Khamis, 4 Oktober 2007

ขนบธรรมเนียมประเพณีมลายูปาตานี


โดย Nik Abdul Rakib Bin Nik Hassan
ขนบธรรมเนียมชาวมลายูปาตานีนั้น จะขอกล่าวถึงบางอย่างที่ส่วนหนึ่งยังคงมีการปฏิบัติในหมู่บ้านบางแห่ง และบางอย่างก็ได้สูญหายไปจากหมู่บ้านไปแล้วตามกาลเวลา ขนบธรรมเนียมประเพณีเหล่านี้ เช่น

1. การลงแขกเกี่ยวข้าว ในอดีตชาวบ้านในกลุ่มหมู่บ้านตัวอย่างทั้งที่มีความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายูและที่คลายความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายู จะมีประเพณีการร่วมกันลงแขกเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งในภาษามลายูกลางเรียกว่าเป็นการ Gotong Royong ส่วนภาษามลายูท้องถิ่นปาตานีจะเรียกว่า ปากะแต (pakatan) โดยชาวบ้านจะมีการร่วมมือลงแขก ช่วยกันเก็บเกี่ยวข้าวเปลือก แต่ด้วยกระแสสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ประเพณีการงแขกเกี่ยวข้าวในชุมชนของกลุ่มหมู่บ้านตัวอย่างได้สูญหายไป ในปัจจุบันนั้นการลงแขกเกี่ยวข้าวแทบจะไม่มีอีกแล้ว แต่จะเปลี่ยนวิธีการใหม่โดยมีชาวบ้านบางส่วนขอเข้าไปช่วยเกี่ยวข้าว โดยแลกเปลี่ยนขอสิ่งตอบแทนจากเจ้าของนาข้าวเป็นการขอรับซากาตข้าวเปลือก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการที่เจ้าของข้าวจ้างคนในพื้นที่และต่างพื้นที่มาเก็บเกี่ยวข้าวแทน การลงแขกเกี่ยวข้าวจะมีแทบทุกหมู่บ้านตัวอย่าง ยกเว้นหมู่บ้านตัวอย่างที่มีความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายูในจังหวัดปัตตานีที่อยู่ริมฝั่งทะเล ซึ่งชาวบ้านจะประกอบอาชีพการประมงแทนการปลูกข้าว ส่วนหมู่บ้านตัวอย่างที่มีความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายูในจังหวัดนราธิวาส แม้จะอยู่ใกล้ทะเล แต่ในอดีตนั้นชาวบ้านจะปลูกข้าวเพิ่งจะเลิกปลูกข้าวเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ด้วยปัญหาด้านที่ดินมีความเค็ม

2. การเลี้ยงข้าวใหม่ เป็นประเพณีของชาวบ้านในกลุ่มหมู่บ้านตัวอย่างที่มีการปลูกข้าวทั้งที่อยู่ในกลุ่มหมู่บ้านตัวอย่างที่มีความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายูและกลุ่มหมู่บ้านตัวอย่างที่คลายความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายู เมื่อมีการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะนำข้าวใหม่ที่เก็บเกี่ยวมาจัดเลี้ยงเพื่อนบ้าน การเลี้ยงนี้บางส่วนอาจหุงเป็นข้าวส่วย รับประทานกับกับข้าว แต่บางส่วนอาจแปรรูปเป็นขนมจีนมาจัดเลี้ยง ซึ่งการเลี้ยงข้าวใหม่ หรือที่เรียกว่า มาแก บือร๊ะบารู ยังคงมีอยู่ทั้งในหมู่บ้านตัวอย่างที่มีความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายูและหมู่บ้านตัวอย่างที่คลายความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายู

3. การลงแขกย้ายบ้าน ในอดีตนั้นกลุ่มหมู่บ้านตัวอย่างที่มีความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายูและกลุ่มหมู่บ้านตัวอย่างที่คลายความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายูจะสร้างบ้านเรือนโดยการยกพื้น ต่อมาเมื่อเจ้าของบ้านต้องการเคลื่อนย้ายที่ตั้งบ้าน จึงต้องเกณฑ์เพื่อนบ้านมาช่วยกันยกบ้าน ถึงอย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่จะสร้างบ้านบนดิน แม้จะยังคงมีบ้านที่สร้างยกพื้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างบ้านที่มั่นคงยากลำบากต่อการยกย้ายบ้าน ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังคงมีบ้านที่ยกพื้นและเจ้าของบ้านต้องการย้ายบ้านไปปลูกในที่ใหม่ ดังนั้นจึงยังคงต้องเกณฑ์เพื่อนบ้านมายกเคลื่อนย้ายบ้าน แต่ในปัจจุบันจะมีเป็นเพียงส่วนน้อยมาก สำหรับการเลี้ยงผู้ที่มาช่วยกันยกบ้านนั้นจะมีการเลี้ยงขนมหวาน เช่น หลอดช่อง ถั่วเขียวต้มกะทิ อาหารที่จัดเลี้ยงส่วนใหญ่จะเป็นอาหารหวาน

4. การขึ้นบ้านใหม่ เมื่อชาวบ้านคนใดมีการสร้างบ้าน ก็จะจัดเลี้ยงขึ้นบ้านใหม่ โดยการละหมาดฮายัต อ่านยาซีน และเลี้ยงอาหารคาว หวาน

5. การกินน้ำชา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า มาแกแต นั้นคือการเชิญเพื่อนบ้าน คนรู้จักมาช่วยสมทบทุนเพื่อหารายได้ในวัตถุประสงค์ที่ผู้เชิญต้องการ สำหรับอาหารที่เลี้ยงนั้น อาจแตกต่างกันไป ตามแต่ผู้เชิญจัดเลี้ยง บางคนเลี้ยงน้ำชาตามชื่อที่เรียก แต่บางคนจะเลี้ยงข้าวอาหาร ส่วนใหญ่จะเลี้ยงขนมจีน ข้าวยำ หรือข้าวราดแกง ประเภทของการกินน้ำชามีหลายชนิดเช่น

กินน้ำชาไปมักกะฮ

กินน้ำชาไปศึกษาต่อด้านศาสนาในต่างประเทศ

กินน้ำชาเพื่อชดใช้ค่าเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุ

กินน้ำชาไปเป็นทหารเกณฑ์

6. การเฝ้ากูโบร์ เมื่อคนในหมูบ้านตัวอย่างเสียชีวิตลง ก็จะมีการปฏิบัติตามความเชื่อของแต่ละสำนักความคิด ถ้าเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มแนวความคิดเก่า ก็จะมีการเฝ้ากูโบร์ และการเลี้ยงทำบุญ 7 วัน 40 วันและ 100 วัน แต่ถ้าเป็นกลุ่มแนวความคิดใหม่ จะไม่มีการเฝ้ากูโบร์

7. พิธีการไกวแปลทารก หรือ บูไว โน ที่ภาษามลายูกลางเรียกว่า Buaian Bayi ซึ่งเป็นพิธีกรรมของกลุ่มเชื้อเจ้ามลายูเก่าในชุมชนหมู่บ้านตัวอย่างที่มีชนชั้นสูงอาศัยอยู่ แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปจากหมู่บ้านตัวอย่างไปแล้ว เมื่อประมาณ หกเจ็ดปีก่อนพิธีกรรมนี้ยังคงมีอยู่ แต่ต้องนำคนร้องเพลงการไกวเปลมาจากกลุ่มชนชั้นสูงที่อยู่ในต่างถิ่น ด้วยในชุมชนไม่มีผู้ใดที่สามารถร้องเพลงไกวเปลได้อีกแล้ว

8. การเข้าสุนัต สำหรับการเข้าสุนัตนั้นถือเป็นการปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอิสลาม แต่ในการเข้าสุนัต บางคนยังมีการผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม เช่น กลุ่มเชื้อสายขุนนางมลายูเก่า เช่น ตระกูลตนกู นิ เมื่อมีการจัดงานเข้าสุนัตบุตร บางครอบครัวจำเป็นต้องใช้ผ้าสีเหลือง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของเชื้อเจ้ามาใช้ในการประกอบพิธีเข้าสุนัต นอกจากนั้นยังมีการนำวัฒนธรรมมลายูที่ไม่มีในศาสนาอิสลาม เช่น จัดข้าวเหนียวสีแดง ขาว เหลือง พร้อมไข่ที่เรีกว่า ตือลูร์ สมางัต

9. การแต่งงาน สำหรับการแต่งงานนั้น ในพิธีอากัตนิกะห์นั้นจะปฏิบัติตามหลักการศาสนาอิสลาม แต่ส่วนประกอบของการแต่งงานนั้น ยังมีที่นอกเหนือจากหลักการศาสนาอิสลาม เช่น การสืบเสาะ หรือที่เรียกว่า มือนินเยา การผูกดวง หรือที่เรียกว่า มือราซี การสู่ขอ หรือที่เรียกว่า มือลามาร์ การหมั้น หรือที่เรียกว่า มือมีนัง จะมีเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธี มีทั้งหมาก พลู ดอกไม้ ในการประกอบพิธีแต่งงานนั้น เจ้าสาวยังต้องทาฮินนา หรือที่เรียกว่า เบอร์อีนัย การจัดบัลลังก์สำหรับคู่บ่าวสาว หรือที่เรียกว่า ปือลามิน สำหรับบัลลังก์นั้นจะจัดตามความต้องการของคู่บ่าวสาว บางครั้งมีการผสมผสานระหว่างมลายูกับตะวันตก ส่วนป้ายชื่อคู่บ่าวสาวนั้น บางส่วนจะเขียนชื่อคู่บ่าวสาวด้วยอักขระภาษาไทย หรือ ภาษามลายู อักระรูมี แต่ก็มีบางส่วนที่ใช้ภาษามลายูอักขระยาวี

10. การกวนอาซูรอ ประเณีการกวนอาซูรานั้น แม้จะมาจากตะวันออกกลางก็จริง แต่ชาวบ้านได้เปลี่ยนวัตถุที่ใช้ในการกวนอาซูรา ด้วยอาหาร พืช ผลไม้พื้นเมือง หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำอาซูราที่กวนเสร็จแล้ว ไปรวมที่มัสยิด หรือ สุเหร่า จากนั้นมีการแจกจ่ายกันรับประทาน

11. ปูยอปาตา หรือ การบูชาชายหาด เป็นพิธีกรรมของชาวมลายูในหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นการทำพิธีบูชาสิ่งเร้นลับที่ดูแลรักษาทะเล เพื่อไม่ให้มารบกวนการมาหากินขงชาวประมงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พิธีกรรมนี้ไม่เพียงจะมีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ยังมีในรัฐกลันตัน รัฐตรังกานูของประเทศมาเลเซีย พิธีกรรมบูชาชายหาดนี้จะทำในเวลา 2-3 ปีต่อครั้ง เมื่อมีความรู้สึกว่าสิ่งเร้นลับเริ่มรบกวนการทำมาหากินของชาวประมง ในการประกอบพิธีกรรมนี้จะมีหมอผู้ทำหน้าที่ประกอบพิธีในการสื่อสารกับผีทะเล ปกติแล้วพิธีกรรมบูชาชายหาดนี้จะใช้เวลา 3 วัน 3 คืน หรือทำพิธีอย่างใหญ่โตเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ในช่วงเวลาที่มีการประกอบพิธีนี้ชาวประมงจะไม่ออกทะเลไปหาปลา แต่จะจัดการแสดงมโหรสพต่างๆ ในช่วงเวลากลางเช่น การเล่นมะโย่ง ดีเกร์ฮูลู หนังตะลุง การเล่นปัตรี มโนราห์ ส่วนกลางวันจะมีการละเล่นว่าว ลูกข่าง การจัดมโหราสพรั้งนี้เพื่อสร้างความบันเทิงต่อผีทะเล ที่เชื่อว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะขึ้นบก การละเล่นในช่วงคืนสุดท้ายจะเป็นการเล่นหนังตะลุงจนถึงสว่าง หลังจากนั้นจะมีการเชือดควายเผือก จากนั้นนำส่วนหนึ่งของเนื้อควาย ข้าวเหนียวสี ไข่ พลู แป้ง แล้วไปวางไว้บนแพที่สร้างด้วยสีสัน จากนั้นหมอที่จะพิธีขอพรไม่ให้ผีทะเลมารบกวนการทำมาหากินของชาวประมง แล้วลากแพนั้นด้วยเรือประมง นำไปปล่อยกลางทะเล โดยหมอจะทำพิธีส่งมอบแพแก่ผีทะเล เมื่อเสร็จพิธีแล้วชาวประมงจะไม่ออกทะเลเป็นเวลา 3 วัน หลังจากนั้นชาวประมงก็หวังว่าการประกอบอาชีพของตนเองจะดีขึ้น ปัจจุบันพิธีกรรมบูชาชายหาดไม่มีอีกแล้ว แต่ในประเทศมาเลเซียได้จัดงานมหกรรมชายหาด หรือ Pesta Pantai เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวแทน

12. ขวัญข้าว หรือ สมางัตปาดี เป็นพิธีกรรมที่ชาวมลายูในฐานะที่เป็นสังคมการเกษตรได้ทำ พิธีกรรมนี้มีความเชื่อว่าข้าวที่มีอำนาจเร้นลับมาทำให้เกิดการเจริญเติบโต ดูแลไร่นา สังคมการเกษตรจะให้ความสำคัญต่อข้าวมาก ดังสำนวนมลายูที่ว่า ada beras semua kerja boleh buat (มีข้าวแล้ว งานทุกอย่างสามารถดำเนินการได้) ในการประกอบพิธีกรรมนั้น หมอจะทำหน้าที่เป็นคนแรกที่วานพันธุ์ข้าวลงแปลงในวันที่ได้กำหนดไว้ เมื่อวันที่จะนำพันธุ์ข้าวที่งอกแล้วลงนา ทางหมอจะเป็นคนแรกที่ทำ โดยขออำนาจเร้นลับไม่ให้มารบกวนการเจริญเติบโตของข้าว และเมื่อข้าวเริ่มสามารถที่จะเกี่ยวได้แล้ว หมอก็จะเป็นคนแรกที่เป็นคนเกี่ยว ในการประกอบพิธีการรมขวัญข้าวนั้น หมอจะขอพรจากอำนาจเร้นลับที่มีชื่อแตกต่างกันตามความเชื่อ เช่น เรงกือซา (Rengkesa) ยือเรงยุง (Jerengjung) และศรีดางอมาลา (Sri Dangomala) ในการประกอบพิธีรรมนี้จะผสมผสานความเชื่อของศาสนาฮินดูและศาสนาอิสลามเข้าไปด้วย ทางหมอจะอ่านมนต์ด้วยการใช้ประโยคที่มีในคัมภีร์อัลกุรอ่าน และเรียกร้องต่ออำนาจเร้นลับด้วยประโยคในภาษาสันสกฤต ถึงอย่างไรก็ตามพิธีกรรมนี้ก็ได้สูญสิ้นไปจากสังคมมลายูปาตานีแล้ว

13.พิธีปลดปล่อยสิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้าน
พิธีปลดปล่อยสิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้าน เมื่อประมาณ 50 กว่าปี ที่ผ่านมา พิธีปลดปล่อยสิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในกลุ่มหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายู ยังคงกระทำสืบกันมา ส่วนปัจจุบันนั้นได้สูญสิ้นไปแล้ว เมื่ออิทธิพลของศาสนาอิสลามเข้ามาทำให้การปฏิบัติที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลามต้องสูญสิ้นไป ประเพณีในหมู่บ้านดังกล่าวมีอยู่ 2 ชนิด คือ

1. การแห่นกการะเวก ในสมัยโบราณถือว่าเป็นนกที่อยู่ในชั้นฟ้าที่ 7 เป็นนกชั้นสูงส่ง การแห่นกการะเวกจะทำในเดือน 7 ข้างขึ้น วันใดก็ได้ ขบวนแห่ประกอบด้วยดอกฉัตร ทำจากใบพลู เป็นชั้น ขนมลาสีแดง ข้าวตอก ดอกไม้ 7 ชนิด ประกอบกับกลอง ฆ้อง โห่ร้อง เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้านและขอสิ่งที่เป็นมงคลเข้ามาในหมู่บ้าน ขบวนแห่เมื่อมาถึงที่ๆ คล้ายกับเกาะกลางทุ่งนา ผู้อาวุโสในหมู่บ้านจะทำพิธีสาดข้าวสาร และแจกทานแก่เด็กๆ และผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้าน ส่วนนกการะเวกทำจากไม้ทองหลาง

2. การแห่หมาดำ หมาดำนั้นชาวบ้านทำโครงจากไม้ไผ่และเอารากไม้คุระที่อยู่ในน้ำและตะไคร่น้ำมาขึ้นรูปจนเป็นรูปหมาดำ ประเพณีแห่หมาดำจะแห่ในกรณีที่หมู่บ้านเกิดภัยแล้งและเกิดอาเพศในหมู่บ้าน การแห่ก็จะจัดรูปขบวนประกอบด้วยกลอง ฆ้อง สีละ และให้ผู้ชายแต่งเป็นผู้หญิง และผู้หญิงแต่งเป็นผู้ชาย การแห่ก็จะแห่รอบๆ หมู่บ้าน พร้อมมีข้าวเหนียวเหลือง แดง ขาว ไก่ย่าง และจะตีถาดทองเหลืองด้วย เพื่อทำพิธีขอฝนกับขจัดภัยแล้งและภัยอื่น ๆ เมื่อขบวนถึงบึงละหารน้ำก็จะมีการเอากังหันลมหรือลูกลมที่ปลายมีกระบอกไม้ไผ่ที่ทำให้เกิดเสียงเพื่อขอฝน

14.ประเพณีและวัฒนธรรมการแห่ขันหมากแบบโบราณ

การแห่ขันหมากเป็นการแสดงออกถึงฐานะของฝ่ายเจ้าบ่าวในการไปสู่ขอเจ้าสาว ซึ่งในการแห่นั้นจะมีขบวนขันหมากประกอบด้วยผู้ใหญ่ของเจ้าบ่าว และญาติสนิท รวมทั้งเพื่อนๆ ซึ่งจะนำสิ่งของต่างๆ ที่จะไปมอบให้กับฝ่ายเจ้าสาว เช่น ข้าวเหนียวสีแดง สีเหลือง สีขาว (ปูโละซือมางะ) และขนมพื้นบ้าน สิ่งของที่จะไปให้ฝ่ายเจ้าสาว ต้องเป็นจำนวนเลขคี่เท่านั้น เป็นความเชื่อของชาวบ้าน
เป็นส่วนหนึ่งที่ดึงมาจากงานวิจัยที่ผู้เขียนได้ร่วมกับ ผศ.ดร. วรวิทย์ บารู และคณะ ได้ทำการวิจัยในหัวข้อ “มลายูปาตานี : ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ และการเปลี่ยนแปลง” โดยได้รับงบประมาณมาจาก   สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

Tiada ulasan: