Ekonomi/Bisnis

Rabu, 28 Januari 2015

ชนเผ่าโตบาโล กลุ่มคนผิวหนังลาย แห่งเกาะสุลาเวซี อินโดเนเซีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน



      ในจังหวัดสุลาเวซีใต้ มีชนเผ่าพันธุ์ที่อาสัยอยู่หลากหลายเผ่าพันธุ์ เผ่าใหญ่ๆ เช่น เผ่าบูกิส เผ่ามันดาร์ เผ่ามากัสซาร์ และเผ่าตาโรจา  และยังมีเผ่าพันธุ์เล็กๆ อีกมาก ชนเผ่าหนึ่งที่แปลก คือ ชนเผ่าโตบาโล ความจริงจะเรียกชนเผ่าก็ไม่ถูกนัก เพราะมีคณะวิจัย (รีซกี ยูเนียร์ซิห์ นูร และคณะ) จากมหาวิทยาลัยมูฮัมหมัดดียะห์มากัสซาร์ ได้รับข้อมูลจากคนกลุ่มนี้ โดยพวกเขากล่าวว่า
     
“ความจริง ชนเผ่าโตบาโล ไม่ใช่ชนเผ่า ก็เหมือนชนเผ่าอื่นๆ เพียงกลุ่มโตบาโล มีผิวหนังเป็นลายสีขาว จึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า กลุ่มโตบาโล (โต - คน  บาโล - ผิวหนังลาย) เท่านั้นเอง”

       เผ่าโตบาโล (To Balo) ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณพื้นที่ที่เรียกว่า เดซาบูโล บูโล (Desa Bulo Bulo) ในอินโดเนเซีย มีพื้นที่กว้างขวาง ปกติในมาเลเซีย คำว่า เดซา จะหมายถึง หมู่บ้าน แต่การปกครองในอินโดเนเซีย หลายๆหมู่บ้าน จะประกอบขึ้นมาเป็น หนึ่งเดซา สำหรับเดซาบาโล บาโล นั้นจะมีทั้งหมด 6 หมู่บ้าน ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาบูลูปาว (Pegunungan Bulu Pao) เดซาบูโล บูโล ในปี 2016 มีประชากร 2,188 คน

         เป็นเทือกเขาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทอดในพื้นที่อำเภอบาร์รู (Barru) และอำเภอปังเกป (Pangkep) ของจังหวัดสุลาเวซีใต้  ก่อนที่จะมีถนนเข้าไปยังเดซาบูโล บูโล ถือว่าเดซาบูโล บูโล เป็นพื้นที่ที่เข้าสู่ลำบากที่สุดของอำเภอบาร์รู

       ชนเผ่านี้ตั้งแต่เกิดมา จะมีผิวหนังที่แตกต่งจากคนอื่น บริเวณขา ร่างกาย และมือ โดยเฉพาะหน้าผาก จะมีผิวหนัง เป็นสีขาว ดังนั้นกลุ่มชนเผ่านี้ จะถูกเรียกว่า ชนเผ่าโตบาโล โดยคำนี้เป็นภาษาบูกิส  คำว่า โต แปลว่า มนุษย์ และคำว่า บาโล แปลว่า ลาย  

      ด้วยรูปร่างของกลุ่มเผ่านี้แตกต่างจากคนทั่วไป ทำให้พวกเขาหลีกตัวเองออกจากสังคมทั่วไป  พวกเขามีพฤติกรรมหลีกออกจากสังคมเช่นนี้นับตั้งแต่ครั้งยังมีระบบกษัตริย์ของสังคมชาวบูกิส

      กลุ่มชนเผ่าโตบาโล เริ่มมีประชากรน้อยลง ความเชื่อของกลุ่มชนเผ่าโตบาโลนั้น พวกเขาเชื่อว่า หนึ่งครอบครัวจะต้องมีสมาชิกไม่เกิน 10 คน ถ้าไม่เช่นนั้น สมาชิกคนที่ 11 ต้องตาย ซึ่งไม่แน่ใจว่า จะต้องถูกฆ่า หรือถูกนำไปทิ้งในสถานที่หนึ่ง จนแน่ใจแล้วว่าตาย

      กลุ่มชนเผ่าที่มีผิวหนัง เป็นลายสีขาวนี้ ไม่ได้เกิดจากโรค แต่เป็นเพราะยีนพันธุกรรม  อย่างไรก็ตามกลุ่มชนเผ่าโตบาโล มีความเชื่อว่า นั้นเพราะเป็นคำต้องสาปของเทวดา พวกเขากล่าวว่า มีครอบครัวหนึ่ง เห็นม้าลายคู่หนึ่งกำลังจะผสมพันธุ์ ไม่เพียงครอบครัวนี้จะเห็นเท่านั้น แต่ยังไล่ม้าลายคู่นั้น ทำให้เทวดาโกรธ และสาปแช่ง ให้กลุ่มชนเผ่าโตบาโล มีผิวหนังลายแบบม้าลายคู่นั้น ยังมีอีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า ตอนมนุษย์จะลงสู่โลก มนุษย์ได้ลงมาคู่กับม้าลาย  

       ปัญหาผิวหนังลายของกลุ่มชนเผ่าโตบาโล  สามารถหาทางออกได้ ด้วยการกลุ่มชนเผ่าโตบาโลไปแต่งงานกับกลุ่มชนเผ่าอื่น ข้ามยีนพันธุ์กรรม จะทำให้บุตรที่เกิดผิวหนังจะปกติ แต่ส่วนใหญ่กลุ่มชนเผ่าโตบาโล  จะแต่งงานกันเองภายในกลุ่มชนเผ่าเดียวกัน 

       การแต่งงาน ถ้าแต่งงานกันคนเผ่าอื่น ผิวหนังจะไม่มีลายขาว หรือถ้าแต่งงานกับคนชนเผ่าโตบาโลกันเอง ในกรณีภรรยาหรือสามี ไม่มีผิวหนังลาย ลูกที่เกิดมา จะมีทั้งผิวหนังลาย และไม่ลาย เป็นยีนพันธุ์กรรมจากฝ่ายทั้งคู่

       ภาษาที่พูดคือภาษาเบ็นตง  เป็นภาษาที่มีการผสมกันระหว่างภาษาบูกิส ภาษามากัสซาร์ และภาษาโกนโจ  ภาษาเบ็นตง เป็นภาษาพูดของทุกหมู่บ้านในเดซาบูโล บูโล

      อาชีพหลักของชนเผ่าบาโล คือการเพาะปลูก การทำสวน การเลี้ยงสัตว์และนับถือศาสนาอิสลาม

         ในสารนิพนธ์ของเดวี ปูรนามาสารี ยังกล่าวว่า  ชนเผ่าโตบาโล มีสถานะทางเศรษกิจ ที่พึ่งพาการเกษตร  มีการเพาะปลูก และรอผลผลิตเพื่อนำไปขายยังท้องตลาด ซึ่งอยู่อยู่ห่างไกลจากที่ตั้งถิ่นฐาน  เด็กๆชาวโตบาโล มีการศึกษาที่ค่อนข้างต่ำ รัฐเอง แทนที่จะพัฒนาด้านการศึกษา ก็เอาแต่ใช้กลุ่มเผ่าโตบาโล มาเป็นวัตถุเชิงการท่องเที่ยวเท่านั้น  ให้นักท่องเที่ยวมาชมความเป็นคนมีผิวหนังลาย ซึ่งมีแต่จะสร้างรอยแผลให้คนกลุ่มนี้

         โรงเรียนประถมต้น และโรงเรียนมัธยมตอนต้น ได้รับการสนุบสนุนจากออสเตรเลีย   เด็กๆที่มีผิวหนังลาย ได้รับการล้อนเลียนจากเพื่อนๆในโรงเรียน

        กลุ่มชนเผ่าโตบาโล จะมีศิลปะการละเล่นหนึ่ง ที่สร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอบาร์รู นั้นคือ การเต้นบนไฟ เรียกการเต้นบนไฟนี้ว่า tari Sere Api เคยไปแสดงการเต้นบนไฟมาแล้ว ในงานศิลปวัฒนธรรมอินโดเนเซีย ในปี 1993 ที่สวนย่อส่วนศิลปวัฒนธรรมอินโดเนเซีย ในกรุงจาการ์ตา ที่ชื่อว่า Taman Mini Indonesia Indah หรือ TMII Jakarta

           กลุ่มคนโตบาโล จะมีผิวหนังคงกระพัน ไฟไม่สามารถจะให้ผิวหนังไหม้ได้ แต่ในการเต้นรำไฟนั้น พวกเขาจะมีการดูแลรักษาไฟ เพราะกลัวว่า จะมีคนโยนตะปู หรือวัตถุประเภทเหล็ก เข้าไปในกองไฟ เพราะจะทำให้คนกลุ่มนี้มีความรู้สึกร้อนจากไฟและผิวหนังจะไหม้ ในยุคกษัตริย์บูกิส จะรับคนกลุ่มนี้มาเป็นนักรบทหารของรัฐ เพราะถือว่าเป็นคนคงกระพัน มีผิวหนังลาย


อ้างอิง :-
Dewi Purnamasari, Interaksi Sosial To Balo Denga n Masyarakat Di Desa Bulo-Bulo Kecamatan Pujananting, Kabupaten Barru, Provinsi Sulawesi Selatan, Fakultas Ushuluddin Filsafat Dan Politik, UIN Alauddin, Makassar, Sulawesi Selatan. 2017


Rezky Juniarsih Nur, Dian Astuti, Hesti Dwiana Putri, Reski, Syamsuria, “Studi Etnografi Pada Suku To Balo Di Desa Bulo Bulo, Kecamatan Pujananting, Kabupaten Barru, Provinsi Sulawesi Selatan”. Universitas Muhammadiyah Makassar, Jurnal PENA|Volume 3|Nomor 2|ISSN 2355-3766|514.

Selasa, 27 Januari 2015

เสวนานูซันตารา ครั้งที่ 1 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ดร.ซัยฟุลฮัก บินฮุสเซ็น
เนื่องในโอกาสที่ ดร.ซัยฟุลฮัก บินฮุสเซ็น อดีตรองคณบดี สถาบันมลายูศึกษา มหาวิทยาลัยมาลายา มาเลเซีย ซึ่งขณะนั้นเป็น Visiting Proffesor ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เดินทางจะกลับไปเยี่ยมน้องชายที่เจ็บอยู่ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไซนส์มาเลเซีย วิทยาเขตรัฐกลันตัน การเดินทางครั้งนั้นต้องผ่านจังหวัดปัตตานี ดังนั้นจึงถือโอกาสนี้ ให้ ดร.ซัยฟุลฮัก บินฮุสเซ็น แวะมาบรรยายให้นักศึกษามลายูศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ด้วยผู้เขียนรู้จักเป็นการส่วนตัวมานานแล้วกับดร.ซัยฟุลฮัก บินฮุสเซ็น รู้จักกันตั้งแต่ผู้ขียนกำลังเรียนปริญญาโทที่สถาบันมลายูศึกษา มหาวิทยาลัยมาลายา ส่วนดร.ซัยฟุลฮัก บินฮุสเซ็น ขณะนั้นกำลังเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปุตรามาเลเซีย  และขณะนั้นเขาทำงานเป็นครูที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในรัฐกลันตัน มาเลเซีย

ในการบรรยายของดร.ซัยฟุลฮัก บินฮุสเซ็น ครั้งนี้ ผู้เขียนถือโอกาสเป็นโครงการแรกของศูนย์นูซันตาราศึกษาในปี 2015 และผู้เขียนใช้ชื่อโครงการครั้งนี้ว่า “เสวนานูซันตารา ครั้งที่ 1” และจะเป็นโครงการต่อๆไปว่า “เสวนานูซันตารา ครั้งที่ 2” “เสวนานูซันตารา ครั้งที่ 3” “เสวนานูซันตารา ครั้งที่ 4” และ“เสวนานูซันตารา ครั้งที่.........”  การจัดบรรยายในครั้งนี้ ผู้เขียนมีการประชาสัมพันธ์ทางเฟสบุ๊ค โดยประชาสัมพันธ์ในกลุ่มเฟสบุ๊คต่างๆ จนทำให้มีผู้สนใจจำนวนมากพอควร แต่โฟกัสของผู้ฟังก็ยังคงอยู่ที่กลุ่มนักศึกษามลายูศึกษา นักศึกษาภาษามลายู ด้วยนักศึกษาทั้งสองกลุ่มนี้ ถือเป็นกลุ่มที่มีพื้นฐานมาแล้วพอสมควร

นับเป็นเรื่องโชคดีในการบรรยายในครั้งนี้ ปรากฏว่ามีนายอุดม ปัตนวงศ์ อดีตประธาน กกต. จังหวัดยะลาได้เข้าร่วมฟังด้วย และปรากฏว่าดร.ซัยฟุลฮัก บินฮุสเซ็น เดินทางมาถึงช้า ดังนั้นจึงให้นายอุดม ปัตนวงศ์เป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับอัตลักษณ์มลายูปาตานีก่อน และการบรรยายดำเนินไปด้วยดี โดยนายนายอุดม ปัตนวงศ์ บรรยายถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องักษาอัตลักษณ์มลายูของชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากนั้นเมื่อดร.ซัยฟุลฮัก บินฮุสเซ็นเดินทางมาถึง จึงบรรยายเกี่ยวกับภาษามลายู
นายอุดม ปัตนวงศ์ อดีตประธาน กกต. จังหวัดยะลา
สองทีมงานศูนย์นูซันตาราศึกษา
การบรรยายในครั้งนี้จะเป็นการบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับภาษามลายู ดร.ซัยฟุลฮัก บินฮุสเซ็นได้บรรยายถึงความสำคัญของภาษามลายูในการใช้ในกลุ่มประเทศอาเซียน และในอนาคตภาษามลายูก็จะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะภาษามลายูสามารถจะเป็นภาษาสื่อสารของประเทศอินโดเนเซีย มาเลเซีย บรูไน และชาวมลายูในสิงคโปร  ในการเดินทางของดร.ซัยฟุลฮัก บินฮุสเซ็นครั้งนี้ ผู้เขียนได้เจอกับบุคคลคนหนึ่งที่ผู้เขียนต้องการจะพบ 

ด้วยขณะที่ผู้เขียนและอาจารย์อับดุลราซัค ปาแนมาแล อาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กำลังทำวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยมาลายาอยู่นั้น เราทั้งสองได้ร่วมโครงการวิจัยของคณาจารย์มหาวิทยาลัยมาลายา มาเลเซีย โดยลงพื้นที่นอกจากจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสแล้ว ยังได้ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี  ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยมาลายาได้บุคคลผู้นั้นเป็นผู้นำทาง เป็นผู้อำนวยความสะดวกตลอกของการเดินทางภายในจังหวัดนครศรีธรรมราช และในการเดินทางของดร.ซัยฟุลฮัก บินฮุสเซ็นครั้งนี้ ผู้เขียนก็ได้เจอกับบุคคลผู้นั้น โดยบังเอิญ เขาคือคุณอับดุลชูโกร์  ฮุสเซ็น ชาวมลายูแห่งจังหวัดนครศรีธรรมราช  
ดร.ซัยฟุลฮัก บินฮุสเซ็น 
สื่อมวรชนก็มาด้วย
การบรรยายดร.ซัยฟุลฮัก บินฮุสเซ็นครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่างผู้เขียนกับทางดร.ซัยฟุลฮัก บินฮุสเซ็น และคุณอับดุลชูโกร์  ฮุสเซ็น เพราะหลังจากนี้ ทางศูนย์นันตาราจะต้องมีโครงการเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวมลายูนครศรีธรรมราชกับชาวมลายูในนครศรีธรรมราช รวมทั้งชาวมลายูในภาคใต้ตอนบนต่อไป
 กับคุณอับดุลชูโกร์  ฮุสเซ็น
กับดร.ซัยฟุลฮัก บินฮุสเซ็น

Ahad, 25 Januari 2015

งานพบปะสร้างสรรค์ ศิษย์เก่าราคำแหงจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ PNYS

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

"เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2558 ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อเด็กกำพร้า PNYS จัดงานระดมทุน สานฝันปันรอยยิ้มสู่เด็กกำพร้า PNYS ครั้งที่ 2 ณ สนามกีฬากลางจังหวัดปัตตานี โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานีเป็นผู้กล่าวเปิดงาน และมีสมาชิกกลุ่ม PNYS ตั้งแต่รุ่นก่อตั้งและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมงานมากกว่า 1,200 คน"

ข้อความข้างบนเป็นข้อความจากสื่อมวลชนหลากหลายสำนัก ที่มีการลงตีพิมพ์ ซึ่งก็เรียกได้ว่าไม่เกินจริงมากนัก สำหรับผู้เขียนเองแม้ว่าในช่วงที่เรียนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จะมีการทำกิจกรรมร่วมกับทางกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ PNYS จนเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนบทบาทของนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่ระดับสากล ด้วยผู้เขียนเคยเป็นกรรมการฝ่ายวิชาการของสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง และถือว่าเป็นสมาชิกสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหงคนแรกที่มาจากกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ PNYS นั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2524-2526 สำหรับนักกิจกรรมนักศึกษารุ่นนั้น มีนายเทพไท  เสนพงศ์ นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันเป็นนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ที่มีชื่อเสียง และเคยเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช อีกคนคือนายละม้าย  เสนขวัญแก้ว ประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหงก็เป็นนักการเมืองท้องถิ่นนครศรีธรรมราชที่มีชื่อเสียงเหมือนกัน 
ด้วยกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ PNYS นั้น ตั้งแต่รุ่นก่อตั้งจนและคาดว่าน่าจะถึงรุ่นปัจจุบัน มีความคิดที่หลากหลาย จากขวาสุดถึงซ้ายสุด ดังนั้นแม้ว่าผู้เขียนจะมีส่วนร่วมกับการทำกิจกรรมของและผ่านกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ PNYS 

แต่หลังจากผู้เขียนจบการศึกษาแล้ว ผู้เขียนไม่เคยร่วม และคิดว่าจะไม่ร่วมกิจกรรมใดๆกับบรรดาศิษย์เก่ารามคำแหงที่มาจากกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ PNYS ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานของกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ PNYS ที่จังหวัดยะลา
แต่ด้วยการจัดงานครั้งที่ 2 เป็นการจัดงานที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดที่ผู้เขียนทำงานอยู่ และมีกรรมการบางคนที่ผู้เขียนสนิท เช่น นายอิบราฮิม หะยีดามะ และนายอาแซ  บูงอสายู ดังนั้นจึงคิดว่าจะไม่เป็นการเหมาะที่จะไม่ไปร่วมงานกองทุนเพื่อเด็กกำพร้า PNYS ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้น ณ สนามกีฬากลางจังหวัดปัตตานี และมีนายเศรษฐ์  อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ผู้เป็นศิษย์เก่ารามคำแหงที่มาจากกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ PNYS

จากการสังเกตและการพูดคุยกับศิษย์เก่ารามคำแหงหลายๆคน ปรากฏว่าการขายบัตรระดมทุนยังไม่ทั่วถึง  ศิษย์เก่ารามคำแหงบางคนบอกว่า เพื่อนร่วมอำเภอไม่ได้รับบัตร เพราะคนที่รับผิดชอบภายในอำเภอไม่รู้ว่าเขาก็เป็นศิษย์เก่ารามคำแหงด้วย นั้นแสดงว่าระบบการจัดจำหน่ายบัตรยังมีปัญหา นอกจากภายในงานนั้นหลายต่อหลายคน อาจผิดหวัง จากที่คาดหวังว่าจะได้รู้จักศิษย์เก่ารุ่นพี่ รุ่นน้อง แต่การจัดระบบโต๊ะค่อนข้างมีปัญหา ซึ่งคิดว่าในการจัดงานครั้งต่อไป คงต้องมีการปรับปรุง
สำหรับการจัดอาหารนั้น ผู้เขียนเห็นว่าไม่ตรงวัตถุประสงค์มากนัก เช่น การจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดงานเพื่อระดมทุนเข้ากองทุนเด็กกำพร้า แต่ปรากฏว่าอาหารที่สั่งมานั้น กลายเป็นอาหารจากร้านอาหารหรูที่ราคาแพงกว่าร้านอาหารทั่วไป  นอกจากนั้นแทนที่จะสั่งอาหารจากร้านอาหารของศิษย์เก่ารามคำแหง ที่มีอยู่จำนวนหนึ่งในจังหวัดปัตตานี แต่กลับสั่งจากร้าอาหารที่ไม่เกี่ยวข้องกับศิษย์เก่ารามคำแหงแต่อย่างใด และก็คิดว่าในการจัดงานครั้งต่อไป คงต้องปรับเปลี่ยนการสั่งอาหารให้มีการประหยัดมากขึ้น เพื่อนำเงินในส่วนที่ประหยัดนั้นเข้ากองทุนเด็กกำพร้ามากกว่าจะเป็นค่าราคาหรู
ระบบการจัดงานค่อนข้างจะมีปัญหา เช่นในช่วงท้ายของงาน ปรากฏว่ามีขบวนรถบิ๊กไบค์ จำนวน 50 คัน มาถึงงาน แต่ปรากฎว่าทางผู้รับผิดชอบไม่สามารถบริการอาหารให้ขบวนรถบิ๊กไบค์ดังกล่าวได้ การที่ขบวนรถบิ๊กไบค์อาจจะบอกว่า ไม่เป็นไร มาเพื่อการกุศล นั้นเป็นธรรมเนียมทั่วๆไป ถ้าผู้เขียนเป็นหนึ่งในขบวนรถบิ๊กไบค์นั้น ผู้เขียนก็ต้องตอบเช่นนั้นเหมือนกัน ถามว่าในกลุ่มผู้รับผิดชอบงาน ไม่รู้เลยหรือว่าจะมีขบวนรถบิ๊กไบค์ จำนวน 50 คันมาร่วมงาน  คิดว่าในการจัดงานครั้งต่อไป ก็คงต้องมีการปรับปรุง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก