Ahad, 26 Ogos 2007

ราชอาณาจักรในสาธารณรัฐอินโดเนเซีย


โดย นายนิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ในกลุ่มประเทศอาเซี่ยนนั้น ประเทศอินโดเนเซียถือเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศดังกล่าว ด้วยประเทศอินโดเนเซีย มีประชากรทั้งหมดประมาณ 220 ล้านคน ประเทศอินโดเนเซียประกอบด้วยเกาะใหญ่ๆทั้งหมด 5 เกาะ คือ เกาะชวา, เกาะสุมาตรา, เกาะกาลีมันตัน, เกาะสุลาเวซี และเกาะอิเรียนจายา นอกจากนั้นยังประกอบด้วยเกาะขนาดกลางและเกาะขนาดเล็กอีกมากกว่า 17,508 เกาะ ขนาดของประเทศอินโดเนเซียใหญ่มาก มีพื้นที่จากทางด้านตะวันออกจรดไปยังทางด้านตะวันตก มีความยาวประมาณ 5,200 ไมล์ ( 5,120 กิโลเมตร) การที่ประเทศอินโดเนเซียเป็นประเทศใหญ่ ดังนั้นจึงมีประชากรที่ประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆมากกว่า 300 ชนเผ่า แต่ส่วนใหญ่แล้วชนเผ่าต่างๆเหล่านั้นมาจากชนชาติมลายูและโปลีเนเซีย การที่ประเทศอินโดเนเซียมีชนเผ่ามากมาย ทำให้ประเทศนี้กลายเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ก่อนที่ประเทศอินโดเนเซียจะได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมฮอลันดานั้น ในประเทศดังกล่าวมีราชอาณาจักรที่มีบรรดาสุลต่านและเจ้าผู้ครองนครมากมาย กระจัดกระจายไปทั่วประเทศ มีทั้งสุลต่านและเจ้าผู้ครองนครที่นับถือศาสนาอิสลาม และเจ้าผู้ครองนครที่นับถือศาสนาฮินดูและคริสต์ เมื่อมีการจัดตั้งประเทศอินโดเนเซียขึ้นมา ระบบสุลต่านและเจ้าผู้ครองนครในประเทศอินโดเนเซียจึงยุติบทบาททางการปกครองลง สำหรับเจ้าผู้ครองนครบางส่วนนั้นยุติบทบาทก่อนการประกาศเอกราชด้วยซ้ำไป ถึงกระนั้นก็ตามราชวงศ์ของบรรดาสุลต่านและเจ้าผู้ครองนครต่างๆเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ และยังได้รับการยอมรับจากสังคมท้องถิ่นของประเทศอินโดเนเซีย ระบบสุลต่านและเจ้าผู้ครองนครของประเทศอินโดเนเซียในปัจจุบันก็ยังคงมีการสืบทอด ขนบธรรมเนียม ประเพณีของระบบสุลต่านและเจ้าผู้ครองนครดังเช่นในอดีตครั้งก่อนที่จะมีการจัดตั้งประเทศอินโดเนเซีย

ในปัจจุบันเมื่อสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองนครของท้องถิ่นต่างๆได้สิ้นชีพลง ทางรัชทายาทหรือผู้สืบราชบัลลังก์ก็จะขึ้นมาเป็นสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองนครนั้นๆต่อไป จะมีการประกอบพิธีอย่างยิ่งใหญ่ โดยสังคมท้องถิ่นนั้นจะเข้ามามีส่วนร่วม ดร. นินา เฮร์ลีนา ลูบิส ( Dr. Nina Herlina Lubis) อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยปาจาจารัน (Padjajaran University) แห่งเมืองบันดุง ผู้มีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมนักประวัติศาสตร์อินโดเนเซีย (Persatuan Masyarakat Sejarawan Indonesia) ซึ่งได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับวิถีชีวิตของบรรดาผู้สืบเชื้อสายเจ้าผู้ครองรัฐแห่งชนเผ่าซุนดา (Sunda) ได้กล่าวว่า “ สังคมพื้นเมืองในอินโดเนเซียปัจจุบัน ยังคงมีการยอมรับในการคงอยู่ของระบบสุลต่านและเจ้าผู้ครองรนคร แม้ว่าสถาบันเหล่านั้นจะไม่มีบทบาททางการเมืองและการปกครองแล้วก็ตาม แต่ในการประกอบพิธีกรรม โดยเฉพาะการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณีของสังคมพื้นเมืองนั้น สถาบันเหล่านั้นยังคงมีบทบาทอยู่”

ประเทศอินโดเนเซียประกอบด้วย 33 จังหวัด คือ 30 จังหวัดมีสถานะเป็นจังหวัดลักษณะทั่วไป, มีเขตปกครองพิเศษ หรือที่เรียกในภาษาอินโดเนเซียว่า Daerah Istimewa อยู่ 2 แห่ง คือ เขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตา ( Daerah Istimewa Yogyakarta) และเขตปกครองพิเศษอาเจะห์ ( Nanggroe Aceh Darussalam ) และอีก 1 จังหวัดคือ จังหวัดกรุงจาการ์ตา จากโครงสร้างทางการปกครองข้างต้นจะเห็นว่ามีดินแดน 2 แห่งที่มีการปกครองแบบเขตปกครองพิเศษ แต่ทั้ง 2 เขตปกครองพิเศษดังกล่าวมีเหตุผลในการจัดตั้งที่แตกต่างกัน คือเขตปกครองพิเศษอาเจะห์เกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง

เป็นการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในดินแดนอาเจะห์ โดยจัดตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษในปี 1959 ส่วนเขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตานั้นเกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์และบทบาททางการเมืองที่สุลต่านแห่งยอกยาการ์ตามีในสมัยการจัดตั้งประเทศอินโดเนเซีย ในขณะที่เขตปกครองพิเศษอาเจะห์จะผลัดเปลี่ยนกันตัวผู้ว่าราชการทำการปกครองเขตพิเศษ แต่เขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตาจะมีเพียงสุลต่านแห่งยอกยาการ์ตาเท่านั้นทำหน้าที่เป็นผู้ว่าราชการเขตปกครองพิเศษ ทำหน้าที่เป็นผู้นำทั้งการปกครองและผู้นำทางสังคม และด้วยสุลต่านแห่งยอกยาการ์ตาผู้มีสถานะเป็นเจ้าผู้ครองนครของยอกยาการ์ตามีบทบาททั้งสองด้านนี้เอง ทำให้ราชวงศ์แห่งยอกยาการ์ตาได้กลายเป็นราชวงศ์เดียวในประเทศอินโดเนเซียที่ยังคงมีบทบาทดังกล่าวอยู่ ราชวงศ์นี้จึงได้กลายเป็นพี่ใหญ่ของบรรดาสุลต่านและเจ้าผู้ครองนครต่างๆที่ยังคงมีอยู่ทั่วอินโดเนเซีย ซึ่งราชวงศ์สุลต่านและเจ้าผู้ครองนครต่างๆในประเทศอินโดเนเซียปัจจุบัน มีอยู่ประมาณ 49 ราชวงศ์ ในอินโดเนเซียนั้นวังเรียกว่า กราตน (Keraton) ซึ่งมีดังต่อไปนี้

อันดับ ชื่อวัง ชื่อรัฐในอดีต จังหวัดที่ตั้ง

1 วังเซียะ Istana Siak เซียะ อินดราปุรา Siak Indrapura เรียว Riau

2 วังเปอลาลาวัน Istana Pelalawan เปอลาลาวัน Pelalawan เรียว Riau

3 วังปาการูยุง Istana Pagaruyung มีนังกาบาว Minangkabau สุมาตราตะวันตก Sumatera Barat

4 วังมัยมูน Istana Maimoon เดอลี, เมดาน Deli, Medan สุมาตราเหนือ Sumatera Utara

5 วังดารุลอารีฟ Puri Darul Arif เซอร์ดัง Serdang สุมาตราเหนือ Sumatera Utara

6 วังปาเล็มบังดารุสสาลาม Palembang Darussalam ปาเล็มบัง Palembang สุมาตราใต้ Sumatera Selatan

7 วังศรีวิชัย Seri Wijaya ศรีวิชัย Seri Wijaya สุมาตราใต้ Sumatera Selatan

8 วังบันเต็น Kraton Banten บันเต็น Banten บันเต็น Banten

9 วังกาซือปุฮัน Kraton Kasepuhan จีเรบน Cirebon ชวาตะวันตก Jawa Barat

10 วังกาโนมัน Kraton Kanoman จีเรบน Cirebon ชวาตะวันตก Jawa Barat

11 วังกาจีเรบนนัน kraton Kacirebonan จีเรบน Cirebon ชวาตะวันตก Jawa Barat

12 วังสุเมอดัง Kraton Sumedang สุเมอดัง ลารัง Sumedang Larang ชวาตะวันตก Jawa Barat

13 วังกาซุนานันสุราการ์ตา Kraton Kasunanan Surakarta

กาซุนานันสุราการ์ตาฮาดีนิงกรัต Kasunanan Surakarta Hadiningrat

ชวากลาง Jawa Tengah

14 วังมังกูเนอการัน Puro Mangkunegaran มังกูเนอการัน Mangkunegaran ชวากลาง Jawa Tengah

15 วังงายอกยาการ์ตา Kraton Ngayogyakarta ยอกยาการ์ตาฮาดีนิงกรัต Ngayogyakarta Hadiningrat

ยอกยาการ์ตา Yogyakarta

16 วังปากูอาลาม Puro Pakualam ปากูอาลาม Pakualam ยอกยาการ์ตา Yogyakarta

17 วังมาชาปาฮิต Istana Majapahit มาชาปาฮิต โมโจเกอร์โต Majapahit Mojokerto ชวาตะวันออก Jawa Timur

18 วังซูเมเนป Keraton Sumenep ปานาเอ็มบาฮัน ซูเมเนป Panaembahan Sumenep ชวาตะวันออก Jawa Timur

19 วังกัดรียะห์ Istana Kadriyah ปอนเตียนัก Pontianak กาลิมันตันตะวันตก Kalimantan Barat

20 วังอัลวาซีกุบิลลาห์ Istana Alwatziqubillah ซัมบัส Sambas กาลิมันตันตะวันตก Kalimantan Barat

21 วังอามันตูบิลลาห์ Istana Amantubillah มิมปาวาห์ Mempawah กาลิมันตันตะวันตก Kalimantan Barat

22 วังกูไตการ์ตานาการาอิงมาร์ตาดีปุระ KeratonKutaiKartanegara Ing Martadipura

กูไตการ์ตานาการา อิงมาร์ตาดีปุระ Kutai Kartanegara Ing Martadipura

กาลิมันตันตะวันออก Kalimantan Timur

23 วังกุนุงตาบูร์ Istana Gunung Tabur กุนุงตาบูร์ Gunung Tabur กาลิมันตันตะวันออก Kalimantan Timur

24 วังซัมบาลียง Istana Sambaliung ซัมบาลียง Sambaliung กาลิมันตันตะวันออก Kalimantan Timur

25 วังปาเซเบอเลงกง Istana Pasir Belengkong ปาเซร์ Pasir กาลิมันตันตะวันออก Kalimanton Timur

26 วังตันหยงปาลัส Istana Tanjung Palas บูลูงัน Bulungan กาลิมันตันตะวันออก Kalimantan Timur

27 วังสุลต่านเตอร์นาเต Kerdaton sultanTernate เตอร์นาเต Ternate มาลูกูตอนเหนือ Maluku Utara

28 วังตีโดเร Istana Tidore ตีโดเร Tidore มาลูกูตอนเหนือ Maluku Utara

29 วังจัยโลโล Istana Jailolo จัยโลโล Jailolo มาลูกูตอนเหนือ Maluku Utara

30 วังบาจัน Istana Bacan บาจัน Bacan มาลูกูตอนเหนือ Maluku Utara

31 วังบีมา Istana Bima บีมา Bima นูซาอาคเนย์ตะวันตก Nusa Tenggara Barat

32 วังกูปัง Istana Kupang กูปัง Kupang นูซาอาคเนย์ตะวันออก Nusa Tenggara Timur

33 วังบัลลาลอมปัว Istana Balla Lompua โกวา Gowa สุลาเวสีตอนใต้ Sulawesi Selatan

34 วังเซาราชา Istana Saoraja บอเน Bone สุลาเวสีตอนใต้ Sulawesi Selatan

35 วังลูวู Istana Luwu ลูวู Kedatuan Luwu สุลาเวสีตอนใต้ Sulawesi Selatan

36 วังวัลโล Istana Wallo บูตน Buton สุลาเวสีอาคเนย์ SulawaesiTenggara

37 วังเกเด เมิงวี Puri Gede Mengwi บาดง Badung บาหลี Bali

38 วังเด็นปาซาร์ Puri Denpasar บาดง Badung บาหลี Bali

39 วังเจอโร กูตา Puri Jero Kuta บาดง Bandung บาหลี Bali

40 วังเปอเมอจุตัน เด็นปาซาร์ Puri Pemecutan Denpasar บาดง Bandungบาหลี Bali

41 วังเกอซีมัน Puri Kesiman บาดง Bandung บาหลี Bali

42 วังอากงบังลี Puri Agung Bangli บังลี Bangli บาหลี Bali

43 วังบูเลเล็ง Puri Buleleng บูเลเล็ง Buleleng บาหลี Bali

44 วังอากงบือละห์บาตู Puri Agung Blahbatu เกียนยา Gianya บาหลี Bali

45 วังอากงเปอเลียตัน Puri Agung Prliatan เกียนยา Gianya บาหลี Bali

46 วังอากง กลุงกุง Puri Agung Klungkung กลุงกุง Klungkung บาหลี Bali

47 วังการังกาเซ็ม Puri Karangasem การังกาเซ็ม Karangasem บาหลี Bali

48 วังอันยัร เกอรัมบีตัน Puri Anyar Kerambitan ตาบานัน Tabanan บาหลี Bali

49 วังอากง อูบุด Puri Agung ubud อูบุด Ubud บาหลี Bali



แหล่งอ้างอิง : รายชื่อบรรดาวังที่เข้าร่วมงาน Festival Kraton SeNusantara 2005

ก่อนการประกาศเอกราชของอินโดเนเซียเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 1945 ยอกยาการ์ตามีระบบสุลต่านปกครองอยู่ 2 แห่งคือราชวงศ์สุลต่านแห่งยอกยาการ์ตา โดยการนำของสุลต่านฮาเมงกูบูโวโน ที่ 9 (Sultan Hamengku Buwono IX) และราชวงศ์กาดีปาเต็นปากูอาลาม ( Kadipaten Paku Alam) โดยการนำของสุลต่านที่ชื่อว่าปากูอาลามที่ 8 ( Paku Alam VIII ) ทั้งสองราชวงศ์มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ สำหรับราชวงศ์กาดีปาเต็นปากูอาลามนั้นเริ่มตั้งแต่ปี 1813 ผู้เป็นสุลต่านคนแรกที่ใช้ชื่อว่า ศรีปากูอาลามที่ 1 ( Sri Paku Alam I ) ซึ่งเป็นต้นตระกูลราชวงศ์กาดีปาเต็นปากูอาลามนั้นเดิมมีชื่อว่า ปาเงรัน โนโตกุสุโม ( Pangeran Notokusumo ) เป็นบุตรชายของศรีสุลต่านฮาเมงกูบูโวโน ที่ 1 ( Sri Sultan Hamengku Buwono I ) ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ยอกยาการ์ตา และศรีปากูอาลามที่ 1 เป็นน้องชายคนละแม่ของศรีสุลต่านฮาเมงกูบูโวโน ที่ 2



เมื่อมีข่าวการประกาศเอกราชของอินโดเนเซีย ทางผู้นำของราชวงศ์สุลต่านทั้งสองได้เจรจากัน เพื่อกำหนดบทบาทของตนเอง ในการพบของทั้งสองสุลต่านครั้งนั้น มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อราชวงศ์ทั้งสองชื่อว่า เค.อาร์.ที. ฮองโกวองโซ ( KRT Honggowongso ) เข้าร่วมด้วย และตกลงยอมรับการประกาศเอกราชของอินโดเนเซีย

ครั้งนั้นนอกจากทั้งสองสุลต่านส่งสาส์นแสดงความยินดีไปยังประธานาธิบดีซูการ์โนในวันที่ 19 สิงหาคม 1945 แล้วยังส่งโทรเลขไปอีกครั้งในวันที่ 20 สิงหาคม 1945 เพื่อสนับสนุนการประกาศเอกราชของซูการ์โน-ฮัตตา ต่อมาสุลต่านทั้งสองได้พบปะกับบรรดาผู้นำหนุ่มสาวราว 100 คนจากหลากหลายสาขาอาชีพ และในวันที่ 4 กันยายน 1945 ทั้งสองสุลต่านก็ได้ประกาศให้ราชอาณาจักรที่ชื่อว่า ยอกยาการ์ตา และ กาดีปาเต็น ปากูอาลาม เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดเนเซียในสถานะของเขตปกครองพิเศษ โดยทั้งสองสุลต่านได้ประกาศว่าทั้งสองยังเป็นผู้นำที่มีอำนาจในดินแดนของตนเอง มีความรับผิดชอบที่ขึ้นตรงต่อประธานาธิบดีอินโดเนเซีย

เพื่อให้สอดคล้องกับคำประกาศของสุลต่านทั้งสอง และเป็นไปตามนโยบายของศูนย์อำนาจที่กรุงจาการ์ตา ราวต้นเดือนกันยายน 1945 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติอินโดเนเซียประจำเขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตา (Komite Nasional Indonesia Daerah Yogyakarta ) โดยมีสมาชิก 84 คน ต่อมาเพิ่มเป็น 105 คน ทางคณะกรรมการแห่งชาติประจำเขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตาได้เลือกคณะทำงานในหมู่สมาชิกจำนวน 19 คนโดยมีนายโมฮัมหมัด ซอและห์ ( Mohammad Salleh ) เป็นประธานคณะทำงาน หลังจากคณะกรรมการแห่งชาติประจำเขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตาได้ถูกจัดตั้งเรียบร้อยแล้ว ทางสุลต่านทั้งสองจึงได้ออกคำประกาศเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 1945 มีใจความว่า

เพื่อให้การปกครองในดินแดนของเราทั้งสองสอดคล้อง กับกฏหมายหลักของประเทศสาธารณรัฐอินโดเนเซีย ดังนั้นคณะกรรมการแห่งชาติคณะนี้จึงมีสถานะเป็นสภานิติบัญญัติ ผู้เป็นตัวแทนของประชาชนในดินแดนของเราทั้งสอง เพื่อสร้างกฏหมายและกำหนดทิศทางการปกครองในดินแดนของเราทั้งสอง ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน”

คำประกาศดังกล่าวถือเป็นการสิ้นสุดการปกครองด้วยราชวงศ์สุลต่านในยอกยาการ์ตา ต่อมาทางรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี อาหมัด ซูการ์โน ที่กรุงจาการ์ตาได้ออกกฎหมายฉบับที่ 11 ปี 1946 ให้มีการยุบคณะกรรมการแห่งชาติประจำเขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตา โดยจัดตั้งสภานิติบัญญัติเขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตาแทน และด้วยการบริหารการปกครองของทั้งสองสุลต่านขึ้นตรงต่อประธานาธิบดี

ดังนั้นทางกรุงจาการ์ตาจึงมอบอำนาจการบังคับบัญชาตำรวจให้เป็นของสุลต่านเมื่อวันที่ 23 กันยายน 1946 โดยทางสุลต่านฮาเมงกูบูโวโน ที่ 9 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการของเขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตา และปากูอาลามที่ 8 เป็นรองผู้ว่าราชการของเขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตา แม้ว่าสุลต่านฮาเมงกูบูโวโน ที่ 9 จะเป็นผู้ว่าราชการก็ตามแต่สุลต่านต้องไปทำหน้าที่ในระดับชาติเป็นเวลานาน เช่น เป็นรองนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 1950-51, 1966 และรองประธานาธิบดีระหว่างปี 1973-1978 ก่อนที่จะลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวด้วยปัญหาสุขภาพ ตลอดระยะเวลาที่ได้ทำหน้าที่ในระดับชาตินั้น ภาระหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการเขตปกครองพิเศษจึงตกเป็นของศรีปากูอาลาม ที่ 8 ผู้เป็นรองผู้ว่าราชการต้องทำหน้าที่แทน

การเป็นรองผู้ว่าราชการเขตปกครองพิเศษของศรีปากูอาลามสิ้นสุดลง เมื่อศรีสุลต่านฮาเมงกูบูโวโน ที่ 9 สิ้นชีพลงเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 1988 และหลังจากนั้นทางรัฐบาลอินโดเนเซียจึงแต่งตั้งศรีปากูอาลาม ที่ 8 เป็นรักษาการผู้ว่าราชการเขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตา เมื่อศรีปากูอาลาม ที่ 8 ในฐานะเป็นรักษาการผู้ว่าราชการเขตปกครองพิเศษสิ้นชีพลงในปี 1998 ศรีสุลต่านฮาเมงกูบูโวโนที่ 10 จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการเขตปกครองพิเศษต่อจากบิดาของเขาที่ชื่อ ศรีสุลต่านฮาเมงกูบูโวโน ที่ 9 และศรีปากูอาลาม ที่ 9 บุตรของศรีปากูอาลาม ที่ 8 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าราชการเขตปกครองพิเศษ สำหรับศรีสุลต่านฮาเมงกูบูโวโน ที่ 10 นั้นเดิมมีชื่อก่อนขึ้นเป็นสุลต่านแห่งยอกยาการ์ตาว่า เบินโดโร ราเด่น มัส เฮร์จูโน ดาร์ปีโต ( Bendoro Raden Mas Herjuno Darpito ) เขาขึ้นเป็นสุลต่านเมื่อ 7 มีนาคม 1989 จะเห็นได้ว่าการสืบทอดอำนาจตามระบบสุลต่านยังคงมีอยู่ในเขตปกครองพิเศษยอกยาการ์ตา ซึ่งมีประชากรทั้งหมดมากกว่า 3 ล้านคน

ในบรรดาระบบสุลต่านทั้ง 49 ราชวงศ์นั้น ยังคงมีการประกอบพิธีการแต่งตั้งสุลต่าน ซึ่งได้รับการยอมรับจากสังคมพื้นเมืองดังที่กล่าวมาแล้ว ถึงอย่างไรก็ตามในบรรดาระบบสุลต่านเหล่านั้นในปัจจุบันมีอยู่ 2 ราชวงศ์ที่มีปัญหาภายในคือสุลต่านแห่งวังกาโนมาน(Kraton Kanoman) และสุลต่านแห่งวังสุราการ์ตา(Kraton Surakarata) ด้วยทั้ง 2 ราชวงศ์นั้นมีการแย่งชิงราชบัลลังก์กันจนทำให้เกิดสุลต่าน 2 คนในของแต่ละวัง ราชวงศ์สุลต่านแห่งกาโนมาน นับเป็นราชวงศ์แรกที่เกิดปัญหาขึ้นในปัจจุบัน

ด้วยหลังจากสุลต่านจาลาลุดิน (Sultan Jalaludin) หรือสุลต่านกาโนมานที่ 11 (Sultan Kanoman XI)ได้สิ้นชีพ ก็เกิดการแย่งชิงกันเป็นสุลต่านองค์ต่อไประหว่างสุลต่านเอมีรุดิน (Sultan Emirudin) ผู้เป็นบุตรจากภรรยาคนแรกของสุลต่านจาลาลุดิน กับสุลต่านซาลาดิน (Sultan Saladin) ผู้เป็นบุตรที่เกิดจากภรรยาคนที่สองของสุลต่านจาลาลุดิน เดิมนั้นสุลต่าน เอมีรุดินหรือสุลต่านกาโนมานที่ 12 (Sultan Kanoman XII) มีความต้องการที่จะประนีประนอมกับสุลต่านซาลาดิน โดยการเสนอมอบตำแหน่ง Patih (ตำแหน่งขุนนางชั้นสูงในระบบสุลต่านของชวา)แก่สุลต่านซาลาดิน แต่สุลต่านซาลาดินได้ปฎิเสธข้อเสนอดังกล่าว โดยต่อมาสุลต่านซาลาดินประกาศตั้งตัวเองเป็นสุลต่านคนต่อไป โดยใช้ชื่อว่าสุลต่านกาโนมานที่ 12 (Sultan Kanoman XII) เช่นเดียวกันกับสุลต่านเอมีรุดิน การประกาศว่าเป็นสุลต่านกาโนมานที่ 12 ของสุลต่านซาลาดินนั้น

เขาใช้หลักฐานหนังสือที่สุลต่านจาลาลุดินเขียนขึ้น กล่าวถึงความต้องการที่จะมอบราชบัลลังก์ให้สุลต่านซาลาดินเป็นสุลต่านคนต่อไป ทางสุลต่านเอมีรุดินแสดงความสงสัยว่าหนังสือดังกล่าวจะเป็นหนังสือปลอม ด้วยหนังสือฉบับนั้นไม่มีพยานขณะที่เขียนขึ้น ความขัดแย้งของสุลต่านในวังกาโนมาน ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่สามรถแก้ไขจนถึงปัจจุบัน



ราชวงศ์สุลต่านแห่งที่สองที่เป็นปัญหาคือ ราชวงศ์สุลต่านแห่งสุราการ์ตา (Kraton Surakarta) มีความขัดแย้งกันจนทำให้เกิดสุลต่าน 2 คนในวังเดียวกันเช่นกัน โดยทั้งสองใช้นามเหมือนกันนั้นคือ ปากูบูโวโน ที่ 13 ( Paku Buwono XIII ) ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นความขัดแย้งระหว่างทายาทแห่งวังสุราการ์ตา คือ จี.เค.พี.เอส. ฮางาเบฮี ( GKPS Hangabehi ) กับจี.เค.พี.เอส. เปโจโวลัน ( GKPS Pedjowoelan )

ความขัดแย้งแห่งราชวงศ์แห่งสุราการ์ตามีความรุนแรงกว่าราชวงศ์กาโนมาน เพราะความขัดแย้งของราชวงศ์แห่งสุราการ์ตานั้นทำให้บรรดาผู้มีชื่อเสียงในระดับประเทศของอินโดนีเซีย เช่น พล.อ. วีรันโต วีโรฮาดีนาโฆโร ( Wiranto Wirohadinagoro ) อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ดร. อามีน ราอิส ( Dr. Amien Rais ) อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร, ซุซีโล บัมบัง ยุโธโยโน ( Susilo Bambang Yudhoyono ) ประธานาธิบดีแห่งอินโดเนเซีย ต้องเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ถึงอย่างไรก็ตาม กลุ่มบุคคลดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้น

แม้ประเทศอินโดเนเซียจะมีระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ แต่ภายในระบบสาธารณรัฐนั้นยังคงมีระบบสุลต่าน ซึ่งพวกเราจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยได้ยินถึงความคงอยู่ของระบบสุลต่านในสาธารณรัฐอินโดเนเซีย จะเห็นได้ว่าแม้ประเทศอินโดนีเซียจะตั้งอยู่ไม่ห่างจากประเทศไทยมากนัก จนอาจเรียกได้ว่าเป็นประเทศเพื่อนบ้าน แต่การรับรู้เกี่ยวกับอินโดเนเซียของพวกเรายังมีความจำกัดอยู่ ดังนั้นในฐานะที่ประเทศอินโดเนเซียมีบทบาทในกลุ่มประเทศอาเซียน เราจึงจำเป็นต้องทำความรู้จักประเทศอินโดเนเซียให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน.

อ้างอิง :
Agung Nugroho.Konflik Kanoman, Memang Warisan.Pikiran Rakyat. Kamis, 10 Juni 2004.

Beek, Aart Van. 1990. Life in Javanese Kraton. Singapore : Oxford University Press

Kraton Yogyakarta. 2002. Kraton Yogya : The History and Culture Heritage. Jakarta : Kraton Ngayogyakarta Hadiningrat and Indonesia Marketing Association.

Syaiful Amin. Kubu Hangabehi Gelar Upacara Minta Restu Ratu Kidul. Tempo 09 Februari 2005

Yayasan Bhakti Wawasan Nusantara. 1992. Profil Propinsi Republik Indonesia: Daerah Istimewa Yogyakarta. Jakarta.

Tiada ulasan: