูนุส ซัลดิน (Baba Ounus Saldin) เริ่มต้นเปิดหนังสือพิมพ์อีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า Wajah Selong ในปี 1895 ในประวัติศาสตร์ของประเทศศรีลังกา มีหนังสือพิมพ์ภาษามลายู อักขระยาวีเพียงสองฉบับฉบับ คือ หนังสือพิมพ์อาลามัต ลังกาปุรี (علامت لڠكڤوري)  และ Wajah Selong (وجه سلوڠ)

นายบาบา ยูนุส ซัลดิน (Baba Ounus Saldin) เองนอกจากพิมพ์หนังสือพิมพ์ออกจำหน่ายแล้ว  เขายังเป็นผู้เขียนหนังสืออีกด้วย งานเขียนของเขามีสองชิ้นเล่มหนึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของชุมชนมลายู โดยเขามีเป้าหมายสู่คนรุ่นใหม่ในขณะนั้น ชื่อว่า ซัยอีร์ ฟาอิด อัล-อาบัด และอีกงานเขียนหนึ่งเป็นความทรงจำส่วนตัวและครอบครัวของเขา ชื่อว่า กีตาบ เซอฆาลา เปอร์อีงาตัน บรรยายถึงเอกลักษณ์ของชาวมลายูในสังคมศรีลังกาในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้าที่ผสมผสานความรู้สึกแบบอิสลามที่เคร่งเข้ากับความภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมของชาวมลายูในสงครามกับเจ้าอาณานิคม

 

อ้างอิง

หนังสือพิมพ์ Alamat Langkapuri จาก https://en.wikipedia.org

 

Jamaluddin Aziz & Omar Yusoff(edit.),Jawi Peranakan di Pulau Pinang: Ekspresi Sebuah Identiti,USM Press,2010.

 

Ronit Ricci,Banishment and Belonging Exile and Diaspora in Sarandib, Lanka and Ceylon. Cambridge University Press,2019.

 

Namri Sidek,Alamat Lankapuri:Akhbar Orang Melayu pertama Dunia.22 julai 2020, www.iluminasi.com

 

Surat Khabar Jawi Peranakan, www.pnm.gov.my