Isnin, 29 Disember 2014

ชุมชนชาวปาตานีในเกาะสุลาเวซี ประเทศอินโดเนเซีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
การเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ไปยังเมืองอุยุงปันดัง หรือในอีกชื่อหนึ่งว่าเมืองมากัสซาร์ ซึ่งเป็นเมืองเอกของจังหวัดสุลาเวซีใต้ บนเกาะสุลาเวซี ประเทศอินโดเนเซีย ต้องใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง นับว่าเป็นการเดินทางที่มีระยะทางค่อนข้างไกลพอสมควร  เป้าหมายในการเดินทางไปยังเกาะสุลาเวซีนอกจากเข้าร่วมการสัมมนาแล้ว ยังมีเป้าหมายเพื่อเยี่ยมชุมชนชาวปาตานี ที่ในอดีตเดินทางโดยเรือจากดินแดนปาตานีไปยังเกาะสุลาเวซี ซึ่งในการเดินทางในอดีตนั้น คงจะต้องใช้เวลานานพอควร ขนาดเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ยังต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมง ถ้านับจากปาตานี หรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน ก็ยิ่งต้องใช้เวลามากกว่านั้นอีก

สำหรับเรื่องราวการเดินทางของชาวปาตานีไปยังเกาะสุลาเวซีนั้น ครั้งแรกผู้เขียนได้รับรู้จากบทความที่เขียนขึ้นโดย คุณอับดุลลอฮ  ลออแมน นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหลังจากนั้นได้พบปะผู้คนที่มีเชื้อสายปาตานีจากเกาะสุลาเวซี เช่น นายซัฟรุลลอฮ ซันเร นักเขียนชาวอินโดเนเซีย ที่มักเดินทางไปมาระหว่างเมืองอุยุงปันดังกับกรุงกัวลาลัมเปอร์ เขาได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชาวปาตานีในเกาะสุลาเวซี  รวมทั้งนักเขียนรางวัลศิลปินแห่งชาติของมาเลเซีย คือคุณ อาเรนา วาตี ที่เกิดบนเกาะสุลาเวซี แต่มาใช้ชีวิตในประเทศมาเลเซีย ก็ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการมีอยู่ของชาวปาตานีบนเกาะสุลาเวซี และที่สำคัญที่สุด คือการได้พบดร. มุคลิส ฮัดราวี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาซานุดดิน เมืองอุยุงปันดัง เกาะสุลาเวซี ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชาวปาตานีบนเกาะสุลาเวซี

จากหลักฐานถึงการอพยพของชาวปาตานีไปยังเกาะสุลาเวซี โดยในอดีตไปตั้งถิ่นฐานในอาณาจักรโกวา (Gowa) นั้นกล่าวกันว่า ในอดีตการค้าขายระหว่างปาตานีกับเมืองต่างๆที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคมลายู หรือ นูซันตารา (Nusantara) มีมาเป็นเวลายาวนาน และยิ่งปาตานีเองในอดีตเคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญในภูมิภาคนี้ มีหลักฐานว่า เรือสินค้าจากปาตานีไปทำการค้าระหว่างปาตานีกับเกาะสุลาเวซีมาเป็นเวลานานแล้ว  หลักฐานจากทางเกาะสุลาเวซีได้บรรยายถึงการอพยพของชาวปาตานีว่า ในปี 1602-1632 ในช่วงที่มีสงครามระหว่างสยามกับปาตานีนั้น ชาวปาตานีภายใต้การนำของดาโต๊ะมหาราชาเลลา พร้อมเรือนับหลายสิบลำไปอพยพไปตั้งถิ่นฐานในเกาะสุลาเวซี  ในการอพยพของดาโต๊ะมหาราชาเลลาในครั้งนั้น คณะชาวปาตนีได้นำธงปาตานีที่ชื่อว่าธง Buluh Perindu ไปด้วย   

ที่เมืองโกวา(Gowa) ทางดาโต๊ะมหาราชาเลลาและชาวปาตานีได้ขออนุญาตตั้งถิ่นฐานในเมืองดังกล่าว ทางกษัตริย์เมืองโกวาที่ชื่อว่า กษัตริอีมางารางี ดาเอง มารับเบีย ก็ยินดีให้ชาวปาตานีดังกล่าวตั้งถิ่นฐานในเมืองโกวา พร้อมแต่งตั้ง  ดาโต๊ะมหาราชาเลลา หัวหน้าชาวปาตานีให้เป็นผู้นำของชุมชนชาวมลายูดังกล่าว  นี้เป็นข้อมูลแรกที่ได้กล่าวถึงการอพยพของชาวปาตานีไปยังเมืองโกวา (Gowa) ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดสุลาเวซีใต้
หลายต่อหลายครั้งที่ได้พบกับนักวิชาการชาวเมืองอุยุงปันดัง ก็มักกล่าวถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวปาตานีในเมืองอุยุงปันดัง แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ ดร. มุคลิส ฮัดราวี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาซานุดดิน เมืองอุยุงปันดัง ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจถึงการตั้งของชาวปาตานีบนเกาะสุลาเวซี

ดร. มุคลิส  ฮัดราวี ได้กล่าวถึงการอพยพมาตั้งถิ่นฐานของปาตานี ในอีกมุมมองหนึ่ง เขากล่าวว่าจากเอกสารหลักฐานของชาวบูกิส-มากัสซาร์ ได้บันทึกถึงการอพยพเข้ามาของชาวปาตานีบนเกาะสุลาเวซี โดยเขากล่าวว่า มีหลักฐานว่า ชาวปาตานีอพยะไปยังเกาะสุลาเวซี 2 ระลอกด้วยกัน ส่วนที่มีการกล่าวถึงการอพยพไปยังเกาะสุลาเวซีของดาโต๊ะมหาราชาเลลาและคณะชาวปาตานีนั้น เขากล่าวว่านั้นคือเป็นการอพยพในระลอกที่ 2 

เขาได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการอพยพครั้งแรกของชาวปาตานีไปยังเกาะสุลาเวซีนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 1512  นั้นคือการอพยพของชาวปาตานีภายใต้การนำของดาโต๊ะเลียง อับดุลกาเดร์ (Datuk Liang bdul Kadir )และภรรยาของดาโต๊ะเลียงที่มีชื่อว่าตวนฟาตีมะห์(Tuan Fatimah)  ในเอกสารหลักฐานกล่าวว่าดาโต๊ะเลียง เดินทางมาจากจัมบู (อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน) โดยมาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนใช้ชื่อว่าชุมชนปาตานี ปัจจุบันยังมีหลักฐานสุสานของดาโต๊ะเลียงแสดงถึงการมีส่วนตนของดาโต๊ะเลียง ส่วนการอพยพของดาโต๊ะมหาราชาเลลาพร้อมชาวปาตานีนั้นเป็นการอพยพในระลอกที่ 2  แต่ก็ได้ไปตั้งถิ่นฐานในชุมชนชาวปาตานีที่เดินทางมาในระลอกแรกเช่นกัน ในข้อมูลที่ ดร. มุคลิส ฮัดราวี ค้นพบยังได้กล่าวถึงการอพยพของดาโต๊ะมหาราชาเลลาว่า เขาได้เดินทางไปยังเกาะสุลาเวซีพร้อมกับภรรยาที่ชื่อว่า ปุตรีนิลามเกอสุมะห์  

นอกจากนั้นในกลุ่มของดาโต๊ะมหาราชาเลลายังมีขุนนางปาตานีที่ชื่อว่า ดาโต๊ะปาดุการาชา (Datuk Paduka Raja) พร้อมภรรยาที่ชื่อว่า ปุตรีเสนาปาตี (Putri Senapati)  การอพยพระลอกที่ 2 นี้แหละ เมื่อมาตั้งถิ่นฐานในชุมชนที่ชาวปาตานีระลอกที่ 1 มาอยู่ ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อชุมชนว่า ชุมชนซาลาโย (Salajo) จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อชุมชนจากเดิมที่ชื่อว่า ชุมชนซาลาโย มาเป็นชุมชนปาตานี จนถึงปัจจุบัน  

ด้วยชุมชนชาวมลายูที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในเกาะสุลาเวซี มีทั้งที่เป็นชาวปาตานี ชาวมลายูอื่นๆ รวมทั้งที่เป็นชาวมีนังกาเบา  จึงเกิดการแต่งงานระหว่างชาวมลายูปาตานีกับชาวมีนังกาเบา  โดยเกิดขึ้นในรุ่นที่ 2 ของกลุ่มดาโต๊ะมหาราชาเลลา นั้นคือ ตวนอามีนะห์ (Tuan Aminah) บุตรสาวของดาโต๊ะมหาราชาเลลา  กับตวนราชาปุตรา ดาโต๊ะมะห์โกตา  (Tuan Rajja Putra Datuk Makotta) จากชุมชนชาวมีนังกาเบา สำหรับชาวมลายูในรุ่นที่ 3 จะใช้คำว่า เจ๊ะ/อึนเจ๊ะ (Enchek) นำหน้าชื่อ  และชาวมลายูรุ่นที่ 3 ของชุมชนมลายูนี้เมื่อได้แต่งงานกับชาวบาโย (Bajo) เมื่อได้ลูกหลานจะใช้คำว่า กาเร (Kare)นำหน้าชื่อ

    ปัจจุบันชุมชนปาตานีนับว่าเป็นชุมชนที่ค่อนข้างจะใหญ่ ตั้งอยู่ในตำบลมัปปากาซุงฆู (Mappakasunggu) อำเภอตากาลาร์  ในปี 2009 ชุมชนปาตานี ถูกแยกออกเป็น 3 ชุมชน  ชุมชนในที่นี้หมายถึง หน่วยการปกครองของอินโดเนเซียที่ใช้ชื่อว่า Desa ซึ่งมีสถานะเล็กกว่าระดับตำบล แต่ใหญ่กว่าระดับหมู่บ้าน นั้นคือหลายๆหมู่บ้านรวมกันเรียกว่า Desa  ชุมชนปาตานีประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน คือหมู่บ้านบนโตมาไน ( Bontomanai) หมู่บ้านมางูลับเบ (Mangulabbe) หมู่บ้านปาตานี และหมู่บ้านปัตเตเกรัง(Pattekerang) 
           คิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่ชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้จะฟื้นความสัมพันธ์ขึ้นมากับลูกหลานชาวปาตานี ซึ่งการสานความสัมพันธ์นี้ก็อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งของการเปิดประตูสินค้าจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปยังเกาะสุลาเวซี โดยเฉพาะจังหวัดสุลาเวซีใต้ที่มีประชากรถึง 8 ล้านคน
  

Tiada ulasan: