Ahad, 26 Ogos 2007

ชนชาวมลายูในทวีปอัฟริกา ( Malay People in Africa )


โดย นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
ชนชาวมลายูเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวมลายูไม่เพียงเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังถือว่าเป็นชนกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งของโลกอีกด้วย ประมาณการว่ามีชาวมลายูทั่วโลกราว 340 กว่าล้านคน[1] นอกจากประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ชาวมลายูอาศัยอยู่มาตั้งแต่อดีตแล้ว ชาวมลายูยังได้อพยพกระจัดกระจายไปทั่วโลก เช่นในทวีปอเมริกาเหนือ มีชุมชนชาวมลายูตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศสหรัฐ, อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์

ในทวีปอเมริกาใต้ มีชุมชนชาวมลายูตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศสุรีนาม ในตะวันออกกลาง มีชุมชนชาวมลายูตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศซาอุดีอาราเบีย ในชมพูทวีป มีชาวมลายูตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศศรีลังกา และในทวีปอัฟริกา ซึ่งเราไม่คาดคิดว่าจะมีชุมชนชาวมลายูตั้งถิ่นฐานอยู่ ปรากฎว่ามีชาวมลายูตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศมาดากัสการ์ และประเทศอัฟริกาใต้ ซึ่งในที่นี้เรามาทำความรู้จักถึงความเป็นมาของชาวมลายูในสองประเทศดังกล่าว

ผู้อพยพชาวมลายูในประเทศมาดากัสการ์ มีความแตกต่างจากชาวมลายูกลุ่มอื่นที่อพยพออกจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยชาวมลายูในประเทศมาดากัสการ์กลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ และชนชั้นปกครองของประเทศมาดากัสการ์ ในประเทศมาดากัสการ์มีชนเผ่าที่มีเชื้อสายมลายูอยู่นับสิบเผ่า เช่น เผ่าเมรีนา (Merina) มีประชากรประมาณ 2,880,000 คน, ชนเผ่าเบ็ตซิลีโอ (Betsileo) มีประชากรประมาณ 2,130,000 คน ส่วนอีกกลุ่มเป็นชนเผ่าลูกผสมระหว่างชาวอัฟริกา, ชาวมลายู และชาวอาหรับ ชนเผ่าลูกผสมมีหลายเผ่า เช่น ชนเผ่าเบ็ตซิมีซารากา (Betsimisaraka) มีประชากรประมาณ 1,600,000 คน, ชนเผ่าซิมิเฮตี (Tsimihety) มีประชากรประมาณ 1,300,000 คน, ชนเผ่าอันไตซากา (Antaisaka) มีประชากรประมาณ 1,080,000 คน และชนเผ่าซากาลาวา (Sakalava) มีประชากรประมาณ 800,000 คน ชนเผ่าต่างๆส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาคริสต์ และใช้ภาษามาลากาซี (Malagasi) เป็นภาษาพูดในชีวิตประจำวัน

และในบรรดาชนเผ่าต่างๆที่สืบเชื้อสายมาจากชาวมลายูที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ปรากฎว่าชนเผ่าเมรินา หรือที่เขาเรียกตัวเองว่า เมอร์ (Mer) เป็นชนเผ่าที่ค่อนข้างมีร่องรอยของความเป็นมลายู(Malayness)มากกว่าชนเผ่าอื่นๆ ด้วยชนเผ่าเมรีนามีรากเหง้ามาจากชนเผ่ามายัน(Maanyan)ในกาลีมันตันของอินโดเนเซีย

กล่าวกันว่าชนเผ่าเมรีนาอพยพไปจากกาลีมันตันตะวันออกเฉียงใต้เมื่อนับพันปีมาแล้ว โดยพวกเขาเดินทางด้วยเรือขนาดใหญ่ไปยังเกาะมาดากัสการ์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเกาะสุมาตราประมาณ 6,000 กิโลเมตร และเมื่อไม่นานมานี้มีชาวตะวันตกได้ทำการเดินทางย้อนรอยอดีต โดยพวกเขาได้สร้างเรือโบราณตามที่ปรากฏสลักไว้ที่เจดีย์โบโรบูดูร์(Borobudur)ในเกาะชวา เรือดังกล่าวสร้างขึ้นที่ประเทศอินโดเนเซีย ปรากฏพวกเขาใช้เวลาประมาณ หนึ่งเดือนครึ่งกว่าจะเดินทางถึงเกาะมาดากัสการ์

สำหรับกษัตริย์ของชนเผ่าเมรีนาที่มีอิทธิพลและบทบาทสูงในประวัติศาสตร์มาดากัสการ์มีสองพระองค์คือ กษัตริย์เมรีนาที่ชื่อกษัตริย์อันเดรียนามโปอินอีเมอรีนา (King Andrianampoinimerina) ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 1797-1810 โดยในปี ค.ศ. 1806 พระองค์สามารถรวมอาณาจักรชาวเมรินา 3 อาณาจักรเข้าเป็นหนึ่งเดียว โดยมีศูนย์อำนาจตั้งอยู่ในเมืองอันตานานารีโบ (Antananaribo)

ซึ่งชาวเมรินาเรียกเมืองนี้สั้นๆว่าเมืองตานา (Tana) ปัจจุบันเมืองนี้เป็นเมืองหลวงของประเทศมาดากัสการ์ และกษัตริย์อีกองค์หนึ่งคือกษัตริย์ราดามาที่หนึ่ง (King Radama I) ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 1816-28 พระองค์สามารถขยายอำนาจของชนเผ่าเมรีนา โดยมีอำนาจเหนือดินแดนของชนเผ่าเบ็ตซิลีโอและชนเผ่าซากาลาวา จนเรียกได้ว่าครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะมาดากัสการ์

แม้ชนเผ่าเมรีนาจะอพยพออกจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานับพันปี แต่นักมานุษยวิทยาได้ทำการวิจัยถึงความสัมพันธ์ของชนเผ่าเมรินากับชาวมลายูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใน 3 รูปแบบ คือ ด้านภาษาศาสตร์ (Linguistics), วัฒนธรรม (Culture) และเชื้อชาติ(Racial) นักมนุษยวิทยาที่ชื่อ O. C. Dahl ได้ทำการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างชนเผ่าเมรินากับชนเผ่ามายันในกาลีมันตันในหัวเรื่อง “มาลากาซีกับมายัน: เปรียบเทียบความสัมพันธ์ทางภาษาศาสตร์”[2] ซึ่งตัวอย่างความสัมพันธ์ทางด้านภาษาศาสตร์มีดังนี้:

ภาษาไทย   ภาษามลายู    ภาษามายัน    ภาษาเมรินา
หนึ่ง            satu              Isa              isa/iray
สอง            dua               Rueh           roa
สาม            tiga               Telu             telo
สี่               empat            Epat            efatra
ห้า              lima              Dime            limy/dimy
หก              enam            Enem           enina
เจ็ด             tujuh             Pitu              filo
แปด            lapan            Balu              valo
เก้า             Sembilan       su’ey             Sivy
สิบ              sepuluh        Sapuluh         Folo
ยี่สิบ            Dua puluh     Ruampulu      Roapolo
ดวงจันทร์      Bulan           wulan            volana
หิน              batu             watu              vato
นก              burung          wurung           vorona

แม้ว่าชนเผ่าเมรีนาถูกตัดขาดจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลาหลายร้อยปี ดร. มูฮัมหมัด ตาอิบ ราไนโวซอน (Dr. Mohd. Taib Ranaivoson) เพื่อนชาวเมรีนาบอกแก่ผู้เขียนว่าพวกเขายังสำนึกว่าชนเผ่าเมรีนาไม่ใช่ชาวอัฟริกา พวกเขามีรากเหง้ามาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดังนั้นจึงมีนักวิชาการและปัญญาชนชาวเมรินากลุ่มหนึ่งได้จัดตั้ง“สมาคมชาวมลายูแห่งมาดากัสการ์” หรือ Fikambanana Malay Madagasikara เพื่อนำชนเผ่าเมรินากลับสู่โลกมลายูอีกครั้ง[3] นับเป็นความน่าภาคภูมิใจของชาวเมรินาที่มีบรรพบุรุษที่กล้าหาญข้ามมหาสมุทรนับพันๆกิโลเมตรและพวกเขายังคงรักษาอัตลักษณ์ของของชนชาวมลายูไว้[4]

สำหรับชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้นั้น มีประวัติความเป็นมาที่แตกต่างจากชาวเมรินาในประเทศมาดากัสการ์ ด้วยชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้อพยพไปยังทวีปอัฟริกาเมื่อกว่าสามร้อยปีที่ผ่านมา และชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้นับถือศาสนาอิสลาม มีชาวมุสลิมในประเทศอัฟริกาใต้ประมาณ เจ็ดแสนกว่าคน ประกอบด้วยชาวมุสลิมเชื้อสายอินโด-เมารีเตียน (Indo-Mauritian) ประมาณ 4 หมื่นคน พูดภาษามอรีเซ็น( Morisyen), ชาวมุสลิมเชื้อสายซันซีบาร์(Zanzibar) ประมาณ 1 พันคน พูดภาษาสวาฮิลี (Swahili), ชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดีย-ปากีสถาน ประมาณ 170,000 คน พูดภาษาอูร์ดู(Urdu), ชาวมุสลิมกลุ่มผิวสี (Coloured Creole) ประมาณ 275,000 คน พูดภาษาออร์ลามส์(Oorlams) และชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู มีประมาณ 250,000 คน พูดภาษาอัฟริกันส์ (Afrikaans) ซึ่งภาษาอัฟริกันส์เป็นภาษาที่เริ่มใช้ในศตวรรษที่ 17 โดยมีภาษาดัชต์เป็นหลักและผสมด้วยคำศัพท์ในภาษาอังกฤษ, มลายู, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, โปร์ตุเกส และบางภาษาของอัฟริกา

สำหรับชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้นั้นรู้จักกันในนามว่าชาวมลายูแหลม หรือ Melayu Tanjung (The Cape Malay) ด้วยชาวมลายูกลุ่มนี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่แหลมกู๊ดโฮบ(The Cape of Good Hope) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเคปทาวน์ (Cape Town) ส่วนใหญ่ชุมชนชาวมลายูตั้งถิ่นฐานในเขตที่เรียกว่า Malay Square หรือ Bo-Kaaap ของเมืองเคปทาวน์ พ่อค้าชาวฮอลันดาที่ชื่อ Jan Van Riebeek เป็นบุคคลแรกที่มาตั้งสถานีการค้าที่แหลมกู๊ดโฮป เมื่อปี ค.ศ. 1652 โดยเป็นที่แวะของเรือสินค้าของบริษัท VOC ของฮอลันดา ที่จะไปยังเกาะชวาและหมู่เกาะมาลุกู เพื่อหาเครื่องเทศแล้วนำกลับไปยังฮอลันดา ซึ่งสถานีการค้าดังกล่าวยังคงทิ้งร่องรอยมาให้เห็นจนถึงปัจจุบัน[5]

ชาวมลายูเดินทางไปยังประเทศอัฟริกาใต้ระหว่างศตวรรษที่ 17 และ 18 ชาวมลายูเหล่านั้นมาจากเกาะชวาและหมู่เกาะอินโดเนเซีย โดยเฉพาะมาจากเกาะสุลาเวซี ชาวมลายูกลุ่มแรกเดินทางมาถึงประเทศอัฟริกาใต้ในปี ค.ศ. 1667 และต่อมามีกลุ่มอื่นๆติดตามมา ผู้นำชาวมลายูที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ เชค ยูซุฟ อัล-มากาซารี ( Sheikh Yusuf Al-Makassari ) เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลที่นำศาสนาอิสลามไปสู่ประเทศอัฟริกาใต้ เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1626 ในเมืองโฆอา (Goa) ตั้งอยู่ในเกาะสุลาเวซี เขาเกิดในตระกูลเจ้าเมือง เป็นหลานอาของกษัตริย์บิสซุ (Raja Bissu ) แห่งเมืองโฆอา

ต่อมาเขาได้ทำการต่อต้านการยึดครองของฮอลันดาต่อหมู่เกาะอิสต์อินดีสหรืออินโดเนเซียปัจจุบัน การต่อสู้ของเขาประสบกับความล้มเหลว จนทางฮอลันดาสามารถจับกุมตัวเขาได้ในปี ค.ศ. 1683 ต่อมาเขาถูกส่งไปกุมขังที่เกาะศรีลังกา แต่ฮอลันดายังไม่ไว้วางใจ จึงถูกส่งไปยังแหลมกู๊ดโฮปในปี ค.ศ. 1694 โดยเขาไปกับเรือสินค้าที่ชื่อ de Voetboeg เมื่อเดินทางมาถึงประเทศอัฟริกาใต้แล้วเขาและคณะผู้ติดตามถูกส่งไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณฟาร์มที่ชื่อว่า Zandvliet ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองเคปทาวน์ ต่อมาภายใต้การนำของเชค ยูซุฟ อัล-มากาซารี

ฟาร์มแห่งนี้จึงกลายเป็นศูนย์รวมของบรรดาข้าทาสและผู้อพยพที่มาจากตะวันออก กลายเป็นแหล่งเผยแพร่ศาสนาอิสลามในประเทศอัฟริกาใต้ เชค ยูซุฟ อัล-มากาซารี เสียชีวิตเมื่อ 23 พฤษภาคม 1699 และศพถูกฝังไว้ที่ฟาร์มดังกล่าว ต่อมาศพของเขาถูกย้ายกลับไปฝังที่เกาะสุลาเวซี ปัจจุบันบริเวณฟาร์มแห่งนี้คนทั่วไปรู้จักกันในนาม “มากัสซาร์”

บรรดาลูกหลานของผู้ติดตามเชค ยูซุฟ อัล-มากาซารี และผู้อพยพรุ่นต่อๆมา ก็ได้ขยายตัวจนสามารถสร้างชุมชนของตนเอง พวกเขาแม้ว่าจะอยู่ห่างไกลจากดินแดนที่เป็นแหล่งกำเนิดของบรรพบุรุษ แต่จิตสำนึกว่าพวกเขาเป็นกลุ่มชนเชื้อสายมลายูยังคงมีอยู่ มีความต้องการที่จะสร้างสายสัมพันธ์กับพี่น้องร่วมเผ่าพันธุ์มลายูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ

ในปี ค.ศ. 1923 ชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้ได้จัดตั้งสมาคมชาวมลายูแหลม หรือ The Cape Malay Association และหลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1939 ได้มีชาวมลายูชื่อว่า Dr. I. D. du Plessis ได้จัดตั้งคณะนักร้องประสานเสียงมีชื่อว่า The Cape Malay Choir Board เพื่อสืบทอดวิสัยทัศน์ของเขาในการสร้างสัมพันธ์กับชนชาวมลายู และเขายังได้เสนอจัดตั้งสถาบันที่ชื่อว่า Institute for Malay Studies ในมหาวิทยาลัยแห่งเคปทาวน์ ( University of Cape Town) รวมทั้งเสนอให้ตั้งพิพิธภัณฑ์มลายูในประเทศอัฟริกาใต้

สำหรับพิพิธภัณฑ์มลายูนั้นปรากฏว่าทางรัฐบาลประเทศอัฟริกาใต้ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมขึ้นชื่อว่า Bo- Kaap Museumในปี ค.ศ. 1979 บุคคลอีกผู้หนึ่งที่มีความสำคัญในการสานสายสัมพันธ์กับชาวมลายูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ นายอิสมาแอล ปีเตอร์เซ็น (Ismail Petersen) ผู้ก่อตั้งสมาคมที่ชื่อว่า Malay-Indonesian Seamen Club

ในปี ค.ศ. 1993 ทางมหาวิทยาลัยแห่งเวสเทิร์นเคป (University of the Western Cape) ได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับชุมชนชาวมลายูแหลมขึ้น โดยเชิญนักวิชาการทั้งจากประเทศอินโดเนเซียและมาเลเซียเข้าร่วม และภายหลังจากการจัดสัมมนาดังกล่าวปรากฏว่ามีการตื่นตัวในหมู่ชนชาวมลายูของประเทศอัฟริกาใต้ ในการสร้างความสัมพันธ์กับชนชาวมลายูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เกิดสมาคมชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้หลายสมาคม เช่น สมาคมวัฒนธรรมมลายูแห่งประเทศอัฟริกาใต้ ( The South African Malay Cultural Society), ฟอรั่มเพื่อวัฒนธรรมมลายูในประเทศอัฟริกาใต้ (Forum for Malay Culture in South Africa) และ หอการค้ามลายูแหลม ( The Cape Malay Chamber of Commerce) ชาวมลายูในประเทศอัฟริกาใต้มีบทบาทในทางการเมืองเช่นกัน ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศอัฟริกาใต้

ปรากฎว่ามีชาวมลายูหลายท่านได้รับตั้งเข้าสู่รัฐสภาของประเทศอัฟริกาใต้[6] และนอกจากนั้นในจังหวัดเวสเทิร์นเคป ( West Cape Province ) ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีชาวมุสลิมเชื้อสายอื่นและชาวมลายูอาศัยอยู่หนาแน่น ปรากฎว่าผู้ว่าราชการจังหวัดหรือที่เขาใช้ชื่อว่า Premier เป็นชาวมลายูชื่อว่านายอิบราฮิม ราซูล (Mr. Ebrahim Rasool) สังกัดพรรค The African National Congress นอกจากนั้นเขายังเป็นคณะกรรมการบริหารของพรรค The African National Congress กล่าวกันว่าเขาเป็นชาวมลายูเชื้อสายบูกิสจากเกาะสุลาเวซี [7]

จากความเป็นมาของชาวมลายูในทวีปอัฟริกาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นชาวมลายูในประเทศมาดากัสการ์และประเทศอัฟริกาใต้ เราจะเห็นได้ว่าชนชาวมลายูนั้นไม่เพียงมีการตั้งถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังอพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ทั้งในทวีปอเมริกาใต้ เช่น ชุมชนชาวมลายูในประเทศสุรีนาม รวมทั้งชุมชนชาวมลายูในประเทศมาดากัสการ์ และประเทศอัฟริกาใต้ ตั้งอยู่ในทวีปอัฟริกา

ซึ่งเป็นทวีปที่บางคนไม่เคยคาดคิดว่าจะมีชนชาวมลายูไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศทั้งสองอีกด้วย ความจริงแล้วการศึกษาถึงความเกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์มลายู หรือที่เรียกว่า “มลายูศึกษา”นั้นกว้างกว่าที่เราคิด ถ้าเราได้รับการสนับสนุนที่ดี เราจะสามารถนำความรู้เกี่ยวกับ “มลายูศึกษา”มาเป็นสะพานให้ประเทศไทยในการสร้างสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับชนชาวมลายูที่มีอยู่ทั่วโลก.

[1] สามารถดูรายละเอียดของชนเผ่าต่างๆในกลุ่มชนชาวมลายู( Malay People) ได้จาก www.joshuaproject.net

[2] Dahl, O.C. Malgache el Maanjan. Une Comparaison linguistique. Oslo, 1951 และ Migran from Kalimantan to Madagascar. Norwegian University Press. 1991

[3] Andriantefinanahary และ Yanariak . Madagascar and the Future of the Nusantarian World. first international meeting of Melayu  scholars in Madagascar. October ober, 1997

[4] Tasrif, S. Merina : Pasang surut keradjaan Merina, Sedjarah sebuah negara jang didirikan oleh perantau-2 Indonesia di Madagaskar.  Jakarta: Balai Buku Media. 1966

[5] Muhammed Haron. The Case of South Africa’s Cape Malay. The Malay world Conference. Kuala Lumpur 12-14 October 2001.

[6] Easter Festival di Cape Town. Kompas. 9 April 2005

[7] ดูประวัติของเขาได้ที่ www.anc.org.za

Tiada ulasan: