Ekonomi/Bisnis

Rabu, 31 Julai 2019

มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัว มหาวิทยาลัยไทยแบบไหนที่จะไปรอด หรือ ไปไม่รอด?

โดย  นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
    สถาบันการศึกษาไทยและต่างประเทศในปัจจุบัน อยู่ในขั้นวิกฤติ จำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนมีจำนวนลดลงเป็นอย่างมาก บางมหาวิทยาลัย เช่น ในประเทศมาเลเซีย มีการลงหนังสือพิมพ์ว่า ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องยุบสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ เป็นจำนวนถึง 50 สาขา ด้วยจำนวนผู้เรียนลดลงเป็นอย่างมาก สำหรับการลดลงของนักศึกษามีปัจจัย หลากหลายปัจจัย มีทั้งค่าเทอมแพง มีทั้งสาขาวิชานั้นๆ ไม่ตอบโจทย์ผู้ปกครอง ดังนั้นมหาวิทยาลัยไทย ต้องมีการปรับตัว เพื่อความอยู่รอดของสถาบัน การศึกษา ผู้เขียนเห็นว่า บทความหนึ่งน่าสนใจ ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยไทยแบบไหนที่จะไปรอด หรือ ไปไม่รอด?” ซึ่งเขียนโดบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management ของคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์

ผู้เขียนจึงขอนำเสนอบทความของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์มา ณ ที่นี้

มหาวิทยาลัยไทยแบบไหนที่จะไปรอด หรือ ไปไม่รอด?
มหาวิทยาลัยไทยและมหาวิทยาลัยทั่วโลกกำลังเป็นขาลงเนื่องจากภาวะประชากรสูงวัยหรือ Aging society ที่เกิดขึ้นในยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และในประเทศไทยเอง ยกเว้นจีนที่แม้จะมีปัญหา Aging society แต่มหาวิทยาลัยทั้งหมดเป็นของรัฐและมีนโยบายการวางแผนการศึกษาแบบรวมศูนย์ทำให้จำกัดการผลิตโดยพรรคคอมมิวนิสต์และเน้นไปที่ STEM (Science, Technology, Engineering, and Mathematics) ที่ทำให้จีนก้าวกระโดดด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว ในขณะที่มหาวิทยาลัยไทยเน้นการเปิดสอนในสาขาวิชาที่เปิดสอนได้ง่ายต้นทุนต่ำคือสายสังคมศาสตร์ซึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีมากขนาดนี้และไม่ตอบโจทย์ในการพัฒนาประเทศ

ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยไทยพยายามกระเสือกกระสนปรับตัวเพื่อเอาตัวรอด โดยวิธีการหลายอย่าง TCAS แต่ละรอบกรองร่อนออกจนไม่เหลือนักศึกษาที่จะให้กรองร่อนเข้ามา เด็กนักเรียนมีน้อยกว่าที่นั่งในมหาวิทยาลัย หลายแห่งเริ่ม lay off อาจารย์ มหาวิทยาลัยหลายแห่งปิดกิจการ ขายให้ทุนจีน ขายที่ดินทำคอนโดมิเนียม และอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องทำเพราะไปไม่รอด ความพยายามหลายอย่างของมหาวิทยาลัยไทยที่ผมเห็นและมองจากสายตาของคนนอกคิดว่ามีการปรับตัวหลายอย่างที่ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ ไม่น่าจะยั่งยืน และไม่น่าจะช่วยให้รอดได้แก่

หนึ่ง สร้าง course online หรือ e-learning ด้วยเนื้อหาเดิมๆ ในมหาวิทยาลัยที่ตกยุคตกสมัย ไม่มีใครอยากเรียน หรือที่แย่กว่านั้นเปิดสอนปริญญาตรีหรือปริญญาโทออนไลน์ โดยการ spoil เนื้อหา สอนแต่เนื้อหาง่าย ๆ ง่ายกว่าที่สอนเดิมในชั้นเรียน off line ในมหาวิทยาลัยแบบเดิม ๆ เสียอีก โดยคาดหวังว่าจะเป็นการอ่อยเหยื่อให้อยากมาเรียนในมหาวิทยาลัย เรียกว่า bait and switch หรือที่แย่กว่าเพื่อนคือการเห่อสร้าง smart classroom ในมหาวิทยาลัย เน้นการสร้างตึก อาคาร ห้องเรียน แต่ไม่ได้ปรับปรุงเนื้อหาการเรียนการสอน หรือทำมหาวิทยาลัยให้เป็น smart city ซึ่งก็ไม่มีประโยชน์อีกเช่นกันในแง่ความอยู่รอด มีแต่ใช้เงิน ไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากมายที่จะช่วยทำให้เกิดรายได้หรือทำให้มีชื่อเสียงที่จะดึงดูดนักศึกษาให้มาเรียน

วิธีการแบบนี้ ไม่ยั่งยืนแน่นอน เพราะ content คือพระราชาบนโลกออนไลน์ และคู่แข่งที่ทำ content ดี ๆ มีมากไม่ว่าจะเป็น Khan Academy, Courserra, Udacity, EdX, MIT open courseware และอื่น ๆ อีกมาก ถ้าไม่ทำ content ให้ดีวิธีการนี้จะฉาบฉวย ประเดี๋ยวประด๋าว ไม่ยั่งยืน ยิ่งที่เน้นไปที่ทำ Smart Classroom หรือ Smart City โดยไม่มี Smart Content หรือ Smart Professor ยิ่งจะอาการหนัก ส่วน course online ที่ Spoil เนื้อหา ลดระดับความลุ่มลึก ทำให้ง่ายขึ้นกว่าที่สอนเดิมในมหาวิทยาลัย ยิ่งจะมีอาการหนักมาก เพราะจะกลายเป็นว่าเมื่อจบออกไปจะทำงานไม่ได้จริง และบริษัทต่าง ๆ จะพูดปากต่อปาก แม้กระทั่งคนเรียนก็เช่นกันก็จะพูดปากต่อปากไปเรื่อย ๆ มีมหาวิทยาลัยไทยจำนวนมากที่เลือกปรับตัวด้วยวิธีการที่ไม่ยั่งยืนและจะไม่ช่วยให้รอดแต่อย่างใดเช่นนี้เป็นจำนวนมาก ด้วยมีความเข้าใจผิดว่าการ Go online จะทำให้ทันสมัย ทำให้อยู่รอด แต่ในความเป็นจริง การ go online ใครที่พอมีเงินก็พอจะทำได้ และถ้าทุก ๆ คน go online กันได้หมด สุดท้ายก็ต้องตัดสินกันด้วย content อยู่ดี ไม่ใช่ที่ช่องทางในการเรียนการสอนออนไลน์แต่อย่างใด

สอง รับนักศึกษาต่างชาติ เข้ามาแทนนักศึกษาไทย โดยเฉพาะนักศึกษาจีน หลายมหาวิทยาลัยทำเช่นนั้น สำหรับจีนนั้นเขาไม่ให้มีมหาวิทยาลัยเอกชน และนักศึกษาจีนที่เก่ง ๆ ก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนเช่น ปักกิ่งหรือ ชิงหัว เป็นอาทิ หรือหากเก่งและพอมีสตางค์ก็ไปศึกษาต่อในต่างประเทศเช่นใน สหรัฐอเมริกาหรือในยุโรป เป็นต้น นักศึกษาจีนที่มาเรียนในเมืองไทยคือนักศึกษาจีนที่มักจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยจีนไม่ได้และไม่มีฐานะทางการเงินดีเพียงพอที่จะไปศึกษาต่อในต่างประเทศที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว นักศึกษาจีนในไทยจึงไม่ได้เป็นครีมและไม่ได้มีสตางค์มากนัก ที่มาเพราะหวังจะหางานทำในเมืองไทย และค่าครองชีพในประเทศไทยนั้นต่ำกว่าในประเทศจีนโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งแพงมาก

วิธีการแบบนี้ก็ไม่ยั่งยืน เพราะว่าเราไม่ได้นักศึกษาจีนที่เก่ง ๆ หรือมีฐานะดี แต่ได้เศษ ๆ มาเรียนกับเรา โอกาสที่จะจบออกไปประสบความสำเร็จหรือสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยในฐานะศิษย์เก่าก็คงไม่มากนัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลย นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากการหลบหนีเข้าเมืองมาทำมาค้าขายถาวร ทำให้มหาวิทยาลัยที่รับนักศึกษาจีนเหล่านี้เสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียง หากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะบุกไปตรวจจับ หลายคนไม่ได้มาเรียน แต่มาขายของรอบ ๆ มหาวิทยาลัย และหากเมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลจีนไม่ใช้การวางแผนการอุดมศึกษาแบบรวมศูนย์ไว้ที่พรรคคอมมิวนิสต์ เช่น ปล่อยให้มหาวิทยาลัยของรัฐ ผลิตได้เพิ่มขึ้น หรือ ยอมให้มีการเปิดมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศจีน วิธีการนี้ก็จะหมดสภาพ คือจะไม่มีนักศึกษาจีนอยากมาเรียนต่อในประเทศไทยอีกต่อไป

สาม ใช้วิธีการทางการตลาดแบบเต็มรูปแบบ hard sale เต็มที่ ลดแลกแจกแถม เช่น สมัครเรียนแจกไอโฟนหรือไอแพด หรือพาเพื่อนมาสมัครจะได้ส่วนลด หรือได้ค่าคอมมิชชั่น หรือวิธีการอื่นๆ อีกมาก บางมหาวิทยาลัยให้อาจารย์ไปหานักศึกษามาเรียนโดยให้ทำการตลาดกันเต็มที่ ผมเคยเขียนบทความ มหาวิทยาลัยไทยจะไปไม่รอด ถ้ายังใช้การตลาดนำหน้าการศึกษา เพราะเห็นว่าการศึกษาเป็นของสูงค่า ต้องวางตำแหน่งทางการตลาด (Market positioning) ให้ดี หากวางตำแหน่งแบบนี้คือใช้การส่งเสริมการขาย (promotion) มาก ๆ จะไร้ค่า เสียตำแหน่งทางการตลาด เป็นของโหล ไม่มีค่า ดูแย่ จ่ายครบ จบง่าย ไม่น่าภาคภูมิใจ กลายเป็นของเกรดต่ำ และขายไม่ออกในท้ายที่สุด

สี่ ทู่ซี้ ดื้อดึง ไม่ยอมปิดสาขาวิชาที่ไม่ผ่านในแง่คุณภาพ และไม่มีคนเรียน เพราะต้องการรักษาฐานเสียงทางการเมืองในมหาวิทยาลัยหรือไม่มีใครกล้าทุบหม้อข้าวของอาจารย์ที่ตกยุค ไม่มีการ re-skill และ up-skill อันนี้ก็เป็นเรื่องประหลาด หลายคณะหลายมหาวิทยาลัยจะทู่ซี้ขายหลักสูตรหรือสาขาวิชาที่ตกยุค ตกสมัยไม่มีคนอยากจะเรียนแล้ว พูดง่าย ๆ เป็นร้านค้าหรือธุรกิจที่จะเอาของเน่า ๆ ของเสีย ๆ หรือของพัง ๆ ที่ขายไม่ได้ออกมาวางขายหน้าร้าน จะขายยังไง จะโฆษณายังไงก็ไปไม่รอด ควรโละทิ้งแล้วทำของใหม่ที่ดีกว่ามาขาย ควรปิดสาขาวิชาที่ไม่ผ่านในแง่คุณภาพและไม่มีคนเรียน ไปให้หมด ส่งอาจารย์ที่ตกยุคไป re-skill หรือ up-skill มาสอนสิ่งที่โลกปัจจุบันต้องการ ไม่ใช่สอนสิ่งที่ตัวเองเรียนมาเมื่อ 20 ปี ก่อนในมหาวิทยาลัยที่ไม่มีใครใช้งานแล้ว อย่างนี้คือไม่ปรับตัว มีแต่ตายกับตาย

ห้า มหาวิทยาลัยที่พยายามเปิดสาขาใหม่ ๆ ที่คิดว่าจะมีคนเรียน โดยไม่มีพื้นฐานหรือความสามารถด้านนั้น ๆ เพียงพอ วิธีการนี้ทำกันมาก เหล้าเก่าในขวดใหม่ อาจารย์ยังไม่ได้มีความรู้ใหม่อะไร ไม่ได้มีความชำนาญในสาขาวิชาใหม่ ๆ อย่างแท้จริง อาศัยไปลอกหลักสูตรใหม่ ๆ จากต่างประเทศและจากมหาวิทยาลัยอื่นในไทยที่ก้าวหน้าไปก่อนเพื่อนมาเป็นต้นแบบ แท้จริงยังกำมะลอ ไม่เป็นของจริง คนไปเรียนสักพักก็จะทราบว่าที่มหาวิทยาลัยนี้เปิดสอนสาขาวิชาใหม่ ๆ นั้น ไม่ได้มีตัวจริง และไม่ได้มีของจริง เป็นการตบตาหลอกขายของ ที่ไม่นานคนก็จะเริ่มรู้ว่าถูกหลอก วิธีการแบบนี้ไม่ยั่งยืน ใครจะยอมให้หลอกไปได้ตลอดกาล ต้องมีตัวจริง เสียงจริง ต้องไปทำวิจัยและไปทำงานที่ปรึกษาด้านนั้นๆ มาก่อนถึงจะมาสอนได้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นคนสอนไม่เคยทำงานในสิ่งที่สอนเลยเป็นแค่การกางตำรามาสอนหรือลอกขี้ปากมาสอน แต่ทำไม่ได้จริง

ทั้งหมดนี้คือมหาวิทยาลัยแบบที่ไปไม่รอด แม้จะพยายามปรับตัวแล้วก็ตาม มาลองพิจารณากันดูว่ามหาวิทยาลัยแบบไหนที่จะไปรอด

หนึ่ง มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง มีทรัพย์สิน มีทุนเดิม สะสมมาดี คนไทยและนักเรียนไทยก็ยังบ้าแบรนด์อยู่เสมอ หากมีตรายี่ห้อดี มีชื่อเสียงสะสมมาดี ก็ยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย เมื่อได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายก็มีโอกาสได้ครีมของประเทศ ทำให้ผลิตบัณฑิตได้ดีมีคุณภาพและมีโอกาสที่จะสำเร็จการศึกษาออกไปแล้วทำงานได้ประสบความสำเร็จสร้างชื่อเสียงกลับคืนมาให้สถาบันที่ตนจบมา นอกจากนี้การมีทรัพย์สินจำนวนมากดังเช่นมหาวิทยาลัยในต่างประเทศต้องมี Endowment มหาศาลทำให้มหาวิทยาลัยมีทุนจะส่งอาจารย์ไปเรียนต่อในสาขาวิชาที่ขาดแคลน มีทุนทำวิจัย หรือมีทุนที่จะไปต่อยอด ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถเอื้อเฟื้อทุนการศึกษาในนักศึกษาที่ขาดแคลนได้ก็ย่อมทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนั้นมีข้อได้เปรียบและดึงดูดใจ ว่าง่าย ๆ ว่ามีบุญเก่าให้กินได้อีกยาวนาน แต่มหาวิทยาลัยเช่นที่ว่านี้ ต้องไม่หลงลำพองไปว่า การเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ มีชื่อเสียง มีทรัพย์สินมากมหาศาลก็อาจจะหมดทุนและหมดบุญได้ หากมัวแต่กินบุญเก่า และไม่สร้างบุญใหม่ให้ดีขึ้นมา

สอง มหาวิทยาลัยที่ปรับตัวได้ไว สอนเนื้อหาทันสมัย อาจารย์มีการ re-skill และ up-skill เพื่อมาสอนในสิ่งที่อุตสาหกรรมและประเทศต้องการ หรือสาขาที่ขาดแคลน มีคุณภาพ จบไปทำงานได้เลย มหาวิทยาลัยต้องคิดหลักสูตรหรือเนื้อหาวิชาที่ตรงกับความต้องการของประเทศ ก้าวให้ไว อาจารย์ต้องไวมากในการ re-skill และ up-skill เพื่อมาสอนเนื้อหาวิชาใหม่ ๆ ที่สังคม ธุรกิจ และประเทศต้องการ การร่างและการสร้างหลักสูตรต้องรวดเร็ว ทำของที่ดีและทันสมัยตรงกับความต้องการของตลาด หรือแม้กระทั่งชี้นำสังคมเพื่อเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติในวงการหรือในธุรกิจหรือในประเทศ ให้ก้าวหน้า ต้องเป็น change leader หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในทางวิชาการ เพื่อเปลี่ยนประเทศและสังคม ก้าวหน้าค่อนข้างมาก แต่ไม่ใช่ก้าวหน้าก่อนกาลเวลามากเกินไป ตีเหล็กต้องร้อนและถูกจังหวะพอดี ๆ ในเวลาที่เหมาะสม

สาม มหาวิทยาลัยที่มี Network หรือ connection ในลักษณะของสหกิจศึกษา เป็น มหาวิทยาลัยของธุรกิจ (corporate university) ที่ธุรกิจเติบโต ด้วย อันที่จริง มหาวิทยาลัยเช่นนี้ดึงดูดนักเรียนมาก เพราะเป็นผู้ว่าจ้างงานหลังจบ นักศึกษาที่จบไปแล้วได้งานทันทีแน่นอน โดยมีบริษัทที่เป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยนั้นเป็นผู้จ้างงาน ยกตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือมหาวิทยาลัยปัญญาภิวัฒน์ ที่มีสหกิจศึกษากับ CP-All หรือ 7-11 นักเรียนนิยมเรียนมาก เพราะมั่นใจได้ว่าจบไปจะมีงานทำทันที กลายเป็นว่านักการศึกษาต้องเป็นนายจ้างและนักธุรกิจด้วย จะช่วยดึงดูดนักเรียนได้มาก ยิ่งธุรกิจโตและมีการว่าจ้างมากเท่าใด corporate university ยิ่งดึงดูดใจนักเรียนมากเท่านั้น หัวใจสำคัญคือสอนไปแล้วนักศึกษาที่จบไปต้องได้งานทันทีหลังจบ

สี่ มหาวิทยาลัยที่มีทรัพย์สินทางปัญญา ทำงานวิจัยที่ได้สิทธิบัตร ร่วมมือกับอุตสาหกรรม ผลิตนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแบบนี้ยังไม่มีในประเทศไทย แต่ในไต้หวันมีอยู่หลายแห่ง บางแห่งมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคเลย อุตสาหกรรมมาจ้างมหาวิทยาลัยผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อจดสิทธิบัตร และผลิตของที่ต้องเอาไปขายได้หรือ commercialize ได้ นักศึกษาปริญญาเอกเป็นมือทำวิจัยให้อาจารย์ ได้ทุนเรียนฟรี โจทย์วิจัยชัดเจนตั้งแต่ก่อนเข้ามาเรียน อาจารย์ มหาวิทยาลัย และนักศึกษาได้ส่วนแบ่งจากทรัพย์สินทางปัญญาและยอดขายจากนวัตกรรมและสิทธิบัตรที่ตนเองคิดค้นขึ้น อาจารย์แต่ละคนมี lab และมีบริษัทผลิตนวัตกรรมในมหาวิทยาลัยและเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน มหาวิทยาลัยในไทยที่พยายามเดินตามแนวทางนี้อยู่ค่อนข้างชัดเจนคือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี หรือบางมด ซึ่งคงใช้เวลาอีกสักพัก วิธีการนี้ยั่งยืนเพราะได้ค่าตอบแทนยาวๆ จากสิทธิบัตร และได้คนเก่งมาเรียนเพื่อสร้างสิทธิบัตรและนวัตกรรม แต่ต้องเด่นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ หรือการแพทย์ จึงจะใช้ตัวแบบนี้ในการพัฒนาเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยให้อยู่รอดได้

ห้า มหาวิทยาลัยที่จิ๋วแต่แจ๋ว มี distinctive competence เก่งเรื่องเดียว แต่เก่งจริง สมัยก่อน ถ้าก่อสร้างต้องอุเทนถวาย ถ้าเครื่องกลต้องช่างกลปทุมวัน ถ้าด้านบัญชีต้องพาณิชย์พระนคร ถ้าภาพถ่าย-การพิมพ์ต้องเทคนิคทุ่งมหาเมฆ ถ้าศิลปะต้องเพาะช่าง มีความเก่งโดดเด่นด้านเดียว ด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ใช่เปรอะไปสารพัด เป็นมหาวิทยาลัยโหลๆ และไม่เก่งจริงสักอย่าง ดังนั้นมหาวิทยาลัยที่จะอยู่รอด ต่อให้เล็กๆ แต่เจ๋งเป้ง เก่งด้านเดียวจริงๆ สอนได้ดีที่สุด เก่งที่สุดด้านนั้นก็จะยังอยู่ได้ เพราะ อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล ไม่ใช่พยายามเป็นมหาวิทยาลัยโหลๆ สอนได้เหมือนทุกมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้เรื่องสักอย่าง และการมีขนาดใหญ่ยิ่งเปลือง อุ้ยอ้าย ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายมาก ยิ่งมีโอกาสรอดยาก ต้อง Small but beautiful เล็กแต่สวยสดงดงาม ใครก็อยากเรียน เพราะเก่งจริงเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ใช่เป็ดที่ทำได้ทุกอย่างแต่ไม่เก่งจริงสักอย่าง

หก มหาวิทยาลัยที่ยอมเจ็บตัวผ่าตัดตัวเอง โดยการควบรวมให้ใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นการแบ่งปันทรัพยากร เพิ่มคนเก่ง แต่การควบรวมย่อมต้องมีการเฉือนไขมันหรือติ่งเนื้อที่ไม่จำเป็นออกไป เช่นต้องเอาคนออก คณบดีหรือตำแหน่งอธิการบดี หรือตำแหน่งบริหารก็จะลดลง ค่าตอบแทนก็จะลดลง ไม่มีใครยอมใคร บางแห่งสองมหาวิทยาลัยเล็กๆ อยู่รั้วติดกัน ต่างไม่ได้เรื่องทั้งคู่ แต่ก็แข่งกัน ไม่ยอมรวมกัน เพื่อให้ใหญ่ขึ้น เก่งขึ้นดีขึ้น เพราะเป็นศึกศักดิ์ศรีและศึกแย่งชิงตำแหน่ง หรือเกิดจากความกลัวที่จะต้องมีคนต้องถูกให้ออกไป แต่ไม่เป็นไรเดี๋ยวสถานการณ์จะเป็นนายของทุกคน พอไปไม่รอดจริงๆ ก็จะถูกยุบหรือควบรวมไปเอง ให้อยู่รอดได้ แต่จะเจ็บปวดยิ่งกว่าเพราะเราต้องเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลง

เจ็ด มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการศึกษาต่อเนื่อง การ Re-training การ Re-skill การ up-skill น่าจะไปรอด เพราะทุกวันนี้มหาวิทยาลัยเน้นสอนเด็กนักเรียนมากกว่าสอนผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้ว ในขณะที่หนึ่ง โลกจะเข้าสู่ Aging society อย่างรุนแรง สอง การระเบิดดิจิทัล (Digital Disruption) จะทำให้คนตกงานอีกมากมาย ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์จะเก่งขึ้นมากจนแทนคนทำงานได้ในหลายๆ งาน และทำให้คนตกงาน ตกยุคมีมากขึ้น หน้าที่ของมหาวิทยาลัยต่อสังคมประการหนึ่งก็คือการสอนให้คนมีทักษะที่ดีพอที่จะกลับไปทำงานได้อีกครั้ง ตลาดนี้จะเป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่มหาวิทยาลัยเองโดยเฉพาะอาจารย์ผู้สอนต้องปรับตัวไม่ให้ตัวเองตกยุคเสียก่อนจึงจะทำหน้าที่นี้ได้สำเร็จ

ก็อยากฝากให้มหาวิทยาลัยและอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหลายไปลองคิดดูว่าตนเองได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง หรือยังไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาวใดๆ เลย ท้ายที่สุดทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและอาจารย์มหาวิทยาลัยจะไปไม่รอด ท่านจะไม่ได้ไปต่อ เตรียมหางานใหม่เถิดหากยังไม่ลงมือทำอะไรเลย

Isnin, 15 Julai 2019

ความสัมพันธ์เชิงชาติพันธุ์โดยการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ระหว่าชาวมลายูมุสลิมกับชาวไทยพุทธ

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
    บทความย่อในเรื่องการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ระหว่างชาวมลายูกับชาวไทยพุทธนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย ที่ทำเมื่อหลายปีก่อน แต่ยังเห็นว่า มีประโยชน์ จึงคัดมาเพื่อใช้ในการศึกษาต่อยอดต่อไป เป็นการศึกษาวิจัยระหว่างพื้นที่รัฐกลันตันและจังหวัดนราธิวาส
    ในพื้นที่งานวิจัย  ด้วยชาวมลายูมุสลิมและชาวไทยพุทธทั้งในพื้นที่ประเทศไทยและมาเลเซีย  ทั้งสองกลุ่มชนอยู่รวมกันในพื้นที่ใกล้เคียงกัน  ดังนั้นทั้งชาวไทยพุทธและชาวมลายูมุสลิมบางส่วนจึงมีการสมรสข้ามชาติพันธุ์  สิ่งนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดการผสมผสานกันทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะชาวไทยพุทธกับชาวมลายูมุสลิมที่สมรสกัน ช่วยก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันมากยิ่งขึ้น การสมรสเป็นการยอมรับทั้งทางด้านพฤตินัยและนิตินัย บ่งชี้ให้เห็นถึงสภาพของการยอมรับในพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในดินแดนเดียวกัน เมื่อเกิดการยอมรับก็ทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

การแต่งงานโดยข้ามเผ่าพันธุ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดการรับวัฒนธรรมไทย เสาวณีย์  จิตต์หมวด ได้ให้แนวทางที่คนมลายูที่ได้รับวัฒนธรรมไทย  มี 3 กรณี
   กรณีที่หนึ่ง ได้รับวัฒนธรรมไทยโดยตั้งชื่อสกุล
   กรณีที่สอง ได้รับวัฒนธรรมไทยโดยไม่รู้ตัว เป็นเรื่องปกติธรรมดา
   กรณีที่สามได้รับวัฒนธรรมโดยทั้งหมด ทั้งกาย ใจ และยอมเปลี่ยนศาสนาจากอิสลามไปเป็นศาสนาพุทธ 
   
   ทั้งสามกรณีนี้ได้ปรากฏในสังคมมลายูของจังหวัดชายแดนภาคใต้  สำหรับในกลุ่มหมู่บ้านพื้นที่การวิจัยนั้น  ก็ได้เกิดกรณีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ด้วย สมัยก่อนการแต่งงานในสังคมมลายูของจังหวัดชายแดนภาคใต้  การเลือกคู่ครองเป็นของพ่อแม่ การแต่งงานในระบบเครือญาติ หรือแต่งงานกับบุคคลที่มีสถานะเดียวกัน เช่น กู นิ หรือ วัน เป็นต้น

   ในปัจจุบันนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิม คือไม่นิยมแต่งงานกับเครือญาติ เพราะมีความเชื่อว่า ถ้าแต่งงานกับเครือญาติลูกที่เกิดมาจะไม่ฉลาด สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลจากการขัดเกลาจากระบบการศึกษาสมัยใหม่

ชุมชนในพื้นที่การวิจัยที่อาศัยอยู่ในสามจังหวัดสามชายแดนภาคใต้และรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย แบ่งได้เป็นสองส่วน  คือหนึ่ง ชุมชนชาวมลายูมุสลิม สอง ชุมชนไทยพุทธและจีนพุทธ   ซึ่งชุมชนจีนหรือคนจีนนั้น ถ้าเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองจะมีการผสมผสมกลืนกับชุมชนไทยพุทธ แต่ถ้าอาศัยอยู่ในอำเภอรอบนอกหรือในชนบทจะมีการรับอิทธิพลของชาวมลายูมากกว่า  บางคนจะมีชื่อเป็นภาษามลายู บางคนนั้นจะพูดภาษามลายูไม่ผิดเพี้ยนจากคนมลายูเลย แต่เมื่อดูหน้าตาจึงรู้ว่าเป็นคนจีน  การที่ชุมชนชาวมลายูมุสลิมในกลุ่มหมู่บ้านพื้นที่การวิจัยได้มีการปฏิสัมพันธ์กับชาวไทยพุทธและคนจีน   ทำให้เกิดการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์  

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นและมีการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ขึ้นเช่นกันในหมู่บ้านพื้นที่การวิจัยในประเทศมาเลเซีย  โดยทั้งหมดเมื่อเกิดการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ ด้วยชาวมลายูมุสลิมมีความเคร่งและยึดถือในศาสนาของตนเอง กฎของศาสนาอิสลามกล่าวว่าชาวมุสลิมสามารถแต่งงานกับชาวมุสลิมด้วยกันเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีการแต่งงานกัน  ผู้ที่นับถือศาสนาอื่น  ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายมักต้องเปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาอิสลาม

ในชุมชนของหมู่บ้านพื้นที่การวิจัยแห่งที่หนึ่ง  เกิดการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์  โดยฝ่ายชายเป็นชาวมลายูมุสลิม  และฝ่ายหญิงเป็นไทยพุทธ  นายอดุลย์(นามสมมติ) ชาวมลายูมุสลิมผู้แต่งงานกับชาวไทยพุทธกล่าวว่า

ตอนแรกทางครอบครัวฝ่ายหญิงไม่เห็นด้วยอย่างมาก   เพราะฝ่ายหญิงเป็นข้าราชการ  ส่วนผมเป็นชาวบ้านธรรมดา  ฝ่ายหญิงสามารถหาผู้ชายที่ดีกว่าผมได้อีก  ทางครอบครัวต้องการที่จะให้ฝ่ายหญิงแต่งงานกับผู้ชายพุทธมากกว่า  ครอบครัวเขากีดกั้นผมอย่างมาก  แต่ในที่สุดผมก็สามารถแต่งงานกับฝ่ายหญิงได้   ทางครอบครัวฝ่ายหญิงโกรธมาก  เป็นเวลานานที่ผมไม่สามารถเข้าไปในบ้านฝ่ายหญิงได้ จนเรามีบุตรด้วยกัน ทำให้ครอบครัวฝ่ายหญิงเริ่มอ่อนลง  ในที่สุดผมก็สามารถเข้าบ้านฝ่ายหญิงได้ ผมเองก็เริ่มสร้างความดีกับครอบครัวฝ่ายหญิง ในปัจจุบันเมื่อครอบครัวฝ่ายหญิงต้องการจะทำอะไร หรือขอความช่วยเหลืออะไร คนแรกที่ครอบครัวฝ่ายหญิงจะขอความช่วยเหลือคือผม ผมกับครอบครัวฝ่ายหญิงสามารถเข้ากันได้  บุตรผมก็ไปเยี่ยมตายายเขา  โดยส่วนตัวผมว่าชาวมลายูมุสลิมกับชาวไทยพุทธ  สามารถอยู่ร่วมกันได้  ขอให้แต่ละฝ่ายเคารพในศาสนาของแต่ละฝ่าย  อย่างผมญาติพี่น้องฝ่ายหญิงก็คือญาติพี่น้องผม เพราะเป็นเครือญาติของบุตรผม

สิ่งเหล่านี้เพื่อนของนายอดุลย์ที่ชื่อนายมะ(นามสมมติ)ได้กล่าวเสริมว่า
สิ่งที่นายอดุลย์พูดเป็นความจริง  ชาวมลายูมุสลิมกับชาวไทยพุทธในบริเวณนี้ไม่ได้มีเพียงนายอดุลย์เท่านั้นที่แต่งงานกับชาวไทยพุทธ  ยังมีอีกหลายคู่ที่แต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์เช่นนี้  แต่ละครอบครัวก็มีความสุขดี ชุมชนชาวไทยพุทธและมลายูมุสลิมในพื้นที่นี้สามารถอยู่ร่วมกันได้  ความจริงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น  แต่เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กๆ เราชาวมลายูมุสลิมกับไทยพุทธก็สามารถอยู่ร่วมกันได้  ผมเองตอนเด็กยังร่วมกับเพื่อนไทยพุทธเที่ยวยิงนกในสวนแถวนี้  และในชุมชนนี้ยังมีบ้านชาวไทยพุทธคนหนึ่งปลูกอยู่ใกล้มัสยิด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างชาวมลายูมุสลิมกับไทยพุทธไม่มีปัญหา

    ในชุมชนของหมู่บ้านพื้นที่การวิจัยแห่งที่สอง มีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ระหว่างผู้หญิงชาวมลายูมุสลิมกับผู้ชายไทยพุทธ  โดยที่ผู้ชายไทยพุทธคนดังกล่าวเป็นข้าราชการ  ไม่มีความเคร่งในหลักการศาสนาอิสลาม  จนทำให้สภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวนี้ถูกปฏิเสธจากสังคมมลายูมุสลิมในชุมชน ต่อมาต้องย้ายครอบครัวออกจากชุมชนเข้าไปอยู่ในตัวอำเภอ เมื่อฝ่ายชายได้เสียชีวิตลง  ฝ่ายหญิงจึงย้ายกลับเข้าไปอยู่ในชุมชนอีกครั้ง และฝ่ายหญิงพร้อมบุตรได้กลับมานับถือศาสนาอิสลามที่เคร่งขึ้น นางกัลซง นามสมมติ)กล่าวว่า

   เมื่อแต่งงานกับสามีแล้ว สามีเป็นคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม  ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเพราะต้องการแต่งงานกับดิฉัน  เขาไม่เคร่งในศาสนาอิสลาม  ความเป็นอยู่มีลักษณะเหมือนคนไทยพุทธทั่วไป  เพียงไม่กินหมูเท่านั้น  ทำให้เครือญาติ  พี่น้องต่อต้าน ไม่เห็นด้วย สังคมมลายูในชุมชนส่วนหนึ่งปฏิเสธดิฉัน  ทำให้เห็นว่าต้องย้ายเข้าไปอยู่ในตัวอำเภอ แต่เมื่อสามีเสียชีวิตลง  ดิฉันจึงตัดสินกลับมาอยู่ในชุมชน และหันมาเคร่งในศาสนาอิสลามมากขึ้น จนปัจจุบันเครือญาติ พี่น้องดีใจที่ดิฉันหันกลับมาอยู่ในกรอบของศาสนาอิสลาม พวกเขากลัวว่าดิฉันจะหันไปนับถือศาสนาพุทธ
     นางตีมะห์(นามสมมติ)เพื่อนของนางกัลซงได้กล่าวเสริมว่า ดีใจที่เขาได้กลับเข้ามาอยู่ในชุมชนอีกครั้ง ความจริงก็คิดว่าเขายังคงเป็นมุสลิมอยู่ เพียงแต่ไม่มีความเคร่งในศาสนาอิสลาม  โดยเฉพาะสามีของเขา ทำให้ดูเหมือนว่าความเป็นมุสลิมของสามีเขากับขณะที่เขายังเป็นคนที่นับถือศาสนาพุทธนั้น ไม่มีความแตกต่างกัน จนบางคนเข้าใจว่าเขาได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธแล้ว  ไม่เพียงเท่านั้นบุตรของเขาก็เป็นอยู่เหมือนคนไทยพุทธ ก็ดีใจที่เขาและบุตรได้กลับมาอยู่ในสังคมมลายูมุสลิมอีกครั้ง

   ในชุมชนของหมู่บ้านพื้นที่การวิจัยแห่งที่สาม  มีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์เช่นเดียวกัน

แต่ด้วยหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซีย  ซึ่งตามรัฐธรรมนูญของประเทศมาเลเซียนั้น  ถือว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ และชาวมลายูมุสลิมทุกคนต้องแต่งงานกับชาวมุสลิมเท่านั้น ไม่ว่าผู้ที่แต่งงานด้วยจะมีเชื้อชาติใดๆก็ตาม การเปลี่ยนศาสนาจากศาสนาอิสลามไปนับถือศาสนาอื่น  ถือเป็นสิ่งต้องห้าม มีความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายอิสลามแต่ละรัฐของประเทศมาเลเซีย สำหรับรัฐกลันตันนั้น William R. Roff กล่าวว่า มีการใช้กฎหมายอิสลามในช่วงทศวรรษที่1830 หรือก่อนหน้านั้นเสียอีก