Ekonomi/Bisnis

Ahad, 29 Mei 2016

ชีวประวัติอิบนุคอลดูน (1332-1406) บิดาแห่งสังคมวิทยา

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
   อิบนูคอลดูล หรือชื่อเต็มว่า วะลียุดดีน อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ มุหัมมัด อิบนุ มุหัมมัด อิบนุ คอลดูน เป็นบิดาแห่งสังคมวิทยา ที่รู้จักกันทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มโลกมุสลิม  เรามาทำความรู้จักกับอิบนูคอลดูนกัน
วะลียุดดีน อับดุรเราะหฺมาน อิบนุ มุหัมมัด อิบนุ มุหัมมัด อิบนุ คอลดูน หรือรู้จักกันสั้นๆ ในนามของอิบนุคอลดูน เป็นนักฟิกฮฺ รัฐบุรุษ นักสังคมวิทยา และนักประวัติศาสตร์อันโด่งดังแห่งโลกมุสลิม ท่านเกิดในวันที่ 1 รอมฎอน ฮ.ศ. 732 (5 พฤษภาคม ค.ศ. 1332) บรรพบุรุษของท่านเป็นชาวเยเมนที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ที่เซวิลล์ (Seville) ประเทศสเปน และรับราชการอยู่ที่นั่น ครอบครัวของท่านก็ได้อพยพไปยังเมืองตูนิส (ปัจจุบันอยู่ในประเทศตูนีเซีย) ก่อนที่มุสลิมสเปนจะสูญเสียเซวิลล์ให้แก่ชาวคริสเตียนเพียงไม่กี่ปี

อิบนุคอลดูนเกิดที่เมืองตูนิส และได้รับการศึกษาที่นั่น ท่านได้รับการศึกษาในวิชาอัลกุรอาน อัลหะดีษ นิติศาสตร์ ภาษาอาหรับ ไวยากรณ์ และกวีนิพนธ์จากนักวิชาการที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้น ต่อจากนั้นท่านก็ได้ศึกษารหัสยวิทยา (mysticism) และปรัชญาจากนักวิชาการชาวสเปน    อิบนุคอลดูนได้รับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ หลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประทับตราสารขององค์สุลต่าน เลขาธิการของรัฐ นักการทูต ตลอดจนผู้พิพากษา

ในปี ค.ศ. 1352 ขณะที่มีอายุ 20 ปี อิบนุคอลดูนเข้ารับราชการในราชวงศ์หัฟศิด แต่ในปี ค.ศ. 1354 ท่านก็จากบ้านเกิดของท่านเดินทางไปยังเมืองเฟซ (Fez) เพื่อรับใช้สุลต่าน อบูอินาน และเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ที่เมืองเฟซ  ท่านได้ศึกษากับนักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายคน การรับราชการของท่านกับสุลต่านอบูอินานก็ไม่ยาวนานเท่าที่ควร ในปี 1357 ท่านถูกจำคุก แต่ในปี 1358 เมื่อ อบูอินานเสียชีวิต ท่านจึงได้รับการปล่อยตัว อัลหะสัน อิบนุ อุมัรซึ่งเป็นวิเซียร์ขององค์สุลต่านก็คืนตำแหน่งให้ท่าน ท่านจึงมีโอกาสรับใช้สุลต่านอบูสาเล็มซึ่งเป็นรัชทายาทของสุลต่านอบูอินานต่อไป

ในปี ค.ศ. 1362 อิบนุคอลดูนอพยพไปยังแกรนาดา ท่านได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากสุลต่านมุหัมมัดที่ 5 อีกสองปีต่อมาท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตไปเจรจาสันติภาพกับเพโดร (Pedro) แห่งคาสทิลล์ (Castille) ท่านจึงมีโอกาสเยือนเซวิลล์ซึ่งเป็นเมืองบรรพบุรุษของท่าน เพโดรเสนอที่จะคืนทรัพย์เดิมของบรรพบุรุษให้แก่อิบนุคอลดูน และเสนอให้ท่านรับราชการอยู่กับพระองค์ แต่อิบนุคอลดูนปฏิเสธ

เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองที่วุ่นวาย ประกอบกับความเบื่อหน่ายต่อชีวิตการเมืองที่ขึ้น ๆ ลง ๆ อิบนุคอลดูนจึงมุ่งหน้าไปสู่หมู่บ้านกอลลาต อิบนุสะละมะฮฺเพื่อทุ่มเทเวลาให้กับการผลิตผลงานทางวิชาการ ณ สถานที่แห่งนี้เองที่ท่านใช้เวลาถึงสี่ปีในการแต่งหนังสืออัลอิบาร ซึ่งเขียนเสร็จในปี 1372 บทนำของหนังสือเล่มนี้หรือ อัลมุก็อดดิมะฮฺ (al-Muqaddimah)   ซึ่งต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นเอกเทศจากกีตาบอัลอิบาร เป็นตำราที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในโลกมุสลิมและโลกตะวันตก


ในอัลมุกอดดิมะฮฺ อิบนุคอลดูน กล่าวว่าท่านได้ก่อตั้งศาสตร์แขนงใหม่นั่นก็คือศาสตร์ว่าด้วยอารยธรรม (Ilm al-Umran) ขึ้น ในหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ อิบนุ คอลดูนได้พูดถึงแนวคิดของท่านเกี่ยวกับการรวมกลุ่มของมนุษย์ สังคมในระดับต่าง ๆ ตลอดจนการเกิดและการล่มสลายของจักรวรรดิ นักวิชาการส่วนหนึ่งถือว่าอิบนุคอลดูนเป็นบิดาแห่งวิชาสังคมวิทยา (Sociology) ทั้งนี้เพราะท่านเป็นนักวิชาการคนแรกที่พยายามก่อตั้งกฎทางสังคมขึ้น

x

Selasa, 10 Mei 2016

วิชามลายูศึกษาในประเทศจีน

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
   ในประเทศจีนนั้นได้มีการจัดตั้งศูนย์มลายูศึกษาขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1927 ที่มหาวิทยาลัยจีหนาน  เมืองเซียงไห้  โดยเป็นส่วนหนึ่งของภาควิชาวัฒนธรรมโพ้นทะเล  ในช่วงสงครามญี่ปุ่นนั้นทาง The South Sea Society ได้ย้ายศูนย์การทำงานออกจากสิงคโปร์ไปยังประเทศจีนในปี 1942   ถือได้ว่า The South Sea Society มีบทบาทสำคัญต่อจีนในเรื่องเกี่ยวกับภูมิภาคมลายู    ในปี 1949 แผนกวิชามลายูได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะภาษาตะวันออก   มหาวิทยาลัยปักกิ่ง  และเปลี่ยนชื่อเป็นแผนกวิชาภาษอินโดเนเซีย    ซึ่งถือเป็นการเรียนเกี่ยวกับลายูศึกษาแรกที่เกิดขึ้น  ภายหลังจากที่มีการจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน    โดยเน้นการเรียนการสอนด้านภาษา  วรรณกรรม  วัฒนธรรม  และประวัติศาสตร์ของอินโดเนเซีย/มลายู    ในปี  1988 มหาวิทยาลัยปักกิ่งได้จัดตั้งสถาบันวิจัยขึ้นมาชื่อว่า  สถาบันวิจัยวัฒนธรรมอินโดเนเซีย/มลายู    จนถึงปัจจุบันในประเทศจีนมีสถาบันที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับมลายูศึกษาถึง 12 แห่ง   ที่มีชื่อเสียงเช่น  มหาวิทยาลัยปักกิ่ง, มหาวิทยาลัยเกียเหมิน, มหาวิทยาลัยจีหนาน,  สถาบันวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ยูหนาน,  สถาบันวิจัยเอเชีย-แปซิฟิก   ปักกิ่ง  และอื่นๆ 


x