Selasa, 27 September 2016

สัยยิดมูฮัมหมัด อัลซากอฟฟ์ : กงสุลกิตติมศักดิ์อาณาจักรออตโตมานประจำสิงคโปร์

       สัยยิดมูฮัมหมัด อัลซากอฟฟ์ เป็นบุคคลที่มีบทบาทยิ่งในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโลกมลายูกับอาณาจักรออตโตมาน เขาเป็นหลานปู่ของสัยยิดอับดุลราหมาน อัลซากอฟฟ์  ปู่ของเขาเป็นนักธุรกิจชาวอาหรับฮัดรามีที่เดินทางมายังสิงคโปร์ในปี 1824  ปู่ของเขาได้ตั้งบริษัทชื่อว่า AlSagoff and Company โดยประกอบกิจการมากมาย ทั้งส่งออกไม้ซุง ยางพารา มะพร้าว โก้โก กาแฟ จากแหลมมลายูไปยังยุโรป และกลุ่มประเทศอาหรับ นอกจากนั้นยังมีเรือเดินเส้นทางสิงคโปร์ไปมะละกา และพื้นที่ในรัฐโยโฮร์ หลังจากสัยยิดอับดุลราหมาน อัลซากอฟฟ์ เสียชีวิต  บิดาของสัยยิดมูฮัมหมัด อัลซากอฟฟ์ ชื่อสัยยิดอาหมัด อัลซากอฟฟ์ ก็รับช่วงธุรกิจต่อ และเขาได้แต่งงานกับราชาซีตี (Raja Siti) บุตรสาวของฮัจญีฟาตีมะห์ (Haji Fatimah) คนเชื้อสายบูกิส (จากเกาะสุลาเวซี อินโดเนเซีย) ยิ่งทำให้อาณาจักรทางธุรกิจของสัยยิดอาหมัด อัลซากอฟฟ์ ขยายตัวออกไปอีก นอกจากธุรกิจในสิงคโปร์ยังขยายไปยังเกาะสุลาเวซีอีกด้วย เมื่อสัยยิดอาหมัด อัลซากอฟฟ์ เสียชีวิตในปี 1875 ธุรกิจทั้งหมดจึงเป็นของสัยยิดมูฮัมหมัด อัลซากอฟฟ์  สำหรับตระกูลอัลซากอฟฟ์แล้ว ถือได้ว่าสัยยิดมูฮัมหมัด อัลซากอฟฟ์ เป็นคนแรกของตระกูลที่เกิดในสิงคโปร์ โดยปู่ของเขาพาคุณพ่อของเขาเดินทางมาจากดินแดนฮัดราเมาต์ในประเทศเยเมน


       สิงคโปร์ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจของชาวอาหรับฮัดรามี และนอกจากนั้นสิงคโปร์ยังเป็นศูนย์กลางหรือ Hub ของเรืออาหรับฮัดรามี  ความสำคัญของสิงคโปร์ที่มีติอชาวอาหรับฮัดรามี เช่น ในปี 1928 ชาวอาหรับฮัดรามี ยังมีการจัดการประชุมชื่อว่า Hadrami Peace Conference ในสิงคโปร์  และสิงคโปร์เองยังเป็นศูนย์กลางการนำชาวมุสลิมเดินทางไปแสวงบุญยังนครมักกะห์ จากบันทึกปรากฎว่าในปี 1874  บริษัทของตระกูลอัลซากอฟฟ์ คือ บริษัท AlSagoff Singapore Steamship Company ได้ส่งคนไปทำฮัจญ์จำนวน 3,476 คน  และในปี 1885 มีบริษัทชาวอาหรับในสิงคโปร์ถึง 80 บริษัท ในสิงคโปร์ มีครอบครัวอาหรับที่มีชื่อเสียง เช่น ครอบครัวอัลซากอฟฟ์  ครอบครัวอัลยูนิด  ครอบครัวอัลกัฟฟ์ การที่สัยยิดมูฮัมหมัด อัลซากอฟฟ์ เป็นผู้ประกอบการส่งคนไปทำฮัจญ์ที่นครมักกะห์ ทำให้เขาต้องมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรออตโตมาน ซึ่งขณะนั้นนครมักกะห์ เป็นดินแดนภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมาน

      สำหรับเครือข่ายชาวอาหรับฮัดรามีในภูมิภาคมลายูนั้น สามารถเป็นสะพานสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโลกมลายูกับอาณาจักรออตโตมาน ชาวอาหรับฮัดรามีจากดินแดนในประเทศเยเมนปัจจุบัน ได้อพยพไปยังภูมิภาคมลายู จนเกิดลูกหลานมากมาย กระจายไปทั่ว มีทั้งในรัฐโยโฮร์ รัฐปาหัง รัฐตรังกานู เกาะชวา เกาะสุมาตรา เกาะกาลีมันตัน  กลุ่มลูกหลานเชื้อสายชาวอาหรับฮัดรามีเหล่านี้ จะสร้างเครือข่ายมากมาย และชาวอาหรับเอง มีความรู้ทางศาสนาอิสลามค่อนข้างสูง จนได้รับตำแหน่งสูงๆทางศาสนาอิสลามในอาณาจักรออตโตมาน  นายยาห์ยา อาร์มายานี ในหนังสือของเขาชื่อ Middle East Past and Present ได้กล่าวไว้ว่า The Turks honored the religion of the Arabs, the language of the Arabs, and the laws which the Arab had established ซึ่งส่วนหนึ่งกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสัยยิดมูฮัมหมัด อัลซากอฟฟ์ ผ่านความสัมพันธ์กับชาวอาหรับฮัดรามีที่มีบทบาทในอาณาจักรออตโตมาน

       อาณาจักรออตโตมาน มีการจัดตั้งสถานกงสุลในสิงคโปร์เมื่อปี 1864 และมีสัยยิดมูฮัมหมัด อัลซากอฟฟ์เป็นกงสุลของอาณาจักรออตโตมาน สัยยิดมูฮัมหมัด อัลซากอฟฟ์ ยังสร้างความสัมพันธ์กับบรรดาสุลต่านต่างๆในเกาะสุมาตรา เช่น สุลต่านแห่งเมืองเซียะศรีอินทราปุรา   สุลต่านแห่งเมือนปอนเตียนัก  สุลต่านแห่งเมืองลังกัต รวมทั้งผู้ว่าการของรัฐมะละกา รัฐปีนัง   เขายังสนับสนุนชาวอาเจะห์ในการต่อสู้กับฮอลันดา ชุมชนชาวอาหรับสิงคโปร์ได้บริจาคทรัพย์สินให้แก่ชาวอาเจะห์  โดยครอบครัวอัลซากอฟฟ์ เป็นตัวหลักในการรวบรวมเงินบริจาคในการสนับสนุนชาวอาเจะห์ ส่วนมัสยิดฮัจญีฟาตีมะห์ เป็นศูนย์กลางในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ สัยยิดมูฮัมหมัด อัลซากอฟฟ์เสียชีวิตขณะที่มีอายุได้ 70 ปี เมื่อปี 1906  เมื่อเขาได้เสียชีวิต  หลานน้าของเขาที่ชื่อว่า สัยยิดโอมาร์ อัลซากอฟฟ์ ต้องเดินทางกลับจากการบริหารบริษัทเครืออัลซากอฟฟ์ในกรุงอิสตันบุล เพื่อมาเป็นผู้บริหารในสิงคโปร์ต่อจากน้าของเขา
       ขณะที่สัยยิดมูฮัมหมัด อัลซากอฟฟ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ นงจิ (Nong Chik) ยังมีชีวิตเขาได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมมุสลิมมากมาย เช่น จัดตั้งกองทุนวากัฟชื่อว่า SMA Wakaf Funds  คำว่า SMA มาจากชื่อของเขาในภาษาอังกฤษว่า Syed Mohamed AlSagoff   และจัดตั้ง Muslim Trust Fund Association สำหรับ Muslim Trust Fund Association ยังคงมีจนถึงปัจจุบัน โดยทำหน้าที่บริหารมัสยิด และดำเนินการบริหารศูนย์เด็กกำพร้า 2 แห่ง  คือ ศูนย์เด็กกำพร้าผู้ชายดารุลอิฮซาน (Darul Ihsan Boys’ Orphanage) และศูนย์เด็กกำพร้าผู้หญิงดารุลอิฮซาน (Darul Ihsan Girls’ Orphanage) นอกจากนั้นเขาได้สร้างและได้บริจาคทรัพย์สินเพื่อโรงเรียนอาหรับอัลซากอฟฟ์(Alsagoff Arab School )  ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้เปิดการสอนจนถึงระดับมัธยมปลาย  และยังมีสิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยทราบ นั้นคือ โรงแรมราฟเฟิล สิงคโปร์ ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีชื่อของประเทศสิงคโปร์ และเปิดบริการตั้งแต่ปี 1887 นั้น แม้ว่าคนเชื้อสายอาร์เมเนียแห่งตระกูลซาร์กิส จะเป็นผู้บริหารโรงแรมจนมีชื่อเสียง แต่เจ้าของกรรมสิทธิ์ตัวอาคารและที่ดินนั้น เป็นของตระกูลอัลซากอฟฟ์ โดยตระกูลอัลซากอฟฟ์เพิ่งจะขายอาคารและที่ดินโรงแรมราฟเฟิลให้ธนาคารมาลายันแบงกิ้ง ในปี 1963 ในราคาขณะนั้น 1.415 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

      เราไม่อาจปฏิเสธถึงบทบาทตระกูลอัลซากอฟฟ์ ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ และไม่อาจปฏิเสธถึงบทบาทของสัยยิดมูฮัมหมัด อัลซากอฟฟ์ ในการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกมลายูกับอาณาจักรออตโตมานในอดีต

Tiada ulasan: