Khamis, 31 Oktober 2013

เข้าร่วมการประชุมองค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม ครั้งที่ 14

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
เมื่อต้นเดือนกันยายน 2013 ผู้เขียนได้รับหนังสือเชิญจากองค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม ให้ส่งเยาวชนเข้าร่วมค่ายเยาวชนโลกมลายูโลกอิสลามและเข้าร่วมงานประชุมใหญ่ขององค์กรโลกมลายูโลกอิสลามหรือ Dunia Melayu Dunia Islam (DMDI)  และทางองค์กรโลกมลายูโลกอิสลามแจ้งว่าให้เชิญวิทยากรสตรีเพื่อเข้าร่วมเสวนาของโครงการกิจกรรมฝ่ายสตรีองค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม ดังนั้นผู้เขียนจึงต้องหาวิทยากรสตรีที่สามารถพูดคุยเกี่ยวกับบทบาทกิจกรรมของสตรีในประเทศไทย และเป็นที่น่ายินดีที่สามารถเชิญคุณตัสนีม  เจ๊ะตู สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส เขตอำเภอเจาะไอร้อง ซึ่งถือว่าเป็นนักพูด นักกิจกรรมทางสังคมผู้หนึ่ง 

ก่อนอื่นขอแนะนำองค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม
องค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม หรือ Dunia Melayu Dunia Islam (DMDI) เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในปี 2000 จากการประชุมใหญ่ครั้งแรกภายใต้การนำของดาโต๊ะสรีมูฮัมหมัดอาลี มูฮัมหมัดรุสตัม อดีตมุขมนตรีรัฐมะละกา ปัจจุบันเป็นวุฒิสมาชิกของมาเลเซีย องค์กรนี้จัดตั้งในลักษณะขององค์กรที่สังกัดรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐมะละกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคี ความร่วมมือในหมู่ประชาชาติมลายู-มุสลิม ในทุกๆด้าน และความร่วมมือระหว่างประชาชาติมลายู-มุสลิมกับประชาชาติอื่นๆในโลก

วัตถุประสงค์หลักขององค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม

1. สร้างความสามัคคีระหว่างสังคมมลายูและสังคมมุสลิมทั่วโลก
2. เป็นเวทีสำหรับผู้นำโลกมลายูและมุสลิมในการพูดคุยถึงความร่วมมือในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม สังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่
3. ดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
4. ให้ความช่วยเหลือสังคมมลายูและมุสลิมที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านการเงิน ความชำนาญการ การบริการและอื่นๆ
5. ฟื้นฟูความรุ่งเรืองของสังคมมลายูและมุสลิมในอดีตให้ชนรุ่นหลังเป็นแบบอย่างในอนาคต


 
นับตั้งแต่การจัดตั้งปี 2000 ที่รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย มีการประชุมใหญ่มาแล้วหลายครั้ง และมีการดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆมากมาย ทั้งในพื้นที่รัฐมะละกาและนอกรัฐมะละกา  ภายหลังจากที่มีการประชุมใหญ่องค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม ในปี 2001 ทางองค์กรโลกมลายูโลกอิสลามได้จัดตั้งฝ่ายต่างๆเพื่อดำเนินกิจกรรมขององค์กร เช่น 
o ฝ่ายเยาวชน
o ฝ่ายสตรี
o ฝ่ายดะวะห์
o ฝ่ายเศรษฐกิจ
o ฝ่ายการท่องเที่ยว
o ฝ่ายไมโครเครดิต
o ฝ่ายสังคมวัฒนธรรม
o ฝ่ายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี่ และนวัตกรรม
o ฝ่ายการศึกษา
o ฝ่ายการกีฬา
o ฝ่ายข้อมูลเทคโนโลยี่สารสนเทศ
o ฝ่ายอุตสาหกรรมฮาลาลไบโอเทคโนโลยี่

ในการเข้าร่วมงานเสวนานั้น โดยที่คุณตัสนีม  เจ๊ะตู ต้องบนเวทีพูดเสวนาในวันที่ 27 ตุลาคม 2013 ดังนั้นในวันที่ 26 ตุลาคม 2013 เธอและสามีจึงเดินทางไปยังรัฐมะละกา โดยมีคุณฮัจญีอาลี โต๊ะอิหม่ามมัสยิดแห่งหนึ่งเป็นผู้ติดตามไปด้วย 



คุณตัสนีม  เจ๊ะตู ได้ขึ้นพูดในเวทีเสวนาเกี่ยวกับสตรี โดยมีวิทยากรอีกท่านนึ่งมาจากประเทศอินโดเนเซีย รวมกับวิทยากรจากประเทศมาเลเซีย เจ้าภาพอีกคนหนึ่ง  นับว่าองค์กรโลกมลายูโลกอิสลามโดยฝ่ายต่างๆจัดกิจกรรมของฝ่ายตนเอง กระจายไปตามสถานที่ต่างๆ สำหรับเวทีเสวนาของฝ่ายสตรีนี้จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ฮังตูวะห์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ใหม่ที่เปิดให้บริการนักท่องเที่ยว



ส่วนผู้เขียนได้ขึ้นเวทีเสวนาในวันที่ 29 ตุลาคม 2013 เป็นเวทีเสวนาเกี่ยวกับการศึกษา และเศรษฐกิจ ในหัวข้อ “Pendidikan dan Ekonomi Dalam Mewujudkan Keamanan dan Kesejahteraan Umat Melayu Umat Islam” ที่มีวิทยากรอยู่ 4  คน โดยวิทยากร 3 คน ปรากฏว่าเป็นเรื่องแปลกที่ทั้งสามคนมีนามสกุล หรือชื่อบิดาที่เหมือนกัน นั้นคือ ดร. อีซา ฮัสซัน รองประธานองค์กรยามีอะห์ แห่งประเทศสิงคโปร์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลีย และปัจจุบันก็ยังรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศออสเตรเลีย ส่วนคนที่สองคือ ฯพณฯ ออกญา ออสมาน ฮัสซัน ผู้ซึ่งมีตำแหน่งควบถึง 3 ตำแหน่ง ตำแหน่งแรกคือ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งที่สอง คือ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฮุนเซ็น และตำแหน่งที่สาม คือ ปลัดกระทรวงแรงงานของประเทศกัมพูชา  และผู้เขียนเองที่มีนามสกุล (บินนิ)ฮัสซัน ตัวน้อยๆแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ส่วนวิทยากรคนสุดท้าย คือคุณมาอัส รอมลี ชาวมลายูจากประเทศศรีลังกา และก็ยังปรากฏว่าผู้เขียนค่อนข้างจะงงกับวงเสวนานี้ ด้วยผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ คือ รองศาสตราจารย์ ดร. อาบูบาการ์ มูฮัมหมัดดียะห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโนโลยี่ และนวัตกรรมของมาเลเซีย

การเสวนาเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา และเศรษฐกิจนั้น วิทยากรแต่ละคนจะพูดคุยถึงสภาพการศึกษา และเศรษฐกิจของประเทศตนเอง โดยฯพณฯออกญา ออสมาน ฮัสซัน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยด้วยภาษามลายู


ผู้เขียนเชื่อว่างานประชุมใหญ่ขององค์กรโลกมลายูโลกอิสลามในครั้งนี้ มีกิจกรรมของฝ่ายต่างๆที่หลากหลาย มีโครงการค่ายเยาวชนของฝ่ายเยาวชนองค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม มีกิจกรรมเสวนาของฝ่ายต่างๆ ล้วนเป็นพื้นที่ เป็นเวทีสำหรับการพบปะของบรรดานักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจจากประเทศต่างๆที่เข้าร่วมในองค์กรโลกมลายูโลกอิสลาม



สำหรับผู้เขียนนอกจากที่ได้พบปะเพื่อนเก่าๆจากประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นการกระชับความแน่นแฟ้นให้มากขึ้น ยังสามารถพบปะเพื่อนใหม่ๆ ซึ่งสามารถสร้างและเพิ่มเครือข่าย ต่อไปจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรมต่างๆของนักศึกษามลายูศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีในโอกาสต่อไป


Ahad, 27 Oktober 2013

นักศึกษามลายูศึกษา มอ. ปัตตานีกับค่ายเยาวชนองค์กรโลกมลายูโลกมุสลิม ที่รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับหนังสือเชิญจากดาโต๊ะวีรา ฮัจญีฮารุน  อิดริส มุขมนตรีแห่งรัฐมะละกา ในฐานะประธานฝ่ายเยาวชนขององค์การโลกมลายูโลกอิสลามให้ส่งเยาวชน นักศึกษาเข้าร่วมโครงการค่ายเยาวชนองค์การโลกมลายูโลกอิสลาม (Dunia Melayu Dunia Islam) ระหว่างวันที่  24-30 ตุลาคม 2013 ดังนั้นผู้เขียนจึงถือว่าเป็นโอกาสของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีที่ผู้เขียนทำงานอยู่ จะได้มีโอกาสเข้าร่วมหาประสบการณ์ในค่ายเยาวชนครั้งนี้  ผู้เขียนได้ร่วมงาน ร่วมกิจกรรมขององค์การโลกมลายูโลกอิสลามมาราว 8 กว่าปีแล้ว ดังนั้นถือเป็นเรื่องปกติที่ทางองค์การโลกมลายูโลกอิสลาม ซึ่งเป็นองค์กรหน่วยงานรัฐที่สังกัดสำนักมุขมนตรีแห่งรัฐมะละกา จะต้องเชิญร่วมงาน

ในการคัดเลือกผู้เข้าเรียนค่ายเยาวชนครั้งนี้ โดยที่ผู้เขียนได้ใช้วิธีเปิดโอกาสให้นักศึกษาวิชาเอกมลายูศึกษา นักศึกษาวิชาโทมลายูศึกษา และนักศึกษาวิชาเอกภาษามลายู  การคัดเลือกโดยใช้นักศึกษาแกนนำแต่ละคนเป็นผู้รวบรวมรายชื่อ  การคัดเลือกมีปัญหาบ้าง บางคนต้องการเดินทางเข้าร่วมแต่ไม่มีพาสปอร์ต บางคนต้องการเข้าร่วมแต่ทำพาสปอร์ตแล้ว พาสปอร์ตยังไม่ได้รับ  ทำให้ไม่สามารถเดินทางร่วมได้ 
 
เมื่อได้จำนวนนักศึกษาแล้ว จึงส่งรายชื่อไปยังรัฐมะละกา ด้วยจำนวนนักศึกษามีถึง 28 คน ซึ่งถือว่ามีจำนวนมาก ลำบากในการเคลื่อนย้าย ดังนั้นผู้เขียนจึงตรวจสอบเส้นทางการเดินทางที่น่าจะสะดวกที่สุด มีเส้นทางหลายเส้นทางที่จะไปรัฐมะละกา เช่น

1.  โดยสารรถตู้จากปัตตานีไปหาดใหญ่ และขึ้นรถบัสจากหาดใหญ่ไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ และจากสถานีรถบัสในกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังสถานีขนส่งสายใต้ (Terminal Bersepadu Selatan) จากนั้นจึงขึ้นรถบัสไปยังรัฐมะละกา ความลำบากจะอยู่ที่การเคลื่อนย้ายจากสถานีขนส่งในตัวเมืองไปยังสถานีขนส่งสายใต้

2. โดยสารรถตู้หรือรถสองแถวเพื่อประหยัดไปยังตลากตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จากนั้นข้ามแม่น้ำสุไหงโกลกไปยังตลาดปังกาลันกูโบร์ อำเภอตุมปัต รัฐกลันตัน มาเลเซีย  จากนั้นมี 2 ทางเลือก คือ ขึ้นรถบัสบางบริษัทที่ตลาดปังกาลันกูโบร์ หรือเดินทางด้วยรถบัสไปยังตัวเมืองโกตาบารู เมืองเอกของรัฐกลันตัน จากนั้นขึ้นรถบัสที่เมืองโกตาบารูไปยังรัฐมะละกา

สุดท้ายก็เลือกเส้นทางที่สอง โดยกำหนดให้นักศึกษาขึ้นรถที่ตลาดปังกาลันกูโบร์ตรงไปยังรัฐมะละกา  โดยให้นักศึกษาผู้รับผิดชอบเป็นผู้ประสานกับคนขายตั๋วรถบัส ประสานกับรถสองแถวที่จะใช้ในการเดินทางจากปัตตานีไปยังตลาดตาบา
โดยการดำเนินการทั้งหมดนักศึกษาจะเป็นผู้ดำเนินการเอง ไม่ว่าจะเป็นการไปยังรัฐมะละกาด้วยตัวเอง ผมทำหน้าที่เพียงผู้ประสานงาน  พร้อมมอบหมายเลขโทรศัพท์ของผู้รับผิดชอบในรัฐมะละกา ให้นักศึกษาติดต่อเมื่อเดินทางถึงรัฐมะละกา โดยผมจะเดินทางไปในภายหลัง  ในวันที่  23 ตุลาคม 2013  เมื่อนักศึกษาเดินทางถึงตลาดตาบา ผู้เขียนจึงเดินทางจากตัวเมืองนราธิวาสไปยังตลาดตาบา พบปะนักศึกษา พร้อมให้นักศึกษารักษาชื่อเสียงของนักศึกษา ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย  แม้ว่าการเดินทางจะเป็นการเดินทางที่ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว การประสานงานที่เป็นส่วนตัว แต่การเดินทางของคณะนักศึกษาก็ผ่านการขออนุมัติการเดินทางจากรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวัฒนธรรม มอ. ปัตตานี

หลังจากนั้นจึงแจ้งกำหนดการของงานค่ายเยาวชนองค์การโลกมลายูโลกอิสลามที่ทางรัฐมะละกาส่งมา ซึ่งได้รับการแจ้งว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงความความเหมาะสมและเป็นจริง ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆดังต่อไปนี้

 วันที่  24 ตุลาคม 2013  
ช่วงเช้าถึงเย็นจะเป็นการลงทะเบียนเยาวชนที่มาจากประเทศต่างๆ เพราะมาจากหลากหลายประเทศและเวลาที่มาถึงรัฐมะละกาก็แตกต่างกัน เช่นจากประเทศมาเลเซียเจ้าภาพ อินโดเนเซีย สิงคโปร์ จังหวัดชายแดนภาคใต้ อัฟริกาใต้ ศรีลังกา สำหรับคณะนักศึกษามลายูศึกษาเดินทางถึงรัฐมะละกาในช่วงเช้า หลังจากนั้นทางคณะจัดงานได้เดินทางมารับที่สถานีขนส่งมะละกาเซนตรัล (Melaka Sentral) แล้วไปส่งที่หมู่บ้านครอบครัวอุปถัมภ์ ด้วยปีนี้มีเยาวชนจากประเทศอินโดเนเซียค่อนข้างมากเกินไป มีจำนวนถึง 370 คน ดังนั้นจึงมีผลกระทบกับคณะนักศึกษามลายูศึกษาทำให้ต้องแบ่งนักศึกษากับนักศึกษาหญิงออกเป็นเพียง 2 บ้าน จากเดิมๆที่มีการแยกกันอยู่คนละบ้าน

พอช่วงเย็น ศาตราจารย์ ดร. อาบูบาการ์ มูฮัมหมัดดียะห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี่ และนวัตกรรมของมาเลเซีย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเจ้าของเขตพื้นที่ ทำพิธีมอบเยาวชนให้กับบรรดาครอบครัวอุปถัมภ์ของหมู่บ้านปายารุมปุตจายา (Kampung Paya Rumput Jaya)

วันที่  25 ตุลาคม 2013
ช่วงเช้าทำกิจกรรมพัฒนาพื้นที่บริเวณหมู่บ้าน สันทนาการกับครอบครัวอุปถัมภ์  ช่วงกลางคืนทำพิธีเปิดโครงการค่ายเยาวชนองค์การโลกมลายูโลกอิสลาม (Dunia Melayu Dunia Islam) โดยนายไครี ยามาลุดดิน บินอาบูบาการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและการกีฬาของมาเลเซีย  เป็นผู้เปิดพิธี และนายดาโต๊ะวีรา ฮัจญีฮารุน  อิดริส มุขมนตรีแห่งรัฐมะละกา ในฐานะประธานฝ่ายเยาวชนขององค์การโลกมลายูโลกอิสลามได้กล่าวการต้อนรับเยาวชนจากประเทศต่างๆ  

วันที่  26 ตุลาคม 2013  
ช่วงเช้าไปเยี่ยมการประกอบอุตสาหกรรมครอบครัว  เดินทางไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ฮังตูวะห์  ช่วงบ่ายเดินทางไปชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในตัวเมือง  และช่วงกลางคืนมีการแสดงทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ

วันที่  27 ตุลาคม 2013  
ช่วงเช้าคณะเยาวชนประเทศต่างๆได้เข้าร่วมการสัมมนา ซึ่งแบ่งออกเป็นหลากหลายสถานที่ ทั้งฝ่ายศาสนา สตรี ด้านภาษา  สำหรับคณะนักศึกษามลายูศึกษาได้เดินทางไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านภาษามลายู ช่วงกลางคืนจะเป็นพิธีปิดโครงการค่ายเยาวชนองค์การโลกมลายูโลกอิสลาม (Dunia Melayu Dunia Islam) โดยดาโต๊ะวีรา ฮัจญีฮารุน  อิดริส มุขมนตรีแห่งรัฐมะละกา ในฐานะประธานฝ่ายเยาวชนขององค์การโลกมลายูโลกอิสลาม จะทำหน้าที่พิธีปิด และมอบประกาศนียบัตรแก่เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการค่ายเยาวชนองค์การโลกมลายูโลกอิสลาม (Dunia Melayu Dunia Islam)

วันที่  28 ตุลาคม 2013
 ช่วงเช้าคณะนักศึกษามลายูศึกษาได้เข้าร่วมงานประชุมใหญ่ขององค์การโลกมลายูโลกอิสลาม (Dunia Melayu Dunia Islam) โดยแต่ละคนจะได้รับกระเป๋าเป้คนละใบ หลังจากนั้นก็เข้าร่วมการเสวนา ซึ่งทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่ายจะเป็นการเสวนาของฝ่ายต่างๆ โดยผูเขียนบังคับให้นักศึกษาเข้าร่วมในการเสวนาของฝ่ายเศรษฐกิจ อย่างน้อยเราก็จะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจบ้าง
 
วันที่  29 ตุลาคม 2013  
ช่วงเช้าคณะนักศึกษามลายูศึกษาได้เข้าร่วมงานประชุมใหญ่ขององค์การโลกมลายูโลกอิสลาม (Dunia Melayu Dunia Islam) หลังจากนั้นก็เข้าร่วมการเสวนา ซึ่งทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่ายจะเป็นการเสวนาของบุคคลจากประเทศต่างๆ  สำหรับผู้เขียนได้ร่วมเสวนากับหัวข้อเรื่อง “Pendidikan dan Ekonomi Dalam Mewujudkan Keamanan dan Ksejahteraan Umat Melayu Umat Islam” โดยร่วมเสวนากับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา ตัวแทนชาวมลายูศรีลังกา รองประธานองค์กร Jamiah Singapura จากประเทศสิงคโปร์ โดยมีศาตราจารย์ ดร. อาบูบาการ์ มูฮัมหมัดดียะห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี่ และนวัตกรรมของมาเลเซีย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
วันที่  30 ตุลาคม 2013
ช่วงเช้าจะเป็นการสรุปผลจากการจัดประชุมใหญ่ขององค์การโลกมลายูโลกอิสลาม (Dunia Melayu Dunia Islam) หลังจากนั้นจะมอบของที่ระลึกให้แก่ตัวแทนผู้เข้าร่วมจากประเทศต่างๆ  หลังจากรับประทานอาหารเที่ยงเสร็จ ราวเที่ยงกว่าๆคณะนักศึกษาและเยาวชนจากประเทศต่างๆเดินทางกลับไปยังหมู่บ้านของครอบครัวอุปถัมภ์  โดยคณะนักศึกษามลายูศึกษาทางครอบครัวอุปถัมภ์ได้พาไปเลี้ยงอาหารที่บริเวณช่องแคบมะละกา  หลังจากนั้นจึงขึ้นรถบัสที่สถานีขนส่งมะละกาเซนตรัล (Melaka Sentral)เดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ และจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ขึ้นรถบัสกลับไปยังรัฐกลันตัน โดยรถบัสมีปลายทางที่ตลาดปังกาปันกูโบร์  เมื่อเช้าตรู่ของวันที่  31 ตุลาคม 2013  ก็เดินทางถึงตลาดปังกาปันกูโบร์  จากนั้นข้ามแม่น้ำสุไหงโกลกไปยังตลาดตาบา อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส คณะนักศึกษาลงมติขอกลับปัตตานีด้วยรถตู้ เพราะค่อนข้างเหนื่อยกับการเดินทางครั้งนี้

สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมค่ายเยาวชนองค์การโลกมลายูโลกอิสลาม (Dunia Melayu Dunia Islam)
1. นักศึกษาได้มีครอบครัวอุปถัมภ์ในรัฐมะละกา ในโอกาสต่อไป เมื่อจะเดินทางไปยังรัฐมะละกา ก็มีครอบครัวอุปถัมภ์ จึงไม่จำเป็นต้องหาโรงแรม ความสัมพันธ์นี้เป็นเรื่องส่วนตัว ส่วนบุคคลที่แต่ละคนต้องสานกันเอง
2.  นักศึกษาได้มีเพื่อนใหม่ที่มาจากหลากหลายประเทศ ซึ่งสามารถสร้างเครือข่ายต่อไปในอนาคต
3. นักศึกษาได้ความรู้ ได้ประสบการณ์จากการเข้าร่วมงานประชุมใหญ่องค์การโลกมลายูโลกอิสลาม (Dunia Melayu Dunia Islam) ซึ่งก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่จะได้สร้างความรู้จัก สร้างเครือข่ายต่อไป