Khamis, 18 Mac 2010

สกว. ชวนคิด: การเมืองในมาเลเซียตอนเหนือกับอิทธิพลต่อชายแดนภาคใต้ของไทย

จาก หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดี 14 มกราคม 2553

ภาคภูมิ ทิพคุณ
ฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ (ฝ่าย 1)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

สกว. ชวนคิดฉบับแรกของปีนี้ จะพูดถึงเรื่อง อิทธิพลของโครงสร้างและผู้นำทางการเมืองในรัฐกลันตัน ตรังกานู และเปรัค ของมาเลเซียที่มีต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยย่อย ภายใต้ "ชุดโครงการวิจัยมาเลเซีย" โดยการสนับสนุนของ สกว.

คณะผู้วิจัยนำโดย อ.นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กำหนดวัตถุประสงค์หลักในการวิจัย เพื่อดูว่า โครงสร้างการเมืองการปกครอง แนวคิดของผู้นำทางการเมือง และนโยบายของรัฐกลันตัน ตรังกานู และเปรัคของมาเลเซีย (จากนี้ไปเรียกว่า สามรัฐทางภาคเหนือของมาเลเซีย) มีอิทธิพลต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยหรือไม่ อย่างไร และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการวิจัยดังกล่าว คณะผู้วิจัยได้ใช้การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Observation) การสนทนากลุ่ม (Group Discussion) การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) และการศึกษาเอกสาร (Documentary Research) เป็นวิธีการในการเก็บรวบรวมข้อมูล

ประเด็นข้อค้นพบที่น่าสนใจที่พอจะสรุปได้จากงานวิจัยชิ้นนี้ คือ
1. ประชาชนในสามรัฐทางภาคเหนือของมาเลเซียกับคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างแน่นแฟ้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานการมีอัตลักษณ์ร่วมในทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม และในทางศาสนา
เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในสามรัฐทางภาคเหนือของมาเลเซีย เป็นชาวมลายูเหมือนกับคนส่วนใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มีขนบธรรมเนียมประเพณีและภาษาที่เหมือนกัน ทำให้ง่ายต่อการพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี นอกจากนั้น การที่ประชาชนของทั้งสองพื้นที่มีการอพยพ ไปมาหาสู่ระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็ทำให้เกิดการสร้างระบบเครือญาติและเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งขึ้น และก่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกันเมื่ออีกฝ่ายมีปัญหา และยิ่งประชาชนส่วนใหญ่ของทั้งสองพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีวิถีปฏิบัติและระบบความเชื่อที่คล้ายคลึงกันด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เครือข่ายทางสังคมของคนในสองพื้นที่มีความแนบแน่นยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการมีองค์กรศาสนา และองค์กรเอกชนจำนวนมาก จากสามรัฐทางภาคเหนือของมาเลเซียเข้ามาให้ความช่วยเหลือ และดำเนินกิจกรรมทางสังคมและศาสนาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

2. แนวความคิดทางการเมืองของประชาชนบริเวณรัฐทางภาคเหนือของมาเลเซีย ส่วนใหญ่เป็นความคิดทางการเมืองแบบศาสนานิยม หรือแนวทางอนุรักษนิยม (Conservative) ซึ่งมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อแนวคิดทางการเมืองของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ศาสนาเป็นแนวทางในการต่อสู้ทางการเมือง
ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากรัฐทางภาคเหนือของมาเลเซียเป็นเขตอิทธิพลของพรรคการเมือง ที่เน้นแนวทางศาสนานิยม (นำโดยพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย หรือพรรค PAS) ซึ่งแตกต่างจากแนวทางความเป็นกลางของรัฐบาลกลางมาเลเซีย ทำให้การแก้ปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย มีความยากลำบาก เพราะรัฐบาลกลางมาเลเซียไม่สามารถเข้าไปควบคุม หรือกำหนดแนวทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในรัฐเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่

3. การปกครองแบบสหพันธรัฐของมาเลเซีย มีข้อดี คือ ทำให้ประชาชนในรัฐต่างๆ มีอำนาจในการกำหนดแนวทางการพัฒนาในรัฐของตนเองได้ ซึ่งแตกต่างจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่แนวทางการพัฒนาพื้นที่ถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง และประชาชนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการกำหนดนโยบาย และยิ่งไปกว่านั้น การที่รัฐทางภาคเหนือของมาเลเซียมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ก็ทำให้เกิดการเปรียบเทียบของคนในพื้นที่ โดยมีความเข้าใจว่า ความด้อยพัฒนาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผลมาจากการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจของรัฐบาลกลาง ดังนั้น ปัจจุบันจึงมีเสียงเรียกร้อง ให้มีการให้อำนาจในการปกครอง (Autonomy) แก่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น

4. รัฐบาลกลันตัน ตรังกานู และเปรัค ไม่ได้มีการกำหนดนโยบายต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยอย่างชัดเจนหรือเป็นทางการ ถึงแม้ว่าในอดีต รัฐกลันตัน ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรค PAS จะเป็นฐานที่มั่นหนึ่งในการสนับสนุน/ช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในประเทศต่างๆ (อาทิเช่น ชาวมุสลิมบอสเนียเฮอเซโกวีนา ชาวแคชเมียร์ ชาวปาเลสไตน์) แต่เนื่องจากผู้นำของรัฐกลันตันยังมองว่า สถานการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้ของไทยในขณะนี้ยังไม่เข้าขั้นวิกฤติ ดังนั้น ท่าทีของรัฐบาลท้องถิ่นรัฐกลันตัน จึงเป็นการแสดงความเห็นอกเห็นใจ (Sympathy) มากกว่า ที่จะเป็นการให้ความช่วยเหลือทางด้านวัตถุ (Material)

ในตอนท้าย คณะผู้วิจัยเสนอว่าควรมีการศึกษาโครงสร้างการเมืองการปกครองของรัฐชายแดนภาคเหนือของมาเลเซียในเชิงลึกมากขึ้น เพื่อหาความเป็นไปได้ในการนำประสบการณ์ของมาเลเซียมาประยุกต์ใช้กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะอ่านรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สกว. หมายเลขโทรศัพท์ 0-2278-8200 ต่อ 8217

ประมวลภาพการลงภาคสนามในการวิจัยเรื่องนี้

หน้าซุ้มหาเสียงพรรคปาส รัฐตรังกานู

กำลังเก็บธงพรรคการเมืองในตอนกลางคืน ที่เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน

หน้าซุ้มหาเสียงของพรรคอัมโน รัฐตรังกานู


ผู้ช่วยวิจัยกำลังเก็บข้อมูลในซุ้มหาเสียงของพรรคอัมโน รัฐตรังกานู

ผู้ช่วยวิจัยกำลังเก็บข้อมูลในซุ้มหาเสียงของพรรคอัมโน รัฐตรังกานู


ผู้ช่วยวิจัยกำลังหาข้อมูลในห้องสมุดประจำรัฐตรังกานู

ผู้ช่วยวิจัยในห้องสมุดประจำรัฐตรังกานู

ผู้สมัครอิสระ เมืองกัวลาตรังกานู รัฐตรังกานู

โปสเตอร์หาเสียงของพรรคปาสในเมืองปาริตบุนตาร์ รัฐเปรัค

หน้าสำนักงานพรรคอัมโน เมืองปาริตบุนตาร์ รัฐเปรัค

ซุ้มหาเสียงในตลาดรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน

ข้อความหาเสียงท้ายรถที่เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน

ศูนย์หาเสียงของดาโต๊ะมุสตาฟา มูฮัมหมัด ในอำเภอยือลี รัฐกลันตัน

ผู้ปฏิบัติงานพรรคปาสในรัฐกลันตัน


รถขนผู้ลงคะแนนจากพรรคแนวร่วมแห่งชาติ

ผู้สนับสนุนพรรคแนวร่วมแห่งชาติในรัฐกลันตัน

ผู้ช่วยวิจัย ที่ซุ้มหาเสียงของพรรคKIMMA พรรคชาวอินเดียมุสลิมมาเลเซีย พรรคที่ไม่ได้สังกัดพรรคแนวร่วมแห่งชาติ แต่สนับสนุนพรรคแนวร่วมแห่งชาติ

ผู้ช่วยวิจัยที่ป้ายรถเมล์ กรุงกัวลาลัมเปอร์

สำนักงานใหญ่พรรคอัมโน กรุงกัวลาลัมเปอร์

โปสเตอร์การเมือง ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์

ผู้ช่วยวิจัย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์

หน้าซุ้มหาเสียงของพรรคปาสที่รัฐกลันตัน

Tiada ulasan: