Ekonomi/Bisnis

Jumaat, 17 Ogos 2018

ชนชาวซาซัค เกาะลอมบอก อินโดเนเซีย ที่ได้รู้จัก

โดยนิอับดุลรากิ๊บ   บินนิฮัสซัน
          เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ร่วมงานสัมมนานานชาติว่าด้วยโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ภาษาและวัฒนธรรมในโลกมลายู ครั้งที่ 7 หรือ Seminar Antarabangsa Arkeologi Sejarah Bahasa dan Budaya di Alam Melayu kali ke 7 ซึ่งจัดโดยสถาบันอารยธรรมและโลกมลายู มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย และมหาวิทยาลัยฮาซานุดดิน เมืองมากัสซาร์ จังหวัดสุลาเวซีใต้ ประเทสอินโดเนเซีย การที่คณะผู้จัดงานเลือกเกาะลอมบอกเป็นสถานที่จัดงาน ด้วยเกาะลอมบอกเป็นเกาะแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่ง รองจากเกาะบาหลีที่ตั้งอยู่ไม่ห่างมากนัก

       และยังเป็นเกาะที่ธรรมชาติยังไม่ได้ถูกทำลายจากการแห่เข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเกาะบาหลี นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งจึงหนีจากเกาะบาหลีมาท่องเที่ยวที่เกาะลอมบอก และเกาะลอมบอกยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวของบรรดานักปีนเขาชาวไทย ด้วยเกาะลอมบอกมีภูเขาไฟรินจานี (Gunung Rinjan) ที่มีทะเลฃสาบบนยอดภูเขาสวยงามอันเกิดจากภูเขาไฟ ครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งแรกบนเกาะลอมบอกเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ก็มีนักปีนเขาชาวไทย กว่า 200 คนติดค้างบนภูเขารินจานี และเกิดแผ่นดินไหวครั้งที่สอง เมื่อต้นเดือนนี้ สร้างความเสียหายแก่ชาวเกาะลอมบอกมากยิ่งขึ้นกว่าครั้งแรก

ชาวซาซัคเป็นชนกลุ่มใหญ่ของเกาะลอมบอก โดยชาวซาซัคมีประชากรราว 3 ล้านคน มีภาษาเป็นของตนเองคือภาษาซาซัค ชาวซาซัคอาศัยอยู่บนเกาะลอมบอกราว 2.5 ล้านคน  สำหรับเกาะลอมบอก เป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนูซาเต็งการาตะวันตก โดยในจังหวัดนูซาเต็งการาตะวันตกประกอบด้วยเกาะใหญ่ๆ คือ เกาะลอมบอก เกาะซุมบาวา จังหวัดนี้มีประชากร 4.7 ล้านคน ประกอบด้วยชาวซาซัค 68 % ชาวบีมา 14 % ชาวซุมบาวา 8 %  ชาวบาหลี 3 % ชาวดัมปวัน 3 % และชาวชวา 2 %   โดยมีการนับถือศาสนาอิสลาม 96 % ศาสนาฮินดู 3 % และศาสนาพุทธ 1%

ชาวซาซัคมีความชำนาญในด้านการทอผ้า  ส่วนเกาะลอมบอกเอง ได้รับการขนานนามว่า เกาะแห่งพันมัสยิด หรือ pulau Seribu Masjid บนเกาะจะมีมัสยิดเป็นจำนวนถึง 5,400 แห่ง บางมัสยิด จะตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งของถนน  เวลาถึงวันศุกร์ ก็จะเวียนกันละหมาดวันศุกร์ สัปดาห์ละแห่ง  กีฬาประจำเผ่าของชาวซาซัค คือกิฬาที่เรียกว่า Presean  เป็นการต่อสู้ที่ใช้หวายไล่ตีกัน มีโล่ที่ทำด้วยหนังควายที่หนาและแข็งเป็นโล่ในการป้องกันตัวจากการตีด้วยหวายของคู่ต่อสู้ สำหรับชาวซาซัค แบ่งความเชื่อออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็น ชาวซาซัคที่นับถือศาสนาอิสลามเหมือนกับชาวมุสลิมทั่วๆไป  ส่วนที่สอง คือ กลุ่มชาวซาซัคที่นับถือศาสนาอิสลามสามเวลา หรือ Sasak Agama Islam Wetu Telu  แม้จะมีจำนวนน้อยมาก  แต่ก็ยังคงมีอยู่

ส่วนที่สามคือชาวซาซัคที่ยังนับถือความเชื่อก่อนการเข้ามาของอิสลาม คือ ชาวซาซัคบอดา (Sasak Boda)  คำว่า บอดา (Boda) ค่อนข้างจะใกล้เคียงกับคำว่า พุทธ (Buddha) แต่ชาวซาซัตบอดา ไม่ยอมรับและไม่รู้จักพระพุทธเจ้าของชาวพุทธ ศาสนาบอดาของชาวซาซัค มีการไหว้บูชาวิญญาณบรรพบุรุษ และได้รับอิทธิพลจากการเข้ามาของศาสนาฮินดู-พุทธโดยอาณาจักรมาชาปาฮิต ต่อมาในปลายศตวรรษที่ 16 และ 17 ศาสนาอิสลามก็ได้เผยแพร่เข้ามาแทนที่ในเกาะลอมบอก ชาวซาซัคบอดา จึงหนีไปยังเทือกเขา ที่ราบสูง        สิ่งที่ผู้เขียนสนใจยิ่งคือ ชาวซาซัคอิสลามสามเวลา แม้ว่าชุมชนชาวซาซัคอิสลามสามเวลาจะตั้งถิ่นฐานที่ห่างออกไปจากเมืองมาตารัม เมืองเอกของจังหวัดนูซาเต็งการาตะวันตก ราวเกือบ 100 กิโลเมตร

แต่ผู้เขียนกับอาจารย์ซาวาวี ปะดาอามีน จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็ได้เดินทางไปสัมผัส ระยะทาง 100 กิโลเมตรของประเทศอินโดเนเซีย ช่างเดินทางค่อนข้างลำบากกว่า 100 กิโลเมตรของประเทศไทย เมื่อเดินทางไปสัมผัสมัสยิดเก่าแก่ กว่า 400 ปีของชาวซาซัคอิสลามสามเวลา ข้อมูลที่เราได้รับจากคนดูแลมัสยิดนับว่าน้อยมาก เหมือนไม่ต้องการที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาอิสลามสามเวลา คนดูแลมัสยิดเก่าแก่บอกว่า อิสลามสามเวลานั้น เป็นจารีตประเพณีไม่ใช่ศาสนา พวกเขาก็ละหมาดห้าเวลาเหมือนกัน ซึ่งนับว่าแตกต่างจากงานวิจัยเกี่ยวกับศาสนาอิสลามสามเวลาของชาวซาซัคในจังหวัดนูซาเต็งการาตะวันตก

ที่เราอ่านมาก่อนเดินทางไปเกาะลอมบอก กล่าวว่าคำว่าศาสนาอิสลามสามเวลานี้ได้รับเพราะผู้ที่นับถือจะละหมาดเพียงสามเวลาในเดือนรอมฎอน คือ เวลาซุบฮ์ เวลามักริบ และเวลาอิชาอ ส่วนนอกเดือนรอมฎอน พวกเขาจะละหมาดเพียงหนึ่งวันในหนึ่งสัปดาห์ เป็นวันพฤหัสหรือวันศุกร์ ซึ่งจะรวมถึงการละหมาดอัสรีด้วย ส่วนที่เหลือจะเป็นหน้าที่ของผู้นำศาสนาของพวกเขา         นายมัสนูน ตาฮีร ได้วิจัยในงานเขียนเรื่อง การขัดแย้งของกฎอิสลามกับวัฒนธรรมชาวซาซัค (Pergumulan Hukum Islam dan Budaya Sasak) ได้กล่าวว่า การกล่าวปฏิญาณตนเองของชาวซาซัคกลุ่มนี้จะใช้ภาษาชวา จะไม่ใช้ภาษาอาหรับเฉกเช่นมุสลิมทั่วไป สำหรับการละหมาด สามารถจะแบ่งการละหมาดออกเป็น 3 ประเภท คือ ละหมาดวันศุกร์ ละหมาดศพ และละหมาดวันอีดทั้งอีดีลฟิตรี และอีดีลอัฏฮา 

โดยการละหมาดทั่วไปชาวซาซัคอิสลามสามเวลาจะละหมาดซุบฮ์  ละหมากมักริบ และละหมาดอิชาอฺ     ส่วนผู้เสียชีวิตโดยทั่วไปชาวมุสลิมจะห่อศพด้วยผ้าขาว ส่วนชาวซาซัคกลุ่มนี้จะแต่งศพด้วยชุดตอนที่เสียชีวิต และละหมาดวันอีดทั้งอีดีลฟิตรี และอีดีลอัฏฮานั้นชาวซาซัคกลุ่มนี้จะแตกต่างจากชาวมุสลิมทั่วไป นั้นคือ จะละหมาดวันอีดทั้งสองช้ากว่าชาวมุสลิมทั่วไป 4 วัน

ยังมีสิ่งแปลกแยกจากชาวมุสลิมทั่วไปอีก คือการถือศีลอด นายมัสนูน ตาฮีร ได้ศึกษาถึงชาวซาซัคอิสลามสามเวลา ปรากฏว่า ได้คำตอบที่ไม่เหมือนกัน ข้อแรกบอกว่า ชาวซาซัคอิสลามสามเวลา กล่าวว่าการถือศีลอดแบ่งออกเป็น สามเวลา หนึ่ง วันแรกถึงวันที่สิบห้าของเดือนรอมฎอน การถือศีลอดจะถือศีลอดเหมือนกับชาวมุสลิมทั่วๆไป  สอง วันที่สิบหกถึงวันที่ยี่สิบของเดือนรอมฎอน  จะถือศีลอดจนถึงเวลาละหมาดอัสรี หลังจากนั้นสามารถละศีลอดได้เลย  และสาม ตั้งแต่วันที่ ยี่สิบเอ็ดถึงวันที่สามสิบของเดือนรอมฎอน ก็จะถือศีลอดเหมือนมุสลิมทั่วๆไป 

ข้อที่สอง สิ่งนี้แตกต่างจากข้อแรกด้วยคุณเอร์นี บูดีวันตี ในงานเขียนของเขาเรื่อง อิสลามซาซัค ระหว่างสามเวลากับห้าเวลา (Islam Sasak Wetu Telu Versus Wetu Lima) กล่าวว่า การถือศีลอดจะใช้เวลาเพียง เก้าวัน คือ จะถือศีลอดติดต่อกันสามวันแรกของเดือนรอมฎอน สามวันติดต่อกันของกลางเดือนรอมฎอน และสามวันติดต่อกันของปลายเดือนรอมฎอน  มีการกล่าวว่า ชาวซาซัคอิสลามสามเวลาจะปฏิบัติหลักการศาสนาอิสลามเพียงสามประการเท่านั้น คือ การปฏิญาณตน การละหมาด และการถือศีลอด    

อีกจารีตประเพณีหนึ่งของชาวซาวัค คือการแต่งงาน ชาวซาซัคเมื่อจะแต่งงานจะต้องให้ฝ่ายชายฉุดฝ่ายสาว หรือ เรียกพิธีการฉุดนี้ว่า merarik หรือการพาฝ่ายสาวหนี นับเป็นพิธีการแต่งงานที่ค่อนข้างจะแปลกแตกต่างจากชนชาวมลายูอื่นๆ  เมื่อฝ่ายชายต้องการที่จะแต่งงานกับฝ่ายสาว ฝ่ายชายร่วมกับมิตรสหายจะต้องฉุดฝ่ายสาวหนีไปอาศัยอยู่กับญาติมิตรฝ่ายชาย โดยไม่ให้พ่อแม่พี่น้องฝ่ายหญิงรู้ว่าลูกสาวถูกเก็บไว้ที่ใด คนนำทางบอกผู้เขียนว่า ตัวเขาเองเวลาแต่งงานก็ใช้วิธีฉุดสาวเหมือนกัน  และต้องฉุด แล้วซ่อนสาวไว้ไม่ให้ว่าที่พ่อตาแม่ยายรู้ว่าอยู่ที่ใด

และถ้าพ่อแม่หาตัวลูกสาวเจอ ฝ่ายชายก็ต้องเริ่มฉุดใหม่  การฉุดสาวนั้นห้ามไปเก็บไว้ที่บ้านพ่อแม่ตัวเอง การฉุดนี้ ถ้าฉุดฝ่ายสาวที่ชอบฝ่ายชาย หรือฝ่ายสาวยังมีคู่รัก ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไปฉุดฝ่ายสาวที่มีคู่รักแล้ว ย่อมสร้างความโกรธแค้นแก่คู่รักของฝ่ายสาวได้     การฉุดสาวที่ถือว่ามีเกียรติ คือการแจ้งพ่อแม่ฝ่ายสาวก่อนว่าจะฉุดลูกสาว แม้ว่าจะพบน้อยมาก โดยทั่วไป เวลาจะฉุดสาวมักจะไม่แจ้งพ่อแม่ฝ่ายสาวก่อน นั้นด้วยเหตุผลว่า การฉุดโดยแจ้งพ่อแม่ฝ่ายสาวนั้นจะเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าการฉุดที่ไม่ได้แจ้งพ่อแม่ฝ่ายสาว เมื่อฉุดสาวเป็นเวลาหนึ่งวันแล้ว

ฝ่ายชายจะส่งตัวแทนเพื่อฝ่ายพ่อแม่สาวว่า ลูกสาวของตัวเองถูกฉุดแล้ว และถูกซ่อนในสถานที่แห่งหนึ่ง การแจ้งข่าวต่อพ่อแม่ฝ่ายสาวนี้เรียกว่า Nyelabar การแจ้งข่าวนี้จะทำการโดยฝ่ายชายผ่านตัวเอง โดยพ่อแม่ฝ่ายชายไม่สามารถเกี่ยวข้องได้  กลุ่มที่ทำ Nyelabar นี้ จะประกอบด้วย 5 คน และแต่ละคนจะแต่งชุดประเพณีชนชาวซาซัค  และกลุ่มที่ทำ Nyelabar นี้จะไม่สามารถแจ้งตรงต่อพ่อแม่ฝ่ายสาวก่อน แต่กลุ่มที่ทำ Nyelabar จะต้องแจ้งขออนุญาตต่อหัวหน้าจารีตประเพณี ที่เรียกว่า Kliang หรือ tetua adat ก่อน  และการแจ้งข่าว ฝ่ายกลุ่มที่ทำ Nyelabar ก็ไม่สามารถเข้าบ้านฝ่ายสาว แต่จะนั่งหน้าลานบ้านของพ่อแม่ฝ่ายสาว โดยมีคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้เจรจากับพ่อแม่ฝ่ายสาว เพื่อเจรจาในการแต่งงาน ค่าสินสอด ค่าอะไรต่ออะไร      โลกมลายูช่างกว้างขวางเหลือเกิน ทุกแห่งมักมีประเพณีที่แตกต่างกัน เมื่อรู้เขา รู้เรา การจะเจาะตลาดสินค้าจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยินยอมที่จะง่ายมากขึ้นเท่านั้น