Jumaat, 21 September 2007

การเมืองการปกครองประเทศมาเลเซีย


โดย Nik Abdul Rakib Bin Nik Hassan
รัฐธรรมนูญสหพันธรัฐ

รัฐธรรมนูญสหพันธรัฐมีจำนวน 181 มาตรา ในจำนวนทั้งหมด14 บท รัฐธรรมนูญนี้ร่างขึ้นมาใช้ เมื่อ 1 กันยายน 1963 โดยใช้พื้นฐานเดิมของรัฐธรรมนูญมาลายาปี 1957

สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญสหพันฐรัฐ คือ

1. การปกครองด้วยระบบกษัตริย์

พระราชาธิบดีเป็นพระมหากษัตริย์ของสหพันธรัฐมาเลเซีย การปฏิบัติงานของพระราชาธิบดีต้องปฏิบัติตามคำชี้แนะของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ส่วนสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองรัฐต้องปฏิบัติตามคำชี้แนะของมุขมนตรีและสภาบริหารรัฐบาลท้องถิ่นแห่งรัฐ(Majlis Mesyuarat Kerajaan Negeri)

2. ศาสนาอิสลาม
ในรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐมาตรา 160 ได้บัญญัติถึงความหมายของคำว่า “มลายู “ หมายถึง “ ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม พูดภาษามลายูและยอมรับขนบธรรมเนียมประเพณีของมลายู” ในรัฐธรรมนูญ
สหพันธรัฐมาตรา 3(1) ได้บัญญัติถึงศาสนาอิสลามว่า “ ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติของสหพันธรัฐ”

3. ภาษามลายู
รัฐธรรมนูญสหพันธรัฐมาตรา 152 (1) ได้บัญญัติถึงภาษามลายูว่า “เป็นภาษาแห่งชาติของสหพันธรัฐ”

4. สิทธิพิเศษของคนมลายู
รัฐธรรมนูญสหพันธรัฐมาตรา 153 ได้บัญญัติถึงสิทธิพิเศษของคนมลายูว่าพระราชาธิบดีต้องดำเนินนโยบายในการปกป้องสถานะพิเศษของคนมลายูและ Bumiputra

ในรัฐซาบะห์และซาราวัค ในด้านตำแหน่งหน้าที่การงานของข้าราชการพลเรือน ทุนการศึกษา การช่วยเหลือหรือโอกาสทางการศึกษา การออกใบอนุญาติธุรกิจการค้า

Yang Dipertuan Agong
Yang Dipertuan Agong หรือพระราชาธิบดีมีฐานะเป็นผู้นำของประเทศ พระองค์อยู่ในฐานะสูงสุดโดยมี 3 ส่วน อยู่ใต้พระองค์คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายศาลฎีกา

ตำแหน่ง Yang Dipertuan Agong เกิดขึ้นเมื่อ 31สิงหาคม 1957 ตามรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐมาลายาปี 1957 ตำแหน่งนี้คือตำแหน่งเดียวในโลกที่พระราชาธิบดีได้รับเลือกตามวาระ โดยไม่มีการสืบทอดราชบังลังก์จากบิดาสู่บุตรดังเช่นตำแหน่งพระราชาธิบดีของประเทศอื่นๆ

พระราชาธิบดีได้รับเลือกโดยสภาผู้ครองรัฐหรือ Majlis Raja-Raja ซึ่งประกอบด้วยสุลต่านหรือผู้ครองรัฐจำนวน 9 รัฐ การเลือกพระราชาธิบดีนั้นยึดถือผู้ที่ครองตำแหน่งสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองรัฐที่อาวุโสที่สุด การเลือกโดยวิธีดังกล่าวเปิดโอกาสให้สุลต่านหรือเจ้าผู้ครองรัฐ ทุกคนมีสิทธิเป็นพระราชาธิบดี ยกเว้นสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองรัฐคนนั้นมีอายุไม่ครบเกณฑ์ ไม่ต้องการที่จะเป็นหรือสภาเจ้าผู้ครองรัฐลงมติด้วยวิธีลับว่าบุคคลนั้นไม่เหมาะสมที่จะเป็นพระราชาธิบดี

การเลือกพระราชาธิบดีจะใช้วิธีหมุนเปลี่ยนกันเป็นบุคคลที่เคยเป็นแล้วไม่อาจเป็นอีก พระราชาธิบดีมีวาระ 5 ปี พระราชาธิบดีสามารถลาออกก่อนกำหนด หรือถูกปลดโดยสภาเจ้าผู้ครองรัฐ เมื่อสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองรัฐจากรัฐใดได้เป็นพระราชาธิบดี พระองค์จะไม่สามารถทำหน้าที่เป็นสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองรัฐนั้นๆจะต้องแต่งตั้งราชทายาทเป็นรักษาการสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองรัฐแทน พระราชาธิบดีจะเป็นผู้นำสูงสุดของกองทัพมาเลเซีย และเป็นผู้นำของศาสนาอิสลามของรัฐปีนัง, มะละกา, ซาบะห์, ซาราวัคและดินแดนสหพันธรัฐ ( กัวลาลัมเปอร์- ปุตราจายา- เกาะลาบวน ) รวมทั้งของรัฐที่พระองค์เป็นสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองรัฐด้วย พระราชาธิบดีมีอำนาจในการอภัยโทษต่อศาลทหารของดินแดนสหพันธรัฐ( กัวลาลัมเปอร์ และเกาะลาบวน ) ส่วนการอภัยโทษที่เกิดขึ้นในรัฐต่างๆนั้นเป็นอำนาจขอสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองรัฐและผู้ว่าการรัฐ (Governor) ของรัฐที่ไม่มีสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองรัฐ พระราชาธิบดีองค์แรกของมาเลเซียคือ Tuanku Abdul Rahman ibni Al –Marhum Tuanku Muhammad

รองพระราชาธิบดี (Timbalan Yang dipertuan Agong)
ตามรัฐธรรมนูญของมาเลเซียได้กำหนดให้มีการเลือกสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองรัฐเพื่อดำรงตำแหน่งรองพระราชาธิบดีอีกด้วย โดยมีวาระ 5 ปี เมื่อพระราชาธิบดีเดินทางไปต่างประเทศเกิน 15 วัน หรือประชวรให้รองพระราชาธิบดีทำหน้าที่รักษาการพระราชาธิบดี ถ้าผู้เป็นรองพระราชาธิบดีได้รับเลือกในเวลาพร้อมกับพระราชาธิบดี เมื่อพระราชาธิบดีหมดวาระ ทางรองพระราชาธิบดีก็หมดวาระด้วย รองพระราชาธิบดีสามารถลาออกจากตำแหน่งโดเยการเขียนเป็นลายลักษณ์ถึงสภาเจ้าผู้ครองรัฐ

สภาเจ้าผู้ครองรัฐ ( Majlis Raja-Raja)
สภานี้ประกอบด้วยบรรดาสุลต่านและผู้ว่าการรัฐ (Yang Dipertua Negeri ) ของบรรดารัฐที่ไม่มีสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองรัฐการจัดตั้งสภานั้นมีขึ้นเพื่อสกัดความสามัคคีระหว่างรัฐต่างๆที่อยู่ในสหพันธรัฐ สภาเจ้าผู้ครองรัฐมีการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1897 และยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน

หน้าที่หลักของสภาเจ้าผู้ครองรัฐคือการคัดเลือก Yang Dipertuan Agong และ Timbalan Yang Dipertuan Agong โดยผู้ว่าการรัฐ Yang Dipertua negeri หรือ Governor ทั้งสี่รัฐ คือ รัฐปีนัง , มะละกา, ซาบะห์ และซาราวัค ไม่มีส่วนในการคัดเลือกตำแหน่งทั้งสองแต่อย่างใด สภาเจ้าผู้ครองรัฐยังมีหน้าที่เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีของคนมลายูและกิจการศาสนาอิสลามทั่วสหพันธรัฐ ยกเว้นในรัฐซาบะห์และซาราวัค สภาเจ้าผู้ครองรัฐต้องได้รับการรับรู้เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้พิพากษา สมาชิกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน( กพ.) สภาเจ้าผู้ครองรัฐต้องมีส่วนร่วมในการเจรจาและยอมรับในการแบ่งเขตดินแดนระหว่างรัฐ การขยายเขตสหพันธรัฐ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาเจ้าผู้ครองรัฐต้องมีส่วนร่วมเมื่อมีกรณีพาดผิงถึงสิทธิพิเศษของคนมลายู และคนพื้นเมือง (Anak- Negeri) ของรัฐซาบะห์และซาราวัค

ฝ่ายนิติบัญญัติ
องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติในมาเลเซียประกอบด้วย 3 ส่วน คือ1. พระราชาธิบดี และสภา อีก 2 สภาคือ วุฒิสมาชิก (Dewan Negara) และสภาผู้แทนราษฎร (Dewan Rakyat)

วุฒิสภา (Dewan Negara)
วุฒิสภาถือเป็นสภาสูงสุดของระบบการปกครองในประเทศมาเลเซีย วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งวุฒิสภาเพื่อพิจารณาการร่างกฎหมายที่ละเอียดยิ่งขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกของวุฒิสภาประกอบด้วยบุคคลหลากหลายอาชีพไม่เพียงเป็นนักการเมืองเท่านั้น

วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก 69 คน

และสมาชิกของวุฒิสภาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ

1. สมาชิกที่ได้รับเลือกโดยสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ โดยรัฐละจำนวน 2 คน รวมเป็นจำนวน 26 คน

2. สมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระราชาธิบดีจากกัวลาลัมเปอร์ จำนวน 2 คน และจากเกาะลาบวน จำนวน 1 คน

3. สมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระราชาธิบดี จากบุคคลทั่วไปจำนวน 40 คน

ในจำนวนสมาชิกเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากชนกลุ่มน้อยในประเทศมาเลเซีย เช่น กลุ่มชนพื้นเมือง(Orang Asli) ชุมชนคนไทยพุทธ( 2005 -นางศรีชุม เอี่ยม ) จากรัฐเปอร์ลิสได้รับการเลือกเป็นวุฒิสภาสมาชิกตัวแทนชุมชนคนไทยพุทธ

สมาชิกวุฒิสภาจะเรียกว่า “ Senator “ วุฒิสภาจะมีประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา ถ้าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ(ADUN-Ahli Dewan Undangan Negeri) ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา บุคคลนั้นต้องลาออกจากสภานิติบัญญัติแห่งรัฐก่อนที่จะทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภามีวาระ 3 ปี

สภาผู้แทนราษฎร (Dewan Rakyat)
สภาผู้แทนราษฎรถือว่าเป็นสภาที่สำคัญเพราะสมาชิกสภาได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกจำนวน 219 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งเป็นตัวแทนของเขตเลือกตั้งหนึ่ง

และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนเป็นตัวแทน 2 เขต คือบุคคลหนึ่งสามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(Parliament) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ( Ahli Dewan Undangan negeri) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระ 5 ปี เมื่อเกิดตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงจะต้องมีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน นับจากวันที่ตำแหน่งว่างลง ส่วนรัฐซาบะห์และซาราวัค ต้องมีการเลือกตั้งภายใน 90 วัน นับจากวันที่ตำแหน่งว่างลง

ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่เพียงจะมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่ยังสามารถเลือกบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยถือว่าบุคคลนั้นเป็นสมาชิกสมทบของสภาผู้แทนราษฎรแต่บุคลผู้นั้นไม่สามารถได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยและSetiausaha Parlimen (Parliament Secretary to ministry)

( ในมาเลเซียนี้ถือเป็นอันดับ 3 ของกระทรวงนั้นๆ รองจากรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วย )

พ.ร.บ. งบประมาณที่ผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เมื่อไม่ได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภา นับจากวันที่ส่ง พ.ร.บ. ฉบับนั้นไปให้วุฒิสภาพิจารณาเป็นเวลาหนึ่งเดือน สามารถทำ พ.ร.บ.งบประมาณไปใช้ได้เลย

ฝ่ายริหาร
ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร โดยนายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งมาจากสมาชิกของวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียนับตั้งแต่ได้รับเอกราชมีทั้งหมด 5 คน คือ

1.Tunku Abdul rahman Putra Al- Haj ibni Al- Marhum Sultan Abdul Hamid HalimShah

2. Tun Abdul RaZak bin Dato’Hussein

3. Tun Hussein bin Onn

4. Tun Dr. Mahathir bin Mohamad

5. Dato’ Seri Abdullah Ahmad Badawi

เขตปกครองอิสระมุสลิมมินดาเนา Autonomous Region in Muslim Mindanao

โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

เรามารู้จักเขตปกครองอิสระมุสิมมินดาเนา อย่างน้อยเราจะได้รู้สภาพความเป็นจริง สภาพพื้นที่ของภาคใต้ฟิลิปปินส์
 แผนที่ประเทศฟิลิปปินส์
แนะนำเขตปกครองอิสระมุสลิมมินดาเนา Autonomous Region in Muslim Mindanao

ศูนย์บริหาร : เมืองโกตาบาโต (Cotabato City)

ผู้ว่าการเขตปกครองอิสระมุสลิมมินดาเนา (Regional Governor) : Zaldy Ampatuan (มาจากพรรค Lakas-CMD)

ประชากร 2,803,805 คน ขนาดพื้นที่ : 12,695.0 ตารางกิโลเมตร
จำนวนจังหวัด 6 จังหวัด เมือง 1 แห่ง เทศบาล 106 แห่ง หมู่บ้าน 2,469 แห่ง

ภาษาที่ใช้ : Banguingui, Maguindanao, Maranao, Tausug, Yakanและ Sama
Autonomous Region in Muslim Mindanao หรือคำย่อว่า ARMM 
เป็นเขตการปกครองของจังหวัดที่มีชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มใหญ่ ประกอบด้วยจังหวัดต่างๆ คือ 
Basilan, 
Lanao del Sur, 
Maguindanao, 
Shariff Kabunsuan, 
Sulu และ Tawi-Tawi และ
อีก 1 เมื่องคือ เมืองมาราวี(the Islamic City of Marawi) เป็นพื้นที่ที่มีองค์กรบริหารเป็นของตนเอง
สภาพภูมิศาสตร์
เขตปกครองอิสระนี้แบ่งสภาพทางภูมิศาสตร์ออกเป็น 2 ส่วน คือ แผ่นดินใหญ่เกาะมินดาเนา และ หมู่เกาะซูลู (the Sulu Archipelago) โดยจังหวัด Lanao del Sur, Maguindanao และ Shariff Kabunsuan ตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ส่วนจังหวัด Basilan, Sulu และ Tawi-Tawi ตั้งอยู่ในบริเวณหมู่เกาะซูลู

สภาพการปกครองของ the Autonomous Region in Muslim Mindanao

จังหวัด เมืองเอก ประชากร (ปี2000) ขนาดพื้นที่ตารางกม. ความหนาแน่น
Basilan Isabela City 259,796 1,234.2 210.5
Lanao del Sur Marawi City 800,162 3,872.9 206.6
Maguindanao Shariff Aguak 435,254 4,900.1 163.5
Shariff Kabunsuan** Datu Odin Sinsuat 365,848
Sulu Jolo 619,668 1,600.4 387.2
Tawi-Tawi Bongao 322,317 1,087.4 296.4

** เป็นจังหวัดที่เพิ่งแยกออกจากจังหวัด Maguindanao เมื่อ 28 ตุลาคม 2006

ประวัติศาสตร์
มินดาเนามีการปกครองโดยระบบสุลต่านชาวมุสลิมตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 นักเผยแพร่ศาสนาอิสลามชาวอาหรับเดินทางมายังเกาะ Tawi-Tawi ในปี 1380 และในปี 1450 มีการจัดตั้งรัฐสุลต่านซูลู หลังจากนั้นไม่นานรัฐสุลต่านแห่ง Maguindanao และ Buayan ก็ได้จัดตั้งขึ้น ในขณะที่สเปนได้ครอบครองดินแดนฟลิปปินส์นั้น บรรดารัฐมุสลิมในมินดาเนามีการต่อต้านสปนและดำรงสถานะเป็นรัฐอิสระ
ตราสัญญลักษณ์เขตปกครองอิสระมุสลิมมินเนา
ธงเขตปกครองอิสระมุสลิมมินเนา
การจัดตั้งเขตปกครองอิสระมุสลิมมินเนา (the ARMM)
เขตปกครองอิสระมุสลิมมินเนานี้มีการจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 1 สิงหาคม 1989 โดยผ่านพ.ร.บ.แห่งสาธารณรัฐ ฉบับ หมายเลขที่ 6734 (Republic Act No. 6734) 

มีการลงประชามติในจังหวัด Basilan, Cotabato, Davao del Sur, Lanao del Norte, Lanao del Sur, Maguindanao, Palawan, South Cotabato, Sultan Kudarat, Sulu, Tawi-Tawi, Zamboanga del Norte และ Zamboanga del Sur รวมทั้งเมือง Cotabato, Dapitan, Dipolog, General Santos, Iligan, Marawi, Pagadian, Puerto Princesa และ Zamboanga 

เพื่อแสดงความต้องการว่าจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งใน ARMM หรือไม่ ปรากฏว่าในการลงประชามติครั้งนั้น มีพื้นที่ที่จะเข้ารวมในเขตปกครองอิสระนี้คือ Lanao del Sur, Maguindanao, Sulu และ Tawi-Tawi 

ต่อมาเขตปกครองอิสระเริ่มจัดตั้งเป็นทางการเมื่อ 6พฤศจิกายน 1990 โดยมีเมือง Cotabato City เป็นศูนย์กลางอำนาจการบริหาร

และต่อมาในปี 2001 มีการผ่านกฎหมายเพื่อลงประชามติขยายเขตปกครองอิสระ โดยมีการลงประชามติในพื้นที่ที่เคยปฏิเสธการเข้าร่วมในครั้งแรก ปรากฏว่าจังหวัด Basilan และเมืองMarawi City ลงประชามติเข้าร่วมใน ARMM

การบริหาร
ผู้ที่เป็นหัวหน้าของเขตปกครองอิสระนี้เรียกว่า ผู้ว่าการเขตปกครองอิสระ หรือ Regional Governor โดยผู้ว่าการเขตและรองผู้ว่าการเขตได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติเขต หรือ the Regional Legislative Assembly โดยสมาชิกของสภาได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีวาระ 3 ปี 

ผู้ที่เป็นผู้ว่าการเขตและรองผู้ว่าการเขตมีดังนี้
ช่วงเวลา ผู้ว่าการเขต รองผู้ว่าการเขต พรรคที่สังกัด
1990–1993 Zacaria Candao Benjamin Loong Lakas-NUCD
1993–1996 Lininding Pangandaman Nabil Tan Lakas-NUCD-UMDP
1996–2002 Nurallaj Misuari Guimid P. Matalam Lakas-NUCD-UMDP
2001 Alvarez Isnaji******* Lakas-NUCD-UMDP
2001–2005 Parouk S. Hussin Mahid M. Mutilan Lakas-NUCD-UMDP
2005–ปัจจุบัน Zaldy Ampatuan Ansaruddin-Abdulmalik A. Adiong Lakas-CMD
******* เป็นรักษาการผู้ว่าการเขต จากกรณีนายนูร์ มิซัวรี (Nurallaj Misuari) ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเขตถูกจับกุม จากกองกำลังแนวร่วมแห่งชาติเพื่อปลดแอกโมโร หรือ Moro National Liberation Front (MNLF) ที่เขาเป็นผู้นำด้วยได้ขัดขืนต่อกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์

ฝ่ายนิติบัญญัติ (Legislative)
เขตปกครองอิสระมุสลิมมินดาเนา มีสภานิติบัญญัติเขต หรือ the Regional Legislative Assembly มีประธานสภา หรือ เป็นผู้นำ โดยแต่ละเขตเลือกตั้งมีสมาชิกได้ 3 คน สภานิติบัญญัติของ ARMM มีสมาชิกทั้งหมด 24 คน ประกอบด้วยจังหวัด Lanao del Sur รวมทั้งเมือง Marawi City จำนวน 6 คน, Maguindanaoจำนวน 6 คน, Suluจำนวน 6 คน, Basilan จำนวน 3 คน และจังหวัด Tawi-Tawi จำนวน 3 คน


สังคมมุสลิมมินดาเนา
ชาวมุสลิมจะเรียกดินแดนของเขาว่า Bangsamoro หมายถึงชาติโมโร เป็นคำสองคำคือ Bangsa ในภาษามลายู แปลาว่า ชาติ และ Moro เป็นคำเรียกของชาวสเปนต่อชาวมุสลิมมินดาเนาว่า โมโร มาจากคำว่า มัวร์ ซึงเป็นชาวมุสลิมในดินแดนอันดาลุส

เมื่อกล่าวถึง Bangsamoro จะครอบคลุมพื้นที่ต่างๆดังนี้
Basilan, Cotabato, Davao del Sur, Lanao del Norte, Lanao del Sur, Maguindanao, Palawan, Saranai, South Cotabato, Sultan Kudarat, Sulu, Tawi-Tawi, Zamboanga del Sur, Zamboanga del Norte, and Zamboanga Sibugay.รวมทั้งเมือง Cotabato, Dapitan, Dipolog, General Santos, Iligan, Marawi, Pagadian, Puerto Princesa และ Zamboanga.

การเมืองการปกครอง
ในอดีตของรัฐมุสลิมมินดาเนานั้น ชาวมุสลิมในดินแดนดังกล่าวจะปกครองด้วยระบบสุลต่าน หรือ ดาตู (datu)

สุลต่านยามาลุลกีรามแห่งรัฐซูลูในอดีต
บรรดาดาตูแห่งรัฐซูลูในอดีต
รัฐสุลต่านแห่งซูลู
ในระหว่างปี 1450 ทาง Shari'ful Hashem Syed Abu Bakr เป็นชาวอาหรับจากรัฐโยโฮร์ได้เดินทางมาถึงเกาะซูลู โดยเดินทางมาจากมะละกา และในปี 1457 เขาดจัดตั้งรัฐซูลูขึ้น และเขาได้รับการขนานนามว่า Paduka Maulana Mahasari Sharif Sultan Hashem Abu Bakr ในปี 1703 (บางกระแสว่า 1658) รัฐซูลูมีอำนาจเหนือดินแดนบอร์เนียวเหนือ โดยได้รับดินแดนดังกล่าวจากรัฐบรูไน จากที่ได้ช่วยเหลือรัฐบรูไนปราบกบฏในบรูไน ในปีเดียวกัน รัฐซูลูมอบเกาะ Palawan แก่สุลต่าน Qudarat ผู้เป็นสุลต่านแห่งมากินดาเนา ซึ่งได้แต่งงานกับเจ้าหญิงแห่งซูลู ต่อมาสุลต่าน Qudarat ได้สละเกาะ Palawan ให้แก่สเปนในปี 1705 แม้ว่าระบบสุลต่านแห่งเกาะซูลูจะสิ้นสุดแล้ว แต่บรรดาลูกหลานผู้สืบเชื้อสายสุลต่านแห่งซูลูยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

สุลต่านมากินดาเนาในอดีต
รัฐสุลต่านแห่งมากินดาเนา
Shariff Mohammed Kabungsuwan ผู้มาจากรัฐโยโฮร์ได้เดินทางไปเผยแพร่ศาสนาอิสลามในดินแดนมากินดาเนาในศตวรรษที่ 12 หลังจากนั้นเขาได้แต่งงานกับเจ้าหญิงพื้นเมืองและได้จัดตั้งรัฐสุลต่านแห่งมากินดาเนาขึ้นราวปี 1203หรือ1205 โดยมีศูนย์อำนาจอยู่บริเวณ Cotabato

Muhammad Dipatuan Qudratullah Nasiruddin เป็นสุลต่านที่รู้จักกันในนามของ สุลต่าน Qudarat เป็นสุลต่านที่มีอำนาจครอบคลุมเกาะมินดาเนา ส่วนหลานของเขาที่ชื่อว่า Abd al-Rahman ได้เป็นผู้ขยายอำนาจของรัฐมากินดาเนาให้มีอำนาจมากขึ้น รัฐมากินดาเนาสิ้นสุดลงเมื่อได้เข้าเป็นสวนหนึ่งของประเทศฟิลิปปินส์
ธงของ The Moro National Liberation Front
กลุ่มการเมืองที่ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ
The Moro National Liberation Front (MNLF) 
เป็นองค์กนทางการเมืองที่ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากองค์การโลกมุสลิม หรือOrganization of the Islamic Conference ให้มีฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ในองค์การดังกล่าว องค์การนี้จัดตั้งขึ้นในปีทศวรรษที่ 1970 โดยมี Nur Misuari อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์เป็นประธานองค์การ ในปี 1981 เกิดความขัดแย้งภายในองค์การ จนอีกฝ่ายหนึ่งออกไปจัดตั้งองค์การใหม่ขึ้นมา ในปี 1996 มีการทำสัญญาสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับ The Moro National Liberation Front จนต่อมาทำให้เกิดการจัดตั้งเขตปกครองอิสระมุสลิมมินดาเนา
ธงของ The Moro Islamic Liberation Front
The Moro Islamic Liberation Front(MILF) 
เป็นองค์การที่แตกออกจากองค์การเดิมที่ชื่อว่า The Moro National Liberation Front จัดตั้งขึ้นมาในปี 1981 โดยนาย Salamat Hashim และผู้สนับสนุนเขา ด้วยต่อต้านการทำสัญญาสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับ The Moro National Liberation Front ในเดือนมกราคม ปี 1987 MILF ยอมรับการมอบอำนาจกึ่งปกครองอิสระที่รัฐบาลฟิลิปปินส์เสนอให้ ต่อมาองค์การนี้ได้กลายเป็นองค์การใหญ่ที่สุดที่ต่อต้านรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในเดือนกรกฎาคม ปี 1997 ได้ลงนามสัญญาสันติภาพกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ต่อมาในปี 2000 สัญญาดังกล่าวก็ยกเลิกไปในสมัยประธานาธิบดี Joseph Estrada ในเดือนมกราคม 2005 ก็มีการทำสัญญาสันติภาพอีกครั้งกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Gloria Macapagal Arroyo
ระหว่าง 28 มิถุนายน ถึง 6กรกฎาคม 2006 มีการต่อสูใหม่อีกครั้งระหว่างกองกำลังของ MILF กับกองกำลังอาสาสมัครภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดมากินดาเนาที่ชื่อว่า Andal Ampatuan ต่อมาระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม ปีเดียวกันก็ได้ยุติการต่อสู้ระหว่างกัน

พรรคการเมืองมุสลิม
พรรคการเมืองมุสลิมในเขตปกครองอิสระมุสลิมมินดาเนานั้น มีพรรคการเมืองจำนวน 5 พรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาทั้งในระดับท้องถิ่นและประเทศ โดยพรรคการเมืองเหล่านี้ คือ

1. Ompia Party มีหัวหน้าพรรคชื่อ Dr. Mahid M. Mutilan เป็นพรรคที่จดทะเบียนก่อนที่จะมีการจัดตั้ง ARMM และ Dr. Mahid
M. Mutilan เคยเป็นรองผู้ว่าการเขต ARMM ในปี 2001-2005 พรรคนี้มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Marawi City

2. Ummah Party มีหัวหน้าพรรคชื่อ Ustadz Abdulmalik Laguindab สำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Marawi City และเมือง
Iligan City

3. Islamic Party of the Philippines มีหัวหน้าพรรคชื่อ Ustadz Ebrahim Abdulrahman สำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง
Sultan Kudarat, Maguindanao

4. Muslim Reform Party มีหัวหน้าพรรคชื่อ Kamar Mindalano สำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Marawi City

5. People’s Consultative Party มีหัวหน้าพรรคชื่อ Basher Calauto Edris สำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Marawi City

พรรคการเมืองที่ควบคุมการบริหาร ARMM
กลุ่มนักการเมืองที่เป็นผู้ว่าการและรองผู้ว่าการเขตปกครองอิสระมุสลิมมินดาเนา รวมทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติเขตปกครองอิสระมุสลิมมินดาเนา ส่วนใหญ่นักการเมืองเหล่านี้ที่สังกัดพรรคการเมืองระดับชาติ คือ พรรคที่ชื่อว่า Lakas-Christian Muslim Democrats

สัญลักษณ์ของพรรค Lakas-CMD
The Lakas-Christian Muslim Democrats
รู้จักกันในชื่อ Lakas หรือ Lakas-CMD เป็นพรรครัฐบาลของฟิลิปปินส์ โดยพรรค Lakas จัดตั้งขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน ปี 1991 เพื่อรณรงค์การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 1992 แก่พลเอก Fidel V. Ramosและ Emilio Mario R. Osmeña ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี เดิมพรรคนี้มาจากการรวมของ 2 พรรค คือ พรรค Partido Lakas ng Tao หรือ People Power Party ของ Fidel V. Ramos และพรรค National Union of Christian Democrats (NUCD) ของ theof Raul Manglapus รู้จักกันในนามของพรรค Lakas ng Tao-National Union of Christian Democrats ส่วนใหญ่รู้จักกันในนามของพรรค Lakas และมีชื่อย่อว่า Lakas-NUCD

ในปี 1994 มีการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรกับพรรค Laban ng Demokratikong Pilipino หรือ Struggle of Democratic Filipinos เพื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาทั้งสองสภาในปี 1995 และกลุ่มพันธมิตรนี้(Lakas-Laban Coalition)ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในปี 1997 ทางพรรคมุสลิมที่ชื่อว่า พรรค Union of Muslim Democrats of the Philippines (UMDP) โดยใช้ชื่อว่า พรรค Lakas ng EDSA หรือ National Union of Christian Democrats- Union of Muslim Democrats of the Philippines (Lakas-NUCD-UMDP) และในการเลือกตั้งปี 2004 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นพรรค Lakas-Christian Muslim Democrats หรือ Lakas-CMD
ปัจจุบันพรรค Lakas-CMD ได้ร่วมกับพรรค Kabalikat ng Malayang Pilipino (KAMPI) ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาของประเทศฟิลิปปินส์ 

กลุ่มพันธมิตรของพรรค Lakas ประกอบด้วย
1. TEAM Unity เป็นกลุ่มที่สนับสนุนประธานาธิบดีอาร์โรโยในการเลือกตั้งกลางเทอมปี 2007
2. Koalisyon ng Katapatan at Karanasan sa Kinabukasan (K-4, Coalition of Truth and Experience for Tomorrow) กลุ่มที่สนับสนุนประธานาธิบดีอาร์โรโยในการเลือกตั้งปี 2004
3. People Power Coalition กลุ่มที่สนับสนุนประธานาธิบดีอาร์โรโยในการเลือกตั้งกลางเทอมปี 2001
4. Lakas-Laban Coalition กลุ่มที่สนับสนุนประธานาธิบดีฟีเดล รามอส ในการเลือกตั้งกลางเทอมปี 1995
ความขัดแย้งภายในพรรค Lakas
ในปี 2006 เกิดความขัดแย้งกันระหว่างผู้สนับสนุนประธานาธิบดี Gloria Macapagal-Arroyo กับผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี Fidel V. Ramos จนทำให้ต้องเปิดประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

Rabu, 19 September 2007

ประธานาธิบดีและระบบรัฐสภาสาธารณรัฐอินโดเนเซีย


โดย Nik Abdul Rakib Bin Nik Hassan

ประเทศอินโดเนเซียนั้นมีระบบการปกครองที่ประกอบด้วยประธานาธิบดี และรัฐสภาหรือ Majelis Permusyuwaratan Rakyat ซึ่งรัฐสภานั้นประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร หรือ Dewan Perwakilan Rakyat และวุฒิสภาหรือ Dewan Perwakilan Daerah ในที่นี้ขออธิบายระบบการปกครองของสาธารณรัฐอินโดเนเซียดังนั้น

ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดเนเซีย

เป็นผู้นำของประเทศและผู้นำฝ่ายบริหารของประเทศ ตามรัฐธรรมนูญปี 1945 ฉบับแก้ไข ว่าด้วยมาตรา 6 A ประธานาธิบดี(Presiden) และรองประธานาธิบดี (Wakil Presiden) ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งจาก Majelis Permusyawaratan Rakyat ดังนั้นการเลือกตั้งจึงไม่ใช่หน้าที่ของ Majelis Permusyawaratan Rakyat อีกต่อไป และประธานาธิบดีกับMajelis Permusyawaratan Rakyat มีสถานะที่เท่าเทียมกัน ประธานาธิบดีมีวาระ 5 ปี อยู่ในวาระได้เพียง 2 สมัย

อำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดี
-เป็นผู้บริหารประเทศตามอำนาจในรัฐธรรมรัฐ
-เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ
-เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายต่อ DPR
-เป็นผู้ออกกฎข้อบังคับในการบริหารประเทศ
-เป็นผู้แต่งตั้งและปลดคณะรัฐมนตรี
-เป็นผู้แต่งตั้งกงสุลและทูต สำหรับการแต่งตั้งทูตนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจาก DPR
-อื่นๆ

ในฐานะที่เป็น “ผู้นำประเทศ” ประธานาธิบดีจึงมีสัญลักษณ์เป็นตัวแทนของประเทศในระดับสากล และในฐานะเป็น “ผู้นำฝ่ายบริหาร” ประธานาธิบดีจึงต้องบริหารประเทศโดยมีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยในการบริหารประเทศ

การเลือกตั้งประธานาธิบดี

ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน โดยผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีต้องได้รับสนับสนุนจากพรรคการเมืองหรือกลุ่มพรรคการเมืองการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกิดขึ้นโดยตรงครั้งแรกในปี 2004.

กรณีผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีมีคะแนนมากกว่า 50% จากผู้ลงคะแนนไม่น้อยกว่า 20% ของทุกจังหวัดจากครึ่งหนึ่งของจำนวนจังหวัดทั้งหมด ผู้นั้นได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ในกรณีที่มีคะแนนเพียงไม่ถึงก็จะไม่มีผู้ใดได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ดังนั้นจึงต้องคัดเลือกผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีที่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสองเข้าทำการแข่งขันเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในรอบที่สอง เพื่อนำผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

ระยะเวลาของประธานาธิบดีอินโดเนเซีย

Ahmad Sukarno 17 สิงหาคม 1945 ถึง 12มีนาคม 1967 จากพรรค Partai Nasionalis Indonesia

Muhammad Suharto 12 มีนาคม 1967 ถึง 21 พฤษภาคม 1998 จากพรรค Golkar

Baharuddin Jusuf Habibie 21 พฤษภาคม 1998 ถึง 20 ตุลาคม 1999 จากพรรค Golkar

Abdurrahman Wahid 20 ตุลาคม 1999 ถึง 23 กรกฎาคม 2001 จากพรรค Partai Kebangkitan Bangsa

Megawati 23 กรกฎาคม 2001 ถึง 20 ตุลาคม 2004 จากพรรค Partai Demokrasi Indonesia - Perjuangan

Susilo Bambang Yudhoyono 20 ตุลาคม 2004 ถึง 2009 จากพรรค Partai Demokrat

Majelis Permusyawaratan Rakyat (MPR)

เป็นองค์กรทางนิติบัญญัติ ที่ประกอบด้วยสมาชิกจาก Dewan Perwakilan Rakyat และ สมาชิกจาก Dewan Perwakilan Daerah. สมาชิกของ MPR ในปัจจุบันมีจำนวน 678 คน ซึ่งมาจาก DPR จำนวน 550 คน และมาจาก DPD จำนวน 128 คน สมาชิกมีวาระ 5 ปี ประธาน MPR คือ Hidayat Nur Wahid MPR มีอำนาจหน้าที่ :

-แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 1945
-แต่งตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีตามที่ได้รับเลือกจากประชาชน
-แต่งตั้งรองประธานาธิบดีเป็นประธานาธิบดี เมื่อประธานาธิบดีเสียชีวิต ลาออก ถูกปลด หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะอยู่ในวาระ
-เลือกรองประธานาธิบดีจาก 2 รายชื่อที่ได้ถูกเสนอโดยประธานาธิบดีในกรณีรองประธานาธิบดีว่างลง
-เลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทั้งสองลาออกพร้อมกัน

การประชุม MPR ต้องอย่างน้อย 1 ครั้งในวาระ 5 ปี

Dewan Perwakilan Rakyat (DPR)

เป็นองค์กรในระบบการปกครองที่มีสถานะเป็นสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจในการออกกฎหมาย

สมาชิกของ DPR ประกอบด้วยสมาชิกของพรรคการเมืองที่เข้าร่วมในการเลือกตั้ง ปัจจุบันมีสมาชิก 550 คน มีวาระ 5 ปี ประธานของ DPR คือ Agung Laksono DPR มีอำนาจหน้าที่ :

-ร่วมร่างกฎหมายกับประธานาธิบดีเพื่อความเห็นชอบร่วมกัน
-เห็นชอบการออกกฎระเบียบในการบริหารการปกครอง
-รับร่างกฎหมายที่เสนอโดย DPD
-เห็นชอบในการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา
-เห็นชอบในการแต่งตั้งสมาชิกศาลรัฐธรรมนูญ
-เห็นชอบการแต่งตั้งทูต ทูตจากต่างประเทศ
-อื่นๆ

สมาชิก DPR ประกอบด้วยผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งปี 2004

กลุ่ม Partai Golongan Karya (F-PG) จำนวน 129 คน ผู้นำชื่อ Priyo Budi Santoso

กลุ่มFraksi Partai Demokrasi Indonesia Perjuangan (F-PDIP) จำนวน 109 คน ผู้นำชื่อ Tjahjo Kumolo

กลุ่มFraksi Partai Persatuan Pembangunan (F-PPP) จำนวน 58 คน ผู้นำชื่อ Endin J Soefihara

กลุ่มFraksi Partai Demokrat (F-PD) จำนวน 57คน ผู้นำชื่อ Sukartono Hadiwarsito

กลุ่มFraksi Partai Amanat Nasional (F-PAN) จำนวน 53 คน ผู้นำชื่อ Abdillah Toha

กลุ่มFraksi Partai Kebangkitan Bangsa (F-PKB)จำนวน52 คน ผู้นำชื่อ Ida Fauziyah

กลุ่มFraksi Partai Keadilan Sejahtera (F-PKS) จำนวน 45 คน ผู้นำชื่อ Mahfud Sidik

กลุ่มFraksi Partai Bintang Reformasi (F-PBR) จำนวน 14คน

กลุ่มFraksi Partai Damai Sejahtera (F-PDS) จำนวน 13 คน

กลุ่มFraksi Bintang Pelopor Demokrasi (F-BPD) จำนวน 20คน

หมายเหตุ กลุ่ม F-PD ประกอบด้วยสมาชิก 56 คนจากพรรค Partai Demokrat และสมาชิก 1 คนจาก Partai Keadilan dan Persatuan Indonesia.

กลุ่ม F-BPD ประกอบด้วยสมาชิก 11 คนจากพรรค Partai Bulan Bintang สมาชิก 4 คนจากพรรค Partai Persatuan Demokrasi Kebangsaan สมาชิก 3 คนจากพรรค Partai Pelopor สมาชิก 1 คนจากพรรค Partai Penegak Demokrasi Indonesia และสมาชิก 1 คนจากพรรค Partai Nasionalis Indonesia Marhaen

Dewan Perwakilan Daerah (DPD)

เป็นองค์กรในระบบการปกครองที่สมาชิกประกอบด้วยตัวแทนมาจากแต่ละจังหวัด โดยได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน สมาชิกของ DPD มาจากจังหวัดละ 4 คน ในปัจจุบันสมาชิกของ DPD มีจำนวน 128คน มีวาระ 5 ปี มีอำนาจหน้าที่ :

-ควบคุมดูแลการออกกฎหมายบางฉบับ
-ร่วมในการอภิปราย พิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
-ร่วมเสนอกฎหมายต่อ DPR เกี่ยวกับการปกครองอิสระของท้องถิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์กลางกับท้องถิ่น การแยกและรวมดินแดนในท้องถิ่น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ การเงินของศูนย์กลางและท้องถิ่น
-อื่นๆ

ผู้นำของ DPD ประกอบด้วยประธาน คือ Ginandjar Kartasasmitaและรองประธานอีก 2 คน

Dewan Perwakilan Rakyat Daerah (DPRD)

เป็นองค์กรทางการนิติบัญญัตในระดับท้องถิ่น สมาชิกประกอบด้วยสมาชิกพรรคการเมืองที่เข้าลงรับเลือกตั้งจากประชาชน DPRD ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

-DPRD ระดับจังหวัด (Provinsi) มีทุกจังหวัด สมาชิกอยู่ระหว่าง 35-100 คน

-DPRD ระดับอำเภอและเมือง (DPRD Kabupaten/Kota) สมาชิกอยู่ระหว่าง 20-45 คน

DPRD มีสถานะเป็นองค์กรทางนิติบัญญัติ เดิมผู้นำฝ่ายบริหารมาจากการเลือกของ DPRD แต่ในปัจจุบันผู้นำท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

ศิลปะการแสดงของชนชาวมลายู


โดย Nik Abdul Rakib Bin Nik Hassan

ศิลปะการแสดงของชนชาวมลายูนั้น คนมลายูก่อนรับศาสนาอิสลาม ได้สร้างวัฒนธรรมด้านวัตถุและสิ่งที่เป็นมรดกของคนมลายู (Warisan Melayu) มากมาย รวมทั้งศิลปะการแสดง และศิลปะการป้องกันตัว โดยการใช้ศิลปะการแสดงและศิลปะป้องกันตัว ในการแสดงต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความมีอารยธรรมของสังคมมลายู ศิลปะการแสดงที่มีชื่อเสียงและคงอยู่จนถึงปัจจุบันคือ หนังตะลุง ส่วนศิลปะการป้องกันตัวที่คงอยู่คือ ซีละ ( Silat ) ซึ่งทั้งสองศิลปะนี้ได้รับการสืบทอดภายหลังจากที่ได้ทำให้ถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลาม คงไว้เค้าโครง หรือ ลีลาการแสดง การแสดงเริ่มใด้วยการกล่าวถึงนามของพระเจ้า ขอกล่าวถึงศิลปะการแสดงของชาวมลายูบางส่วน เช่น

หนังตะลุง

หนังตะลุงเป็นการแสดงพื้นบ้านที่ต้องใช้ทั้งแสงและเงา ในอดีตหนังตะลุงนั้น เราสามารถพบได้ในหลายประเทศ เช่น มอรอคโค และ จีน ถึงอย่างไรก็ตาม ศูนย์กลางการแสดงหนังตะลุงจะอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนังตะลุงมีอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทแรกมีการสร้างตัวหนังขนาดใหญ่ ในประเทศไทย หนังตะลุงที่มีขนาดตัวหนังใหญ่ เราเรียกว่า หนังใหญ่ ส่วนในกัมพูชา เราเรียกว่า หนัง ซเบก ธม ( Nang Sbek Thom ) ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่าตัวหนังที่มีขนาดใหญ่นั้น สามารถพบได้เพียงในประเทศไทย และ กัมพูชา เท่านั้น เรื่องที่ใช้แสดงจะเป็นเรื่อง รามเกียรติ์ ตามเวอร์ชั่นของแต่ละประเทศ สำหรับประเภทที่สองนั้น เป็นหนังตะลุงที่มีตัวหนังขนาดเล็ก สร้างตามลักษณะที่ใช้ตามเรื่องที่จะนำไปแสดง หนังประเภทนี้มีในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ โดยในประเทศไทยเรียกว่า หนังตะลุง ที่ประเทศกัมพูชา เรียกว่า หนัง ซเบก ธม (Nang Sbek Thom) ส่วนที่ประเทศมาเลเซีย อินโดเนเซีย จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเรียกว่า Wayang Kulit

หนังที่เรียกว่า Wayang Kulit นั้นยังสามารถแบ่งออกได้อีก 4 ชนิด คือ หนัง Wayang Siam, หนัง Wayang  Melayu, หนัง Wayang Gedek และหนัง Wayang Jawa หนังตะลุงทั้ง 4 ชนิดจะมีศิลปะการแสดง ลีลา ท่วงทำนอง เรื่องราวของหนังที่แตกต่างกัน หนังWayang Jawa หรือที่รียกอีกอย่างว่า Wayang Purwa ที่การแสดงทั้งในมาเลเซียและอินโดนีเซีย จะมีรูปตัวหนังที่มีสีค่อนข้างสีสัน จะแสดงเกียวกับเรื่องราวของอินเดีย เช่น เรื่อง “มหาภารตะ” และยังมีการแสดงเรื่องราวของ Hikayat Panji

หนัง Wayang Jawa ยังมีแสดงในรัฐโยโฮร์ และรัฐสลังงอร์ ที่รัฐกลันตัน การแสดง Wayang Jawa ยังคงมีอยู่ แต่การเปลี่ยนแปลงภาษาที่ใช้พูดโดยใช้ภาษามลายูสำเนียงกลันตัน –ปัตตานี ดังนั้นหนังตะลุงนี้จึงรู้จักในนามของหนัง Wayang Kulit Melayu ส่วนหนัง Wayang Siam นั้นจะรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า หนัง Wayang Kelantan รูปตัวหนังของ Wayang Siam จะมีตัวหนังที่มีเอกลักษณ์ของไทย หนังชนิดนี้จะมีการแสดงที่รัฐกลันตัน จังหวัดชายแดนภาคใต้, รัฐปาหัง, รัฐตรังกานู จะมีการแสดงเรื่อง Hikayat Sereri Rama หรือ Hikayat Maharaja Wana หรือเรื่องราวเวอร์ชั่นอื่นๆเกี่ยวกับเรื่องรามเกียรติ์

สำหรับหนัง Wayang Gedek นั้นเป็นหนังตะลุงชนิดหนึ่งที่มีตัวหนังแกะสลักค่อนข้างละเอียดอ่อน หนัง Wayang Gedek จะใช้เรื่องรามเกียรติ์เป็นตัวหลักของการแสดง ถึงอย่างไรก็ตามเรื่องที่เป็น “วรรณกรรมบอกเล่า” หรือ Sastera Lisan พื้นบ้านรวมทั้งเรื่องราวพื้นบ้านของคนไทยพุทธ ก็มีการใช้แสดงในหนัง Wayang Gedek หนังชนิดนี้จะใช้ภาษามลายูท้องถิ่นเคดะห์ผสมภาษาไทย

ลิเกฮูลู

ลิเกฮูลู เป็นการละเล่นพื้นบ้านแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับความนิยมมากประเภทหนึ่ง คำว่า “ลิเก” หรือ “ดิเกร์” เป็นศัพท์เปอร์เซีย มีความหมาย ๒ ประการ คือ

๑. หมายถึง เพลงสวดสรรเสริญพระเจ้า ปกติการขับร้องเนื่องในเทศกาลวันกำเนิดพระนาบี ชาวมุสลิมเรียกงานเมาลิด เลยเรียกการสวดดังกล่าวนี้ว่า “ดิเกร์เมาลิด”

๒. หมายถึง กลอนเพลงโต้ตอบนิยมเล่นกันเป็นกลุ่มหรือเป็นคณะ เรียกว่า“ลิเกฮูลู”

ส่วนประกอบของคณะดีเกร์ฮูลูนั้น นอกจากประกอบด้วยเครื่องดนตรีต่างๆแล้ว ยังประกอบด้วยโต๊ะยอรอ (Tok Juara), ตูแกกาโร๊ะ (Tukang Karut) และลูกคณะของดีเกร์ฮูลู

วิธีการละเล่น ก่อนการแสดงลิเกฮูลูนั้น จะมีการร้องปันตนอีนัง ก่อน ตัวอย่างบทปันตนอินัง เช่น

กล่าวกันว่า เจ้าเมืองตานีสมัยอดีตมักเรียกคณะปันตนอินังที่มีชื่อเสียงเข้าไปแสดงในวัง โดยเฉพาะเนื่องในพิธีเข้าสุหนัดลูกชาย ต่อมาคณะปันตนอินังก็เปลี่ยนมาแสดงลิเกฮูลู ชาวบ้านมักเรียกการแสดงประเภทนี้แตกต่างกัน เช่น ที่กลันตันเรียก “ลิเกบารัต” หรือ “บาฆะ” (ลิเกตะวันตก) ส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียก “ลิเกฮูลู” (ลิเกเหนือ) ผู้เล่นลิเกฮูลูหลายท่านกล่าวถึงการฝึกว่า บางคนข้ามฝั่งไปเรียนที่กลันตัน โดยใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน สมัยโบราณไม่มีการฝึกหัดผู้หญิงเล่นลิเกฮูลู แต่สมัยนี้ดาราลิเกฮูลูหลายคนเป็นหญิง เช่น คณะเจ๊ะลีเมาะ ซึ่งมีลูกคู่เป็นหญิงล้วน และบางคนเป็นดาราโทรทัศน์อันเป็นยอดนิยมของมาเลเซีย ปัจจุบันลิเกฮูลูเป็นยอดนิยมของชาวมลายูมุสลิม นอกจากจะแสดงในงานมาแกปูโละ งานสุหนัต งานเมาลิด งานฮารีรายอแล้ว แม้แต่สถานีวิทยุในท้องถิ่นก็จัดรายการเสนอลิเกฮูลูและเป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้านทั่วไป

ดรเกร์ฮูลูนั้น แม้จะเกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สถานะทางสังคมนั้น กลับตรงกันข้าม เพราะในประเทศไทยดีเกร์ฮูลู มีสถานะเป็นเพียงศิลปะการแสดงท้องถิ่นเท่านั้น ส่วนในประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ศิลปะการแสดงนี้ได้กลายเป็นศิลปะการแสดงประจำชาติของเขา ยิ่งในประเทศสิงคโปร์แล้ว มีสหพันธ์ดีเกร์บารัตแห่งสิงคโปร์เป็นตัวหลัก มีการจัดทำเว็บไซต์ ประชาสัมพันธ์ศิลปะการแสดงนี้ จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป

มะโย่ง
มะโย่ง เป็นการแสดงเพื่อเฉลิมฉลองหรือเพื่อความรื่นเริง กำเนิดของมะโย่งมีผู้สันนิษฐานแตกต่างกันไปหลายกระแส ดังนี้

๑. มะโย่งเป็นการแสดงที่เกิดจากในวังของเมืองปัตตานี เป็นครั้งแรก เมื่อประมาณ ๔๐๐ ปี มาแล้ว จากนั้นแพร่หลายไปทางกลันตัน

๓. มะโย่งเป็นการแสดงที่ได้รับอิทธิพลมาจากชวาตั้งแต่ครั้งโบราณ แล้วเป็นที่นิยม แพร่หลายในหมู่ชาวไทยมุสลิมในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้อธิบายเพิ่มเติมโดยกล่าวถึงที่มาของคำว่ามะโย่ง คำว่า มะ หรือเมาะ แปลว่า แม่ ส่วนโย่ง หรือโยง เป็นพระนามของเจ้าหญิงพระองค์หนึ่งแห่งชวา จึงชวนให้สันนิษฐานต่อไปได้ว่า เหตุที่เรียกละครประเภทนี้ว่า มะโย่ง อาจเป็นตัวพระ จึงเรียกกันโดยใช้คำว่า มะ หรือ เมาะนำหน้าเครื่องดนตรี นิยมใช้กันอยู่ ๓ ชนิด คือ รือบะ จำนวน ๑ - ๒ คน กลองแขก ๓ หน้า จำนวน ๒ ใบ และฆ้องใหญ่เสียงทุ้มแหลมอย่างละใบ มะโย่งบางคณะยังมีเครื่องดนตรีอีก ๒ ชิ้น คือ กอเลาะ(กรับ) จำนวน ๑ คู่ และจือแระ จำนวน ๓ - ๔ อัน (จือแระ ทำด้วยไม้ไผ่ยาวประมาณ ๑๖–๑๘ นิ้วใช้ตี) ผู้แสดง มะโย่งคณะหนึ่ง ๆ มีคนประมาณ ๒๐ - ๓๐ คน เป็นลูกคู่เล่นดนตรี ๕ - ๗ คน นอกนั้นเป็นผู้แสดงและเป็นผู้ช่วยผู้แสดงบ้าง

ผู้แสดงหรือตัวละครสำคัญมี ๔ ตัว คือ

๑. ปะโย่ง หรือเปาะโย่ง แสดงเป็นพระเอก มีฐานะเป็นกษัตริย์หรือเจ้านาย ตัวปะโย่งจะใช้ผุ้หญิงร่างแบบบางหน้าตาสะสวย มีเสน่ห์ ขับกล่อมเก่ง น้ำเสียงดี เป็นผู้แสดง

๒.มะโย่งหรือเมาะโย่ง แสดงเป็นนางเอก มีฐานะเป็นเจ้าหญิงหรือสาวชาวบ้านธรรมดาตามแต่เนื้อเรื่องที่แสดง ใช้ผู้หญิงร่างแบบบาง หน้าตาดีเป็นผู้แสดง

๓. ปือรันมูดอ แสดงเป็นตัวตลกตัวที่ ๑ มีฐานะเสนาคนสนิทหรือคนใช้ใกล้ชิดของปะโย่งใช้ผู้ชายหน้าตาท่าทางน่าขบขันชวนหัว เป็นผู้แสดง ปือรันมูดอจะพูดจาตลกคะนอง สองแง่สองมุม ฉลาดทันคน กล้าหาญ แต่บางครั้งโงทึบและขลาดกลัวตาขาว

๔. ปือรันดูวอ แสดงเป็นตัวตลกตัวที่ ๒ มีฐานะเป็นเสนาคนสนิทตัวรองของเปาะโย่ง เป็นเพื่อสนิทของปือรันมูดอ จะเป็นตัวที่คอยสนับสนุนให้ปือรันมูดอสามารถตลกจี้เส้นได้มากขึ้น

โรงหรือเวทีแสดง ปัจจุบันโรงมะโย่งปลูกเป็นเพิงหมาแหงน ยกพื้นสูงประมาณ ๑ เมตร กว้าง ๕-๖ เมตร ยาว ๘ - ๑๐ เมตร จากท้ายโรงประมาณ ๑ - ๒ เมตร จะกั้นฝา ๓ ด้าน คือ ด้านท้ายกับด้านข้างทั้งสอง ด้านหน้าใช้ฉากปิดกั้นให้มีช่องออกหน้าโรงได้ เนื้อที่ด้านท้ายโรงใช้เป็นที่แต่งกายเก็บของและพักผ่อนนอนหลับ ด้านหน้าโรงเป็นโล่งทั้ง ๓ ด้าน จากพื้นถึงหลังคาด้านหน้าสูงประมาณ ๓.๕ เมตร ชายหลังด้านหน้านี้จะมีระบายป้ายชื่อคณะอย่างโรงลิเกหรือโนรา ส่วนใต้ถุนโรงใช้เป็นที่พักหลับนอนไปด้วย

โอกาสที่แสดง มะโย่งจะแสดงในงานเฉลิมฉลองงานเทศกาลหรืองานรื่นเริงอื่น ๆ ตามที่เจ้างานรับไปแสดง ปกติแสดงในเวลากลางคืนโดยเริ่มแสดงราว ๑๙ นาฬิกา เลิกเวลาประมาณ ๑ นาฬิกา