Isnin, 5 Mei 2014

ชาวปาตานีในโลกมลายู (ตอนที่ 1

โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน
ดินแดนปาตานีในอดีต ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดต่างๆในปัจจุบัน เช่น จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งสี่อำเภอของจังหวัดสงขลาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโลกวัฒนธรรมมลายู (Malay Cultural World) หรือที่มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่านูซันตารา (Nusantara) ดังนั้นการเคลื่อนไหลของผู้คนทั้งจากดินแดนปาตานีไปยังส่วนอื่นๆของโลกวัฒนธรรมมลายู หรือจากส่วนอื่นๆของโลกวัฒนธรรมมลายูมายังดินแดนปาตานีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันถือเป็นเรื่องปกติ  แม้ว่าในปัจจุบันโลกวัฒนธรรมมลายูจะถูกแบ่งโดยภูมิรัฐศาสตร์ แต่ความสัมพันธ์ ความมีวัฒนธรรมร่วม ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน
การเคลื่อนไหลของประชาชนในดินแดนปาตานีไปยังส่วนอื่นๆของโลกวัฒนธรรมมลายูนั้น มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เกิดจากปัญหาสงคราม เศรษฐกิจ และรวมทั้งการออกจากดินแดนปาตานีเพื่อเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ในครั้งนี้จะกล่าวถึงการอพยพของชาวปาตานีไปยังเกาะบอร์เนียว หรือเกาะกาลีมันตัน สำหรับเกาะกาลีมันตัน หรือเกาะบอร์เนียวนี้ จะกล่าวถึงการอพยพของชาวปาตานีไปยังประเทศบรูไน รัฐซาบะห์ ประเทศมาเลเซีย และจังหวัดกาลีมันตันตะวันตก ประเทศอินโดเนเซีย
สำหรับการอพยพของชาวปาตานีไปยังประเทศบรูไนนั้น เท่าที่มีหลักฐานเช่นกรณีของลูกหลานเชคอับดุลราห์มาน เปาเบาะ อัล-ฟาตานี โดยลูกหลานที่ชื่อว่า ฮัจญีวันสุไลมาน บินวันซูยี ได้อพยพออกจากดินแดนปาตานี โดยครั้งแรกได้อพยพไปยังหมู่บ้านที่ชื่อว่ากำปงอีไบ ในรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย ต่อมาได้เดินทางไปเผยแพร่ศาสนาอิสลามที่ประเทศบรูไน และที่ประเทศบรูไนได้เกิดบุตรชายชื่อว่านายวันซีฮาบุดดิน โดยผู้นี้มีชื่อเต็มยศถาบรรดาศักดิ์ของประเทศบรูไนว่า Pehin Orang Kaya di Gadong Awang Shahbuddin
ส่วนรัฐซาบะห์ ประเทศมาเลเซียนั้น เท่าที่ผู้เขียนทราบจะมีกลุ่มนักการศึกษาเชื้อสายปาตานีที่เดินทางไปทำงานในรัฐซาบะห์จำนวนหนึ่ง  แต่บางส่วนจะเดินทางไปในนามของชาวรัฐกลันตัน หนึ่งในจำนวนดังกล่าวคือคุณครูมูฮัมหมัด อับดุลราห์มาน เป็นคนเชื้อสายปาตานีที่ไปตั้งหลักแหล่งในรัฐซาบะห์ ตำแหน่งสุดท้ายคือผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมในตัวเมืองเอกของรัฐซาบะห์ คือเมืองโกตากีนาบาลู สำหรับคุณครูมูฮัมหมัด อับดุลราห์มาน นั้นกล่าวว่าพี่สาวของตนเองยังคงอาศัยอยู่ในอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส 
นอกจากการเดินทางของชาวปาตานีไปยังประเทศบรูไน และรัฐซาบะห์ของประเทศมาเลเซียแล้ว ชาวปาตานีในอดีตส่วนหนึ่งยังเดินทางไปยังเกาะบอร์เนียวหรือเกาะกาลีมันตันส่วนที่เป็นของประเทศอินโดเนเซีย โดยเฉพาะการเดินทางไปยังจังหวัดกาลีมันตันตะวันตกในปัจจุบัน
ในราวปีทศวรรษที่ 1760 สองนักการศาสนาจากปาตานีคือเชคอับดุลยาลิล  อัล-ฟาตานี และเชคอาลี บินฟาเกะห์ อัล-ฟาตานีพร้อมลูกเรือได้เดินทางไปยังอาณาจักรเมิมปาวะห์  โดยเชคอับดุลยาลิล  อัล-ฟาตานีได้เผยแพร่ศาสนาอิสลามที่เมืองซัมบัส ปัจจุบันสุสานของท่านตั้งอยู่ในลุมบัง เมืองซัมบัส  ส่วนเชคอาลี บินฟาเกะห์ อัล-ฟาตานี ตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านตันหยง เมืองเมิมปาวะห์ ต่อมาเชคอาลี บินฟาเกะห์ อัล-ฟาตานีได้รับแต่งตั้งจากเจ้าเมืองเมิมปาวะห์ให้เป็นมุฟตีของเมืองเมิมปาวะห์ โดยมีนามเป็นทางการว่า มหาราชาอิหม่ามเมิมปาวะห์  การเดินทางของชาวปาตานีไปยังจังหวัดกาลีมันตันตะวันตกก็ยังคงมี่อยู่ตลอดไป เช่น ฮัจญีฮัสซัน อัล-ฟาตานี อิหม่ามแห่งมัสยิดญามิอฺ เปอมังกัต อยู่ในอำเภอซัมบัส จนกระทั่งเมื่ออินโดเนเซียได้รับเอกราช การอพยพของชาวปาตานีจึงหยุดชะงัก ด้วยประเทศอินโดเนเซียมีระเบียบข้อกฎหมายต่างๆ  ถึงอย่างไรก็ตามลูกหลานชาวปาตานียังคงมีอยู่มากมายในเกาะบอร์เนียว หรือเกาะกาลีมันตัน
 ราชวังเมิมปาวะห์
ราชวังซัมบัส

                ลูกหลานชาวปาตานีเหล่านี้ยังคงสำนึกในความเป็นผู้สืบเชื้อสายปาตานี ดังนั้นความรุนแรง ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเป็นความเจ็บปวดของผู้คนกลุ่มหนึ่งในโลกวัฒนธรรมมลายู

Tiada ulasan: